ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ออทิสติก
Autism Spectrum Disorder
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
บทนำ
“ออทิสติก” (Autism Spectrum Disorder) เป็นโรคที่รู้จักกันมาเกือบ 80 ปีแล้ว มีชื่อเรียกหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเป็นระยะ เช่น ออทิสติก (Autistic Disorder), ออทิสซึม (Autism), ออทิสติก สเป็กตรัม (Autism Spectrum Disorder), พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders; PDDs), พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD, Not Otherwise Specified) และแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) เป็นต้น จนในปัจจุบันตกลงใช้คำว่า “Autism Spectrum Disorder” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุด DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งใช้อย่างเป็นทางการในระดับสากลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 สำหรับในภาษาไทย ควรใช้ชื่อว่า “ออทิสติก” เหมือนกันในทุกกลุ่มย่อย หรือทุกสเป็กตรัมของอาการเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นคำที่ใช้มานานแล้ว ไม่ควรใช้หลายชื่อซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนได้
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต
นักวิชาการพยายามศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโรคออทิสติก แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากการดูแลช่วยเหลือในปัจจุบันสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัย และดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อย ๆ และดูแลอย่างต่อเนื่อง
ประวัติความเป็นมา
คำว่า “Autism” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ว่า “Auto” ซึ่งแปลว่า Self หมายถึง แยกตัวอยู่ตามลำพังในโลกของตัวเอง เปรียบเสมือนมีกำแพงใส หรือกระจกเงา กั้นบุคคลเหล่านี้ออกจากสังคมรอบข้าง
ปี พ.ศ. 2486 มีการรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งแรก โดยนายแพทย์ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ สถาบันจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา รายงานผู้ป่วยเด็กจำนวน 11 คน ที่มีอาการแปลก ๆ เช่น พูดเลียนเสียง พูดช้า สื่อสารไม่เข้าใจ ทำซ้ำ ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่สนใจคนอื่น เล่นไม่เป็น และได้ติดตามเด็กอยู่นาน 5 ปี พบว่าเด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จึงเรียกชื่อเด็กที่มีอาการเช่นนี้ว่า “Early Infantile Autism”
ปี พ.ศ. 2487 นายแพทย์ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ ชาวออสเตรีย บรรยายถึงเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลำบาก หมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรซ้ำ ๆ ประหลาดๆ แต่กลับพูดเก่งมาก และดูเหมือนจะฉลาดมากด้วย เรียกชื่อเด็กที่มีอาการเช่นนี้ว่า “Autistic Psychopathy” แต่วิกฤตสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ไม่มีใครสานต่องานวิจัย จนในปี พ.ศ. 2524 Lorna Wing นำมาอ้างอิงถึง ออทิสติกในความหมายของแอสเพอร์เกอร์ คล้ายคลึงกับของแคนเนอร์มาก นักวิจัยรุ่นหลังจึงสรุปว่า หมอ 2 คนนี้พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ “Autism Spectrum Disorder”
ปี พ.ศ. 2537 ออทิสติก จัดอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า “Pervasive Developmental Disorders” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 4 (DSM-IV, 1994) และปรับปรุง ปี พ.ศ. 2543 (DSM-IV-TR, 2000) ประกอบด้วย 5 กลุ่มย่อย ดังนี้
· ออทิสติก (Autistic Disorder)
· แอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder)
· เร็ทท์ (Rett’s Disorder)
· ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)
· พีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)
ปี พ.ศ. 2556 ออทิสติก จัดอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ที่เรียกชื่อใหม่ว่า “Autism Spectrum Disorder” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DSM-5, 2013) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคใหม่ต่างไปจากเดิมพอสมควร เนื่องจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับออทิสติกมีมากขึ้น ไม่มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย
ปี พ.ศ. 2565 คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 ฉบับปรับปรุงข้อความ (DSM-5-TR, 2022) ได้แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยเน้นย้ำเรื่องเกณฑ์ข้อ A ต้องมีทั้งหมด 3 ข้อ เนื่องจากเดิมเขียนไว้ไม่ชัดเจน ทำให้ตีความผิดว่ามีเพียงบางข้อก็ได้
ส่วนเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานสากล ขององค์การอนามัยโลก ฉบับที่ 10 ปรับปรุง ปี พ.ศ. 2554 (ICD-10, 2011) เรียกว่า “Pervasive Developmental Disorders” รหัสการวินิจฉัย F84 ยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ดังนี้
· Childhood Autism
· Atypical Autism
· Rett's Syndrome
· Other Childhood Disintegrative Disorder
· Overactive Disorder Associated with Mental Retardation and Stereotyped Movements
· Asperger’s Syndrome
· Other Pervasive Developmental Disorders
· Pervasive Developmental Disorders, unspecified
แต่ในเกณฑ์ฉบับที่ 11 (ICD-11) เปลี่ยนมาเรียกชื่อว่า “Autism Spectrum Disorder” เช่นเดียวกัน สำหรับในประเทศไทย ยังอ้างอิงการวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานสากล ขององค์การอนามัยโลก ฉบับที่ 10 อยู่
ลักษณะอาการและการวินิจฉัย
ตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 5 ฉบับปรับปรุงข้อความ หรือ Text Revision (DSM-5-TR, 2022) จัดออทิสติกทุกสเป็กตรัมอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยเดียว ที่เรียกว่า “Autism Spectrum Disorder” มีคุณลักษณะหลัก 2 อย่าง คือ บกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social communication and social interaction) และ มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำๆ (restricted, repetitive patterns of behavior, interest or activities) โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้
A. บกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในหลากหลายบริบท โดยแสดงออกทุกข้อ ดังนี้ (ภาวะปัจจุบันหรือจากประวัติก็ได้)
1) บกพร่องในการตอบสนองทางอารมณ์และสังคม (social-emotional reciprocity)
2) บกพร่องในการใช้ภาษาท่าทาง เพื่อการสื่อสารทางสังคม
3) บกพร่องในการพัฒนา คงไว้ และเข้าใจในสัมพันธภาพ
B. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้
1) โยกไปโยกมา (stereotyped) หรือมีการเคลื่อนไหว พูดจา หรือใช้วัตถุสิ่งของซ้ำ ๆ
2) แบบแผนคำพูดหรือพฤติกรรม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปจากกิจวัตรที่เคยทำ ไม่ยืดหยุ่น
3) ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ มีจำกัด และยึดติดอย่างมาก ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
4) ระบบรับสัมผัสไวเกินหรือเฉื่อยเกิน หรือสนใจตัวกระตุ้นระบบรับสัมผัสอย่างไม่เหมาะสม
C. อาการแสดงออกในช่วงแรกของวัยแห่งการพัฒนา (early developmental period)
(แสดงออกชัดเจนเมื่อความคาดหวังทางสังคมเกินกว่าความสามารถที่มีอย่างจำกัด)
D. อาการส่งผลต่อความบกพร่องในด้านสังคม อาชีพ หรือหน้าที่การทำงานอื่นที่สำคัญ
E. ไม่สามารถอธิบายจากความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) หรือความล่าช้าทางพัฒนาการทุกด้าน (global developmental delay)
ตามเกณฑ์การวินิจฉัยนี้ ให้ระบุอาการที่พบร่วมด้วย เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา ความบกพร่องทางภาษา และระบุความสัมพันธ์กับโรคทางอายุรกรรม พันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาท จิตใจ และพฤติกรรมอื่นๆ
กุญแจสำคัญ ที่เป็นตัวทำนายโรคออทิสติก ในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป มี 4 อาการหลัก ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป
ควรนึกถึงโรคออทิสติก และควรมีการดำเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความช่วยเหลืออย่างทันที อาการดังกล่าว คือ
· เล่นสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น (lack of pretend play)
· ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้ (lack of proto-declarative pointing)
· ไม่สนใจเข้ากลุ่ม หรือเล่นกับเด็กคนอื่น (lack of social interest)
· ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่นได้ (lack of joint attention)
ระบาดวิทยา
ออทิสติก เป็นโรคที่พบมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกอย่างชัดเจน ถึงจะมีความชุกความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และแต่ละการสำรวจค่อนข้างมาก แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือพบมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2542 มีการสรุปทบทวนจาก 23 งานวิจัย ในรอบ 30 ปี พบความชุก 0.52 คน ในเด็ก 1,000 คน โดยมีความชุกเพิ่มขึ้นชัดเจนตามปีที่มีการสำรวจ (Fombonne, 1999)
ในปี พ.ศ. 2565 มีการสรุปทบทวนงานวิจัยจาก 71 งานวิจัย ในหลายภูมิภาค รวม 34 ประเทศ ในรอบ 10 ปี พบความชุก 10 คน ในเด็ก 1,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 (Zeiden et. al., 2022)
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention) ทำการศึกษาระบาดวิทยาของออทิสติกอย่างต่อเนื่อง โดยทำการศึกษาเด็กอายุ 8 ปี ในพื้นที่เฝ้าระวัง 11 แห่ง จากปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีความชุกเพิ่มขึ้นจาก 6.4 คน เป็น 23.0 คน ในเด็ก 1,000 คน
เดิมเชื่อว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลจากเกณฑ์การวินิจฉัยที่กว้างขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น (case definition) และประชาชนทั่วไปมีความตระหนักในโรคออทิสติกและเข้าถึงบริการมากขึ้น (case recognition) แต่งานวิจัยระยะหลังซึ่งทำในในช่วงเวลาที่ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเดียวกัน และติดตามในพื้นที่เดิม ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า มีอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นจริงและเพิ่มขึ้นมากด้วย
พบออทิสติกในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 4-5 เท่า เดิมเชื่อว่าพบมากในกลุ่มคนที่มีฐานะดี แต่ในปัจจุบันพบว่ามีในทุกระดับชั้นของสังคมพอๆ กัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า แต่เดิมนั้นกลุ่มคนที่มีฐานะดี จะเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีกว่า (selection bias)
สาเหตุ
มีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุของโรคออทิสติก แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติที่ชัดเจน ในปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนว่าเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง มากกว่าเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม ในอดีตเคยเชื่อว่าโรคออทิสติก เกิดจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่เย็นชา แต่จากหลักฐานข้อมูลในปัจจุบันยืนยันได้ชัดเจนว่า รูปแบบการเลี้ยงดูไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคออทิสติก
ปัจจัยทางชีววิทยา (biological factor) ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคออทิสติก จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ มีดังนี้
1. ด้านพันธุกรรม (Genetic Factor)
· ศึกษาในฝาแฝด (twin study) พบว่าถูกควบคุมโดยปัจจัยด้านพันธุกรรมสูงมาก
· ศึกษาในครอบครัว (family study) พบว่าในญาติลำดับที่ 1 (first degree relative) ของผู้ที่เป็นโรคออทิสติก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคออทิสติก และกลุ่มโรคคล้ายออทิสติก (autistic like)
· ศึกษาโครโมโซม และวิเคราะห์ความเชื่อมโยง (chromosome study and linkage analysis)
พบว่าเกี่ยวข้องกับ โครโมโซม 15q 11-13, โครโมโซม 7q และโครโมโซม 16p
2. ด้านเภสัชวิทยาระบบประสาท (Neuropharmacological Study)
พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีสื่อประสาท ซีโรโทนิน (serotonin) โดยมีระดับในเกล็ดเลือดสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนได้ ว่าเกิดจากอะไร
3. คลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography - EEG)
พบว่ามีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง มากกว่าประชากรปกติ แต่ไม่พบลักษณะจำเพาะที่อธิบายความผิดปกติของการทำงานของสมองได้
4. ภาพฉายระบบประสาท (Neural Imaging)
พบความผิดปกติหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคลุมเครืออยู่ ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เช่น cerebellar vermis hypoplasia or hyperplasia,
third ventricle ใหญ่, caudate เล็ก, right anterior cingulate gyrus เล็ก
5. พยาธิวิทยาระบบประสาท (Neuropathological Study)
ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่จากหลายการศึกษาพบว่าเกี่ยวข้องกับจำนวน Purkinje cell ที่ลดลง
6. การศึกษาปริมาตรของสมอง (Study of Brain Volume)
พบว่ามีปริมาตรของสมองเพิ่มขึ้น ยกเว้นสมองส่วนหน้า (frontal lobe) และพบว่าเส้นรอบวงของศีรษะ (head circumference) ปกติในตอนแรกเกิด
แล้วเริ่มมากผิดปกติในช่วงวัยเด็กตอนต้นถึงตอนกลาง
ผลกระทบ
พบว่าออทิสติกกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติทั่วไป ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม สามารถเข้าสังคมและประกอบอาชีพได้เหมือนทั่วไป บางคนอาจมีความยากลำบากในทักษะทางสังคม
ผลกระทบที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. ปัญหาการเรียน
เนื่องจากเด็กเลือกเรียนรู้เฉพาะเรื่องที่สนใจ และหมกมุ่นมากเกินไปจนไม่ใส่ใจเรื่องอื่น ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ในเนื้อหาบทเรียนที่หลากหลาย
ความรู้และทักษะที่มีจึงค่อนข้างจำกัด
2. ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
พ่อแม่มักเกิดความเครียดในการดูแลเนื่องจากอาการของเด็ก ถ้าจัดการไม่ถูกวิธีก็อาจไประบายลงกับเด็กและคนในครอบครัวด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม
3. ปัญหาความสัมพันธ์กับครู
ถ้าครูไม่เข้าใจในข้อจำกัดของเด็ก จะทำให้เข้าใจว่าเด็กชอบก่อกวน สร้างความปั่นป่วน เช่น ยกมือถามในห้องตลอดจนครูสอนไม่ได้
หรือยกมือตอบอยู่คนเดียว เด็กอาจถูกมองว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงออกไม่เหมาะสม เช่น เถียงเพื่อเอาชนะครู
4. ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน
เด็กบางคนมักแยกตัว ไม่สนใจเพื่อน ในขณะที่บางคนอยากเล่นกับเพื่อน แต่เล่นไม่เป็น ไม่เข้าใจกติกา
ทำให้ถูกเพื่อนเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งเป็นประจำ เด็กมักไม่ค่อยเข้าใจการพูดล้อเล่น เล่นมุก ทำให้เป็นตัวตลกในกลุ่มเพื่อนได้
การดูแลรักษา
วิธีการดูแลรักษาต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ สามารถช่วยเหลือให้เด็กออทิสติก มีพัฒนาการดีขึ้นได้มาก จนสามารถเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคม และประกอบอาชีพได้ โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด (Independent Living) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การดูแลรักษาออทิสติก จำเป็นต้องอาศัยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team Approach) ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น (Child and Adolescent Psychiatrist) นักจิตวิทยา (Psychologist) พยาบาลจิตเวชเด็ก (Child Psychiatric Nurse) นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (Speech Therapist) นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ครูการศึกษาพิเศษ (Special Educator) นักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker) ฯลฯ
หัวใจสำคัญของการดูแลรักษาไม่ได้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่อยู่ที่ครอบครัวด้วยว่าจะสามารถนำวิธีการบำบัดรักษาต่าง ๆ ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้ที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องหรือไม่
การดูแลรักษาบุคคลออทิสติก ไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุด หรือยอดเยี่ยมที่สุดเพียงวิธีการเดียว และไม่มีรูปแบบที่เป็นสูตรสำเร็จรูปแบบเดียวที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ต้องเป็น “การดูแลรักษาแบบบูรณาการ” กล่าวคือ ใช้วิธีการบำบัดหลายวิธีร่วมกัน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ ร่วมกับครอบครัวของบุคคลออทิสติก สุมหัวรวมความคิด ช่วยกันออกแบบการดูแลรักษา ให้เหมาะสมกับความสามารถ และสภาพปัญหาของแต่ละคน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลด้วยความรัก แล้วค่อย ๆ พัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางของการทำให้เด็กมีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ไม่ยาก
สำหรับแนวทางการดูแลออทิสติกมีความหลากหลาย ในที่นี้ได้สรุปรวบรวมแนวทางหลัก ออกเป็น 10 แนวทาง ดังนี้
· ส่งเสริมพลังครอบครัว
· ส่งเสริมความสามารถเด็ก
· ส่งเสริมพัฒนาการ
· ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
· กิจกรรมบำบัด
· แก้ไขการพูด
· ฝึกทักษะสังคม
· ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา
· ฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ
· รักษาด้วยยา
นอกจากแนวทางหลักข้างต้นแล้ว ยังมีการแพทย์เสริมและทางเลือกอีกหลากหลาย ให้เลือกบำบัดได้เหมาะสมกับ แต่ละคนที่แตกต่างกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่อง
· การดูแลออทิสติกแบบูรณาการ »
การพยากรณ์โรค
พบว่าออทิสติก จำนวน 2 ใน 3 ยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่น และต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ในขณะที่จำนวน 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และพบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ
สิ่งสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เด็กออทิสติกจะมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่ เพียงไร คือ ระดับสติปัญญา (intellectual level) และความสามารถในการสื่อสาร จากรายงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) ต่ำกว่า 50 มีอาการชักในช่วงวัยรุ่น หรือยังไม่พูดเมื่ออายุ 5 ปี มักจะมีแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก
ระดับสติปัญญาของเด็กออทิสติก จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2561 ที่อยู่ในระดับความบกพร่องทางสติปัญญา (ไอคิวต่ำกว่า 70) พบร้อยละ 35.2 ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากในอดีต
พบว่าออทิสติก ประมาณร้อยละ 4-32 จะมีอาการชักร่วมด้วย พบได้เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งยิ่งทำให้มีแนวโน้มไม่ค่อยดี ในกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการชักสูงกว่า
การดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าเริ่มทำตั้งแต่ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก พบว่าได้ผลดีกว่าการรักษาที่ล่าช้ากว่านั้น ดังนั้นการวินิจฉัยโรคได้เร็ว ให้การดูแลช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่มอายุน้อย และดูแลอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555. (9 กรกฎาคม 2555). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 (ตอนพิเศษ 119 ง); หน้า 22-23.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.2552. (6 พฤษภาคม 2552). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 126 (ตอนพิเศษ 80 ง); 45-47.
American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders, 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.
Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2021). Prevalence and characteristics of autism spectrum disorder among children aged 8 years - autism and developmental disabilities monitoring network, 11 sites, United States, 2018. MMWR Surveill Summ, 70(11): 1–20.
First, M. B., Yousif, L. H., Clarke, D. E., Wang, P. S., Gogtay, N. & Appelbaum, P. S. (2022). DSM-5-TR: overview of what’s new and what’s changed. from https://doi.org/10.1002/wps.20989.
Fombonne, E. (1999). The epidemiology of autism: a review. Psychological Medicine, 29: 769-786.
Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.
World Health Organization. (1993). The ICD-10 classification of mental and behavioural disorders: diagnostic criteria for research. [Electronic version]. Geneva, WHO.
Zeidan, J., Fombonne, E., Scorah, J., Ibrahim, A., Durkin, M. S., Saxena, S., Yusuf, A., Shi, A. & Elsabbagh, M. (2022). Global prevalence of autism: A systematic review update. Autism Research, 15: 778–790.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au02-autism.htm
(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)