HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Mental health care for children: Flood

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

เมื่อมีอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ ย่อมกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมากมาย เมื่อน้ำหลากมาแล้วก็ไหลไป มันก็คงไม่มีปัญหาอะไรมากมาย แต่นี่ขังอยู่นานแรมเดือน ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน ผู้คนส่วนใหญ่คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไม่เครียด” แต่จะเครียดมากหรือเครียดน้อย สามารถปรับตัวกันได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันทางใจของแต่ละคน แล้วเด็กๆ จะเครียดกันไหมกับภาวะน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้

เด็กๆ ก็ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ มีความเครียด วิตกกังวล สับสน และตื่นกลัว ได้เช่นเดียวกัน แต่แสดงออกแตกต่างกันไปตามช่วงวัยของเด็กแต่ละคน การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสภาวการณ์ มักไม่กระทบกับสภาวะจิตใจอย่างรุนแรงเหมือนกับภัยพิบัติอื่นๆ

สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความเครียดก็แตกต่างกันไป เด็กบางคนเครียดเพราะว่าพ่อแม่เครียด เด็กบางคนเครียดเพราะว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เด็กบางคนเครียดเพราะว่าต้องอพยพย้ายบ้าน

เด็กบางคนเครียดเพราะว่าถูกส่งไปอยู่กับญาติพี่น้องที่อื่นเพื่อความปลอดภัย เด็กบางคนเครียดเพราะว่าของเล่นหรือของที่หวงแหนต้องจมน้ำไป และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายซึ่งผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยรู้

คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะช่วยนำพาเด็กๆ ให้สามารถเผชิญกับภาวะน้ำท่วมได้อย่างเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี มีหลักการง่ายๆ โดยใช้คำกุญแจ 5 ตัว คือ F-L-O-O-D ซึ่งย่อมาจาก Fact, Love, Observe, Outlet, Do and Don’t ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1) Fact – บอกข้อเท็จจริง

การบอกข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในภาษาที่เด็กเข้าใจง่าย เหมาะสมตามวัย เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก เพื่อให้เด็กรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อะไรอาจจะเกิดขึ้นต่อไป พ่อแม่กำลังเตรียมตัวอย่างไร และเด็กต้องเตรียมตัวอย่างไร สิ่งสำคัญคือ ต้องอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริง และต้องบอกด้วยท่าทีที่สงบ ไม่แสดงความวิตกกังวลหรือตื่นตะหนกให้เด็กเห็น

2) Love – แสดงความรัก ความใส่ใจ

การแสดงความรัก บอกลูกให้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รักและห่วงใย สามารถดูแลปกป้องลูกให้ปลอดภัยได้ พร้อมทั้งแสดงความใส่ใจ ให้เวลาพิเศษที่จะอยู่กับลูกมากขึ้น นั่งเล่นเกมเงียบๆ อ่านหนังสือด้วยกัน หรือเล่านิทานในช่วงก่อนนอน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กสงบ เกิดความรู้สึกปลอดภัย และมีความมั่นคงทางจิตใจมากยิ่งขึ้น

3) Observe – หมั่นสังเกต

ควรหมั่นสังเกตดูการตอบสนองทางอารมณ์ของเด็กที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกได้ดีที่สุด การแสดงออกทางอารมณ์จะแตกต่างกันไปตามช่วงวัยของเด็ก เด็กมักไม่สามารถพูดบอกออกมาได้ตรงๆ แต่จะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป การรับประทานอาหารหรือการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นตัวบ่งชี้ความไม่สบายใจของเด็กได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ ก็ไม่ควรละเลยความรู้สึกของตัวเองด้วยเช่นกัน เมื่อรู้ตัวว่าเครียดก็ต้องหาทางผ่อนคลาย

4) Outlet – เปิดช่องทางระบาย

ควรเปิดช่องทางระบาย โดยสนับสนุนให้เด็กพูดถึงความคิดและความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ระบายความเครียด วิตกกังวล สับสน และตื่นกลัว ที่มีต่อเหตุการณ์ และพ่อแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ บอกให้เด็กรู้ว่าเราเข้าใจและยอมรับที่เด็กคิดหรือรู้สึกเช่นนั้น ประคับประคอง และให้กำลังใจ นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้สบายใจมากขึ้น เช่น ร่วมบริจาคสิ่งของ, วาดรูป, ส่ง sms ให้กำลังใจ, สวดมนต์ขอพร เป็นต้น

5) Do and Don’t – พูดถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยที่จะพูดถึง สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่อเกิดน้ำท่วม ให้เด็กได้รับรู้ พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลที่เหมาะสมกับวัยที่เด็กจะสามารถเข้าใจได้ เน้นที่ความห่วงใยเป็นสำคัญ ข้อกำหนดเหล่านี้อาจแปรเปลี่ยนตามปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย อาจมานั่งสุมหัวคิดร่วมกัน

สิ่งที่ควรทำ ได้แก่ ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติและควรทำด้วยตนเองมากขึ้น คอยเป็นหูเป็นตา ระวังภัยจากสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ที่อาจจะหลุดเข้ามา จะไปไหนให้บอก พบเห็นสิ่งผิดปกติให้บอก เป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรทำ ได้แก่ ไม่ลงไปเล่นน้ำ ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ ไม่เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง เป็นต้น

คำแนะนำเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำพาเด็ก ให้สามารถเผชิญกับภาวะน้ำท่วมได้อย่างเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี

 

บทความแก้ไขล่าสุด: พฤศจิกายน 2560
บทความต้นฉบับ : ปี 2554 เมื่อครั้งมีมหาอุทกภัย

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2560). น้ำท่วม...เด็กก็เครียดได้. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/disaster05-flood.html

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

covid-19

covid-19-misbehave

psychotherapy

flood

global-warming

ข้อมูลเพิ่มเติม »