ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
แอสเพอร์เกอร์
Asperger's Disorder
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
บทนำ
โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) หรือ แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มสเป็กตรัมเดียวกับโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) เดิมเรียกชื่อแยกกันกับออทิสติกเพราะมีลักษณะอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันเรียกรวมกันถ้ามีอาการครบตามเกณฑ์ใหม่ของออทิสติก
ปัจจุบันแอสเพอร์เกอร์ไม่ได้มีชื่ออยู่ในการวินิจฉัยทางจิตเวช ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัย DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน เปลี่ยนไปใช้คำว่า “Autism Spectrum Disorder” ร่วมกัน ถ้ามีอาการครบตามเกณฑ์ใหม่ แต่ถ้าอาการไม่ครบตามเกณฑ์ใหม่ อาจพิจารณาในกลุ่มการวินิจฉัย “Social (pragmatic) Communication Disorder”
นับเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว ที่มีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ และมีการกล่าวถึงในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่นายแพทย์ ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ สถาบันจอห์น ฮอปกินส์ รายงานผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการของโรคออทิสติก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 นายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ ชาวออสเตรีย ตีพิมพ์รายงานเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลำบาก หมกมุ่นกับการทำอะไรซ้ำ ๆ ประหลาด ๆ แต่กลับพูดเก่งมาก และดูเหมือนจะฉลาดมากด้วย แต่ด้วยวิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ไม่มีใครสานต่องานวิจัย จึงเงียบหายไปจนนักวิจัยรุ่นหลังนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง
ลักษณะอาการ
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์ เดิมที่อ้างอิงตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 4 (DSM-IV, 1994) โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
หลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์ มีดังนี้
A. มีคุณลักษณะในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)
2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้
3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่น ๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)
4. ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม
B. มีพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ เป็นแบบแผน โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้
1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำ ๆ (stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่าง ๆ มีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น
3. ทำกิริยาซ้ำ ๆ (mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว)
4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ
C. ความผิดปกตินี้ ก่อให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญ บกพร่องอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
D. ไม่พบพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
E. ไม่พบพัฒนาการทางความคิดที่ช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง พฤติกรรมการปรับตัว และมีความอยากรู้เห็นในสิ่งรอบตัวในช่วงวัยเด็ก
F. ความผิดปกติไม่เข้ากับ พีดีดี ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ชนิดเฉพาะอื่น หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia)
ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งอาจครอบคลุมกลุ่มแอสเพอร์เกอร์เดิมด้วย ตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ฉบับที่ 5 ฉบับปรับปรุงข้อความ
(DSM-5-TR, 2022) มีดังนี้
A. บกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในหลากหลายบริบท โดยแสดงออกทุกข้อ ดังนี้ (ภาวะปัจจุบันหรือจากประวัติก็ได้)
1) บกพร่องในการตอบสนองทางอารมณ์และสังคม (social-emotional reciprocity)
2) บกพร่องในการใช้ภาษาท่าทาง เพื่อการสื่อสารทางสังคม
3) บกพร่องในการพัฒนา คงไว้ และเข้าใจในสัมพันธภาพ
B. มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้
1) โยกไปโยกมา (stereotyped) หรือมีการเคลื่อนไหว พูดจา หรือใช้วัตถุสิ่งของซ้ำ ๆ
2) แบบแผนคำพูดหรือพฤติกรรม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปจากกิจวัตรที่เคยทำ ไม่ยืดหยุ่น
3) ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ มีจำกัด และยึดติดอย่างมาก ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
4) ระบบรับสัมผัสไวเกินหรือเฉื่อยเกิน หรือสนใจตัวกระตุ้นระบบรับสัมผัสอย่างไม่เหมาะสม
C. อาการแสดงออกในช่วงแรกของวัยแห่งการพัฒนา (early developmental period) (แสดงออกชัดเจนเมื่อความคาดหวังทางสังคมเกินกว่าความสามารถที่มีอย่างจำกัด)
D. อาการส่งผลต่อความบกพร่องในด้านสังคม อาชีพ หรือหน้าที่การทำงานอื่นที่สำคัญ
E. ไม่สามารถอธิบายจากความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) หรือความล่าช้าทางพัฒนาการทุกด้าน (global developmental delay)
การดูแลรักษา
โรคแอสเพอร์เกอร์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือให้มีพัฒนาการทางด้านสังคมดีขึ้นได้มาก สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ สำหรับแนวทางในการดูแลรักษาใช้แนวทางเดียวกับการดูแลรักษาผู้ที่เป็นออทิสติก โดยเน้นแก้ไขในด้านที่เป็นปัญหา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมในด้านที่เป็นความสามารถของเด็กเป็นสำคัญ
แนวทางการดูแลรักษา อ่านเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” ในเว็บเพจ
https://www.happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). แอสเพอร์เกอร์. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au03-asperger.htm
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)