HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ผู้วิจัย

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, พ.บ., ว.ว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
สมจิตร ไกรศรี, ค.ม.

 

บทคัดย่อ

ศิลปกรรมบำบัด เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วย

สถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาโปแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดเป็นศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด และในปี พ.ศ. 2552 พัฒนาค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว

พบว่าโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล ช่วยให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้เสริมสร้างศักยภาพทางสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม และสังคม รวมถึงช่วยให้ ผู้ดูแล ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ และ เชื่อมโยงการดูแลในรูปแบบเครือข่าย

บทความเรื่องนี้ได้นำเสนอการพัฒนาโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล และผลงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน 23 ปีที่ผ่านมา

คำสำคัญ: ศิลปกรรมบำบัด, สถาบันราชานุกูล, โปแกรม, ศูนย์สาธิต, ค่ายครอบครัว, ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา

 

บทนำ

ศิลปกรรมบำบัด (art therapy) เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วย

ศิลปกรรมบำบัด มีคำนิยามที่หลากหลายตามแนวคิดต่างๆ โดยทั่วไปมีรากฐานมาจากแนวคิดดั้งเดิม 2 แนวคิดหลัก คือ แนวคิด “art as therapy” ของ Edith Kramer ที่ศิลปะเป็นการบำบัดในตัวมันเอง และแนวคิด “art therapy” ของ แพทย์หญิง Margaret Naumburg ที่ศิลปะเป็นเครื่องมือในการทำจิตบำบัด ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 แนวคิดนี้ก็ได้ถูกนำมาผสมผสานกันอย่างลงตัวพอสมควร

ในแต่ละประเทศจะมีคำนิยามของ “ศิลปกรรมบำบัด” แตกต่างกันไปตามที่สมาคมนักศิลปะบำบัดกำหนด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับของการใช้ศิลปะเพื่อการเยียวยา (therapeutic art) จนถึงการเป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด (psychotherapy) บางประเทศกำหนดว่านักศิลปะบำบัด (art therapist) จะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรเฉพาะที่จัดขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ในขณะที่บางประเทศถือเป็นการบำบัดเชิงสร้างสรรค์ ที่นักบำบัดทั่วไปสามารถฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ เพื่อเสริมทักษะ พัฒนาความเชี่ยวชาญ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์

The British association of art therapists ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด โดยใช้เครื่องมือทางศิลปะเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร เพื่อก่อให้เกิดการแสดงตัวตนออกมา และสะท้อนกลับไป โดยนักศิลปะบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมมา ผู้เข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือทักษะทางด้านศิลปะมาก่อน นักศิลปะบำบัดเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความประณีตและงดงามทางศิลปะ แต่เป้าหมายคือการช่วยเสริมให้ผู้เข้ารับการบำบัดเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโต โดยใช้เครื่องมือทางศิลปะที่หลากหลายภายในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย

The American art therapy association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นการทำงานศิลปะเพื่อการบำบัดรักษา โดยอาศัยสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดรักษา ระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เจ็บป่วยทางกาย ผู้ได้รับบาดแผลทางใจ ผู้มีความยากลำบากในการใช้ชีวิต หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง

The Canadian art therapy association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์และการทำจิตบำบัด เอื้อต่อการสำรวจและเข้าใจตนเอง เปิดโอกาสให้มีแสดงออกทางอารมณ์ และเกิดการเยียวยาผ่านทางสื่ออวัจนะภาษาต่างๆ เช่น ภาพ สี รูปทรง ซึ่งเหมาะสมกับเด็กที่ยังไม่สามารถสื่อภาษาได้ดี หรือผู้ใหญ่ที่มักใช้เหตุผลบิดเบือนอารมณ์ที่เก็บซ่อนไว้ ศิลปกรรมบำบัดช่วยให้ผู้รับการบำบัดสามารถทลายกำแพงที่ขวางกั้นการแสดงออกทางอารมณ์ ผ่านทางเครื่องมือศิลปะแบบง่ายๆ

The Australian Creative Arts Therapies Association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ทางศิลปะ เพื่อเอื้อให้เกิดการแสดงตัวตน การสื่อสาร การตระหนักรู้ในตนเอง และการพัฒนาตนเอง โดยนักศิลปะบำบัดจะทำงานในสายสุขภาพจิต หรือสายสุขภาพที่เกี่ยวข้อง กระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าวรวมถึง ทัศนศิลป์ การปั้น การเต้น ละคร ดนตรี และบทกวี โดยผู้บำบัดมีอิสระในการเลือกใช้ทฤษฎีที่แตกต่างกันตามที่ตนเองถนัดและคุ้นเคย

ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งสมาคมนักศิลปกรรมบำบัดในระดับชาติ แต่เริ่มการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งชมรมศิลปกรรมบำบัดไทย ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนร่วมกัน แต่จะมีแนวคิดที่หลากหลาย ผสมผสาน และการประยุกต์ใช้แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการบำบัด

ในปัจจุบัน ศิลปกรรมบำบัดเริ่มมีการขยายตัวเป็นทางเลือกใหม่ในการบำบัดรักษา และได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมไทย มีนักวิชาการ นักบำบัด ที่ไปฝึกอบรมหลักสูตรศิลปกรรมบำบัดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น มีการนำมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น และเตรียมพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปกรรมบำบัดในระดับอุดมศึกษา

สถาบันราชานุกูล มีการนำแนวคิดทางศิลปกรรมบำบัดมาประยุกต์ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วยเช่นกัน พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน โดยอาจารย์สมจิตร ไกรศรี และทีมงาน พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเสริมสร้าง พัฒนาการ และช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรม ดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น

มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จะมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสามารถพัฒนาได้ และช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย โดยศึกษาการใช้โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบเข้มข้น ในเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 8 คน เป็นเวลา 2 ภาคเรียน พบว่าระดับพัฒนาการด้านการขีดเขียด (graphic developmental level) เพิ่มขึ้นจาก 5 เดือน เป็น 33 เดือน

ศิลปะเป็นเสมือนภาษาที่สอง ของกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร และการเรียนรู้ เด็กสามารถเรียนรู้ความคิดรวบยอด ผ่านทางศิลปะได้เร็วกว่าวิธีการสื่อสารหลัก และสามารถใช้งานศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เขารู้และสิ่งที่เขาคิด ดังนั้นศิลปะจึงนำไปสู่เป้าหมายในการบำบัดได้ดี

จุดแข็งที่สำคัญคือ ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เข้าใจง่ายในทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีภาษา พูดไม่ได้ ก็สามารถเรียนรู้ได้ผ่านงานศิลปะ สามารถนำศิลปะมาช่วยในเรื่องการเสริมสร้างสมาธิ การจัดการอารมณ์ เสริมสร้างทักษะทางสังคม เพิ่มความสามารถในการสื่อสาร เรียนรู้การทำงานเป็นขั้นตอน เสริมสร้างความสามารถทางด้านมิติสัมพันธ์ การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยลดความคับข้องใจ ระบายอารมณ์ออกมาในหนทางที่สร้างสรรค์ รวมถึงการลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรงได้อีกด้วย

ในการทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ผู้รับการบำบัดควรได้รับการกระตุ้น ส่งเสริม และแนะนำ ในระหว่างทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดไม่ได้เน้นที่ผลงานทางศิลปะที่เกิดขึ้น แต่เน้นที่กระบวนการทางศิลปะเป็นสำคัญ ความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมายรองลงมา ส่วนผลงานเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น

 

โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

ในปี พ.ศ. 2549 ผู้เขียน นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และอาจารย์สมจิตร ไกรศรี ได้ร่วมพัฒนา “โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล” สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา (developmental and intellectual disabilities) ช่วงอายุ 15-25 ปี โดยรวบรวมประสบการณ์การดำเนินงานด้านศิลปกรรมบำบัด จัดทำเป็นหนังสือคู่มือกิจกรรม และแผ่นซีดี

โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด จัดเป็นการบำบัดแบบกลุ่ม รูปแบบโรงพยาบาลกลางวัน สัปดาห์ละ 4 ครั้งๆ ละ 6 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วย ฐานกิจกรรมศิลปะ 6 ฐาน คือ วาดรูป ระบายสี ปั้น ประดิษฐ์ ถักทอ และบาติก เสริมด้วยกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมเสริมประสบการณ์พิเศษ ในรูปแบบบูรณาการ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลง ลดพฤติกรรมก้าวร้าว เสริมสร้างสมาธิ และพัฒนาทักษะสังคม

วัตถุประสงค์ของโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด คือ

1) ทางสติปัญญาและการเรียนรู้
1.1 ให้รู้จักวิธีค้นคว้าและพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาง่ายๆ ตามศักยภาพแต่ละบุคคล
1.2 ให้ได้รับการผ่านการฝึกฝนจนมีทักษะในการรับรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า
1.3 ให้มีความสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นได้
1.4 ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

2) ทางอารมณ์
2.1 ให้มีเชื่อมั่นในตนเอง
2.2 ให้มีความไว้วางใจต่อผู้อื่น
2.3 ให้สามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสม

3) ทางสังคม
3.1 ให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และข้อตกลง
3.2 ให้เรียนรู้การมีส่วนร่วม การให้ความร่วมมือ และเคารพสิทธิของผู้อื่น
3.3 ให้เรียนรู้การเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่มทั้งในบทบาทการเป็นผู้นำและผู้ตาม
3.4 ให้เรียนรู้ความเป็นเจ้าของ การแบ่งบัน การรอคอย และการแลกเปลี่ยน

4) ทางร่างกาย
4.1 ให้สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดเล็กส่วนต่างๆ
4.2 ให้รู้จักระมัดระวังและสนใจเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของตนเอง

5) ทางด้านสุนทรียศาสตร์
5.1 ให้มีการรับรู้ และเข้าใจถึงความงามทางศิลปะ
5.2 ให้รับรู้ถึงความงามทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.3 ให้สามารถแสดงออก ทางกิจกรรมการเคลื่อนไหว ศิลปะ และการแสดง
5.4 ให้มีความสุข สามารถถ่ายทอดผลงานให้ผู้อื่นเข้าใจ

กิจกรรมกลุ่ม หมายถึง การสนทนาพูดคุย การอภิปรายชักถาม การสาธิต การเล่นบทบาทสมมุติ นอกจากนี้กิจกรรมกลุ่มยังรวมไปถึงกิจกรรมที่ครูผู้ฝึก กับผู้บกพร่องทางสติปัญญาได้ทำงานไปพร้อมๆ กันอีก เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหว เกมต่างๆ

ฐานกิจกรรมศิลปะ 6 ฐาน ประกอบด้วย
ฐานที่ 1 วาดภาพ
ฐานที่ 2 ระบายสี
ฐานที่ 3 ปั้น
ฐานที่ 4 บาติก
ฐานที่ 5 ทอพรม
ฐานที่ 6 ประดิษฐ์

กิจกรรมเสริมประสบการณ์พิเศษ ประกอบด้วย การฝึกเรียนรู้สิ่งแวดล้อม การฝึกเรียนรู้เรื่องชุมชน การฝึกการฟังคำสั่ง และเล่นตามกติกาในกลุ่ม การฝึกการมีส่วนร่วม การช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น

โปรแกรมนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมสุขภาพจิต และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตกรุงเทพฯ และได้เป็นตัวแทนนำเสนอในงาน นวัตกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549

ในปี พ.ศ. 2551 เริ่มพัฒนาโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มสำหรับเด็กอายุ 4-15 ปี โดยเน้นกลุ่มบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ประยุกต์โปรแกรมที่มีอยู่ โดยเลือกเครื่องมือทางศิลปะที่มีความหลากหลายมากขึ้น นำความรู้เรื่องพัฒนาการทางศิลปะ (artistic development) มาใช้ในการประเมิน และพัฒนาโปรแกรมให้เหมาะสมตามช่วงอายุของเด็ก

 

ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551 สถาบันราชานุกูลได้จัดพิธีเปิด “ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล” (art therapy demonstration center, Rajanukul institute) เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด โดยได้รับพระราชทานเงินกองทุนสมเด็จย่าเป็นทุนเริ่มต้น เงินบริจาคจากผู้มีกุศลจิตผ่านทางมูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล ในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากทางสถาบันราชานุกูล

ในพิธีเปิดศูนย์สาธิตฯ ได้จัดสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัด” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศิลปกรรมบำบัด และรู้ถึงทิศทางศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย และในต่างประเทศ ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจนในสาระและประเด็นที่ควรสนใจ และนำไปประยุกต์ใช้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวม 120 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสหสาขา และศิลปินจำนวนหนึ่ง

มีการพัฒนาเทคนิคการทำศิลปกรรมบำบัดแบบเดี่ยวควบคู่กันไปด้วย และพัฒนาการใช้เครื่องมือทางศิลปะในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น โดยการเพิ่มพูนความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดสัมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ จากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด จากทั้งในและต่างประเทศ ผู้เข้าร่วมสัมนาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสหสาขา ได้แก่ แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด ครู นักวิชาการ ฯลฯ รวมถึงศิลปินจำนวนหนึ่ง

 

ค่ายศิลปกรรมบำบัด สำหรับครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียน นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และอาจารย์สมจิตร ไกรศรี ได้ร่วมพัฒนา “ค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำกิจกรรมศิลปกรรมบำบัด ร่วม กัน เสริมสร้างศักยภาพครอบครัวในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยใช้ กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด รวมถึงการพัฒนาเป็นต้นแบบ โปรแกรม สำหรับการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ให้กับเครือข่าย

กิจกรรม ในค่ายศิลปกรรมบำบัด สำหรับครอบครัว แบ่งออกเป็น 6 แผน กิจกรรม ซึ่งออกแบบ ตรงตามหัวข้อเนื้อหาและเป้าหมายของวัตถุประสงค์ได้อย่างชัดเจน โดยที่เนื้อหามีความสอดคล้องกับทฤษฎีและแนวทางการบำบัดผู้บกพร่องพัฒนาการและสติปัญญา สามารถสร้างศักยภาพให้กับผู้รับการบำบัด ซึ่งเป็นชุดกิจกรรมบำบัดที่มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมดี

ได้จัดทำคู่มือกระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยแผนกิจกรรมประกอบด้วย
แผนที่ 1 การเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
แผนที่ 2 การเรียนรู้กระบวนการผ่านสื่อ อุปกรณ์ทางศิลปะ
แผนที่ 3 การเรียนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติงานทางศิลปะ
แผนที่ 4 การแสดงความสามารถตามศักยภาพของแต่ละคนอย่างอิสระ
แผนที่ 5 การประสานสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว
แผนที่ 6 การประเมินผล

จากผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ในโครงการ เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด ในรูปแบบค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว พบว่าก่อให้เกิดผลต่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

ผลต่อผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา พบว่า มีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และได้รับการพัฒนาทางด้านอารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา พฤติกรรม รวมถึง ได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และได้ร่วมเรียนรู้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดระหว่างเด็กและผู้ดูแล

ผลต่อผู้ดูแล พบว่าได้มีการแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ในกลุ่มเกี่ยวกับวิธีการดูแล แนวทางปฏิบัติต่อเด็ก เชื่อมโยงการดูแลเด็กในรูปแบบเครือข่าย ระหว่าง ผู้บำบัด ผู้ดูแล และ ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ทั้งด้านความรู้กระบวนการฝึกปฏิบัติในการดูแล โดยใช้กระบวนการทางด้านศิลปกรรมบำบัด เพื่อนำไปปรับใช้ต่อ ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา

ผลต่อผู้ดำเนินโครงการ พบว่า ได้นำรูปแบบกระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดที่ให้บริการเฉพาะผู้บกพร่องทาง พัฒนาการและสติปัญญา มาขยายผลให้ ผู้ดูแลได้รับแนวความรู้เบื้องต้นทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และสามารถ พัฒนารูปแบบการใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดให้เป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับให้บริการ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา

 

บทสรุป

ศิลปกรรมบำบัด เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เริ่มมีการขยายตัวและได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมไทย

ศิลปกรรมบำบัด มีคำนิยามที่หลากหลายตามแนวคิดต่างๆ โดยทั่วไปมีรากฐานมาจากแนวคิดดั้งเดิม 2 แนวคิดหลัก คือ แนวคิด “art as therapy” ของ Edith Kramer และแนวคิด “art therapy” ของ แพทย์หญิง Margaret Naumburg

สถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาโปแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา อย่างต่อเนื่อง เปิดเป็นศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด และพัฒนาค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว

พบว่า การนำแนวคิดทางศิลปกรรมบำบัดมาประยุกต์ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเสริมสร้าง พัฒนาการและสติปัญญา ช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม และสังคม ดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น และค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว ยังช่วยให้ ผู้ดูแล ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ เชื่อมโยงการดูแลในรูปแบบเครือข่าย

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และ สมจิตร ไกรศรี. (2549). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

พริ้มเพรา ดิษยวณิช. (2544). การวาดภาพเพื่อการประเมินและการรักษา. เชียงใหม่: โรงพิมพ์แสงศิลป์.

ราชบัณฑิตยสถาน, สำนัก. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 1101-1102.

ราชานุกูล, สถาบัน. (2551). ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ.

เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2553). ศิลปกรรมบำบัดสังเขป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.

เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2553). เอกสารสรุปผลการประเมินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาโดยใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด. .

สมจิตร ไกรศรี. (2549). เล่าเรื่องจากประสบการณ์ สู่งานด้านศิลปกรรมบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี. (2551). ศิลปะบำบัด คืนสมดุลสู่ชีวิต. เอกสารประกอบการเสวนา ศูนย์จิตปัญญาศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล.

อัศนี ชูอรุณ, เลิศศิริร์ บวรกิตติ และสมชัย บวรกิตติ. (2548). ศัพท์สับสน: ศิลปะบำบัด หรือ ศิลปกรรมบำบัด. วารสารราชบัณฑิตยสถาน. 30 (3): 875 .

อำไพขนิษฐ สมานวงศ์ไทย, เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2549). ศิลปกรรมบำบัด. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 6: 243-7.

Cattanach A, editor. (1999). Process in the arts therapies. London: Jessica Kingsley.

Edwards D. (2004). Art therapy. London: SAGE publications.

Malchiodi CA. (1999). Medical art therapy with children. London: Jessica Kingsley.

Rosal M. (1995). Art therapy with children. Abbeygate Press: Isle of Palms, SC.

The British Association of Art Therapists. (2010, September 2). What is Art Therapy? [online]. Available URL: http://www.baat.org/art_therapy.html

The Canadian Art Therapy Association . (2010 , September 2). What is Art Therapy? [online]. Available URL: www.catainfo.ca/faq.php

The Australian Creative Arts Therapies Association. (2010, September 2). What do arts therapist do? [online]. Available URL: http://http://http://www.acata.org.au/about_us.htm#what

 

บทความชุดนี้ตีพิมพ์ใน วารสารสถาบันราชานุกูล

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และสมจิตร ไกรศรี. (2553). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. วารสารราชานุกูล. 25 (3): 22.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2553). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt21-arttherapy_rajanukul.htm

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

บทความเพิ่มเติมเรื่องศิลปะบำบัด

ศิลปะบำบัด

 

ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด

 

ศิลปะบำบัดในเด็กพิเศษ

 

ประวัติศิลปะบำบัด

 

โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

nutritional therapy

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »