HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

การเรียนรู้ร่วมกันในความแตกต่าง ช่วยให้ทุกฝ่ายมีการเติบโตไปพร้อมกัน
มีการเจริญงอกงามทางความคิด จิตใจ และอารมณ์
ไม่เฉพาะเด็กออทิสติกเท่านั้นที่พัฒนา เด็กปกติก็มีการพัฒนาด้วยเช่นกัน

 

พ่อแม่หลายคนที่มีลูกเป็นออทิสติก อาจมีความกังวลเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยเรียน ลูกที่เป็นออทิสติกต้องเข้าเรียน แต่ไม่รู้ว่าต้องให้เรียนโรงเรียนไหน กลัวว่าจะไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปไม่ได้ คำแนะนำสำหรับเด็กออทิสติกในวัยเรียน มีดังนี้

 

เด็กออทิสติกควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนอย่างไร

ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน เด็กควรมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
  1. การเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ สามารถตอบสนองได้บ้าง
  2. สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้บ้างเล็กน้อย
  3. เด็กสามารถนั่งทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานพอประมาณ
  4. ไม่มีพฤติกรรมที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาจากการฝึกฝนปรับพฤติกรรมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

 

เราจะประเมินได้อย่างไรว่า เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนในชั้นเรียนได้

ในการประเมินความพร้อม ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เด็กคุ้นเคยกับสถานที่หรือไม่ คุ้นเคยกับผู้ประเมินหรือไม่ ถ้าไม่คุ้นเคย เด็กย่อมไม่ร่วมมือ และทำให้ดูเหมือนจะไม่มีความพร้อมทั้ง ๆ ที่เด็กทำได้

โดยทั่วไปเราจะดูแค่ว่า เด็กพอเข้าใจทำสั่งง่าย ๆ ได้ไหม พอทำตามได้บ้างไหม พอที่จะทำกิจกรรมในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้ไหม มีพฤติกรรมที่รุนแรงเป็นปัญหาหรือไม่ เท่านี้น่าจะมากเพียงพอแล้วสำหรับการนำเด็กเข้าเรียน

ในเด็กออทิสติก เราไม่ต้องรอให้เด็กมีความพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยเข้าเรียน แต่เราให้เด็กเข้าเรียนเพื่อสร้างความพร้อมเพิ่มขึ้น ใช้สังคมเด็กวัยเดียวกันเป็นตัวกระตุ้นในการเรียนรู้ ไม่ต้องรอให้เด็กพูดได้แล้วค่อยเข้าเรียน แต่เราให้เด็กเข้าเรียนเพื่อกระตุ้นให้พูดได้ ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการเหล่านี้ตรงกัน ก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องการประเมินความพร้อม อาจมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมความพร้อมบ้างในบางด้าน แต่ไม่ต้องรอจนพร้อมทุกด้าน

 

เด็กออทิสติกสามารถเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่

เด็กออทิสติกสามารถเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหาและความพร้อมบางด้านที่จำเป็น โดยทั่วไปเด็กสามารถเรียนรวมได้ ถ้าผ่านการฝึกฝนปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้นตั้งแต่เล็ก และทำมาอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับ การวิเคราะห์ดูว่ารูปแบบการเรียนรู้แบบใดเหมาะสมกับตัวเด็กมากที่สุด สามารถดึงศักยภาพในตัวเด็กให้แสดงออกมาได้มากที่สุด

 

อุปสรรคที่มักพบเมื่อต้องเข้าเรียนในโรงเรียน และวิธีการแก้ไขปัญหา

อุปสรรคที่มักพบส่วนใหญ่ คือ ความเข้าใจ และการยอมรับของโรงเรียน บางแห่งครูไม่รู้จักว่าเด็กออทิสติกเป็นอย่างไร ไม่มีประสบการณ์ในการดูแลมาก่อน ไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร จึงต้องมีการพูดคุยสื่อสารให้ชัดเจนระหว่างผู้ปกครองและครูอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยให้มองที่ปัญหาของเด็ก ว่าพฤติกรรมแต่ละเรื่องจะแก้ไขอย่างไร อย่าไปมองที่ความเป็นออทิสติก เพราะถ้าเพ่งเป้าที่พฤติกรรม คุณครูจะมีความมั่นใจในการแก้ไขปัญหามากกว่า และอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากทีมแพทย์ที่ดูแลเด็กอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น

ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ปกครอง ครู และทีมแพทย์ที่ดูแลเด็ก ก็จะช่วยให้สามารถฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน

 

โรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้เฉพาะสำหรับเด็กออทิสติก มีเปิดสอนที่ใดบ้าง

ในปัจจุบันถือว่าเด็กออทิสติกมีทางเลือกมากขึ้น เพราะมีรูปแบบโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เลือกตามความต้องการที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน มีทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคม

ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีทั้งหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ มีหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สถาบันราชานุกูล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ฯลฯ และยังมีหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในภาคเอกชน ก็มีทั้งในระดับโรงพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลเด็กพิเศษ ให้เลือกหลากหลาย เช่นเดียวกัน

เด็กควรจะเรียนที่ใด ขึ้นอยู่กับระดับปัญหา และระดับความพร้อมของเด็กด้วย คงบอกไม่ได้ว่าที่ไหนดีกว่ากัน แต่ควรดูว่ารูปแบบไหนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้มากกว่ากัน

ในกรณีที่เด็กมีอาการไม่รุนแรง และมีการเตรียมความพร้อมมาแล้วอย่างเหมาะสม การเรียนรวมในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

คอร์สในการเรียนรู้ต่าง ๆ เขาสอนในเรื่องใดบ้าง

โดยหลักการทั่วไปควรออกแบบการเรียนรู้เป็นรูปแบบเฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า โปรแกรมการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือ ไออีพี (IEP – Individualized Educational Program) เพื่อให้รองรับสภาพปัญหา และความสามารถของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน

เรื่องที่สอนเน้นทักษะสังคม ทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร ทักษะการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน เพิ่มเติมจากทักษะทางวิชาการทั่วไป

 

วิธีการฝึกฝน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กออทิสติก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้ที่บ้านได้ มีอะไรบ้าง

ทุกครั้งที่พาเด็กไปฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ผู้ปกครองควรนำวิธีการต่างๆ กลับมาประยุกต์ใช้ และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เพราะการที่เด็กจะพัฒนาดีขึ้นได้ ไม่ใช่เกิดจากการฝึกแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่เกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทุกวัน วันละหลายชั่วโมง

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอบถามจากนักบำบัดได้ว่า ควรไปทำอะไรต่อที่บ้านบ้าง และเมื่อทำแล้วมีปัญหาในการฝึกอย่างไรบ้างก็นำมาปรึกษากับนักบำบัดอีกครั้ง เพื่อให้นักบำบัดที่ฝึกแนะนำเทคนิค วิธีการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา

เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้ผลดี คือ การให้แรงเสริม โดยต้องรู้ว่าเด็กชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นำมาเรียงลำดับ จัดความสำคัญ ใช้เป็นแรงเสริมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการ เช่น เมื่อเด็กหยิบของที่เราบอกได้ถูกต้อง ให้ตบมือ ชมเชย กอด และให้ขนมเป็นรางวัล ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ จนเด็กทำตามได้ถูกต้องทุกครั้ง

 

การปรึกษาครูในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างไร

ถ้าจะให้เด็กมีการพัฒนาสูงสุดเต็มความสามารถ ครูกับพ่อแม่ต้องร่วมมือกัน มีการปรึกษา หารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ เด็กทำอะไรได้บ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง และอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นปัญหา แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างที่บ้านและโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวเด็กตรงกัน วางแผนแก้ปัญหาร่วมกันในทิศทางเดียวกัน

พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือแผนไออีพี (IEP) เพื่อวางแผนการเรียนการสอน และแนวทางประเมินความก้าวหน้าที่เหมาะสมกับเด็ก

 

ทำอย่างไรเมื่อเพื่อนในห้องไม่เข้าใจพฤติกรรมที่บกพร่องของลูกเรา

สำหรับเพื่อนของเด็กออทิสติก เน้นการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ทุกคนสามารถทำความดีได้โดยการช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นออทิสติก ชวนเพื่อนไปเล่นด้วย ชวนเข้ากลุ่มกิจกรรม ชวนไปทานข้าวด้วย เข้ามาพูดคุยด้วย ครูควรชมเชยเพื่อนคนที่คอยช่วยเหลือเด็กออทิสติก ยกย่องเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กมีน้ำใจ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ และเด็กคนอื่นๆ รู้สึกอยากเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

ถ้าเด็กโตพอในระดับที่เข้าใจเรื่องต่างๆได้ดีแล้ว คุณครูอาจจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนนักเรียนในห้องก่อนว่า ออทิสติกคืออะไร มีความพิเศษอย่างไรที่จะต้องดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนได้อย่างไรบ้าง และครูก็ภูมิใจที่มีนักเรียนน่ารัก มีน้ำใจ แบบพวกเราทุกคน

เด็กนักเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้องเป็นออทิสติกด้วย ถือว่าโชคดีมาก เพราะมีโอกาสพัฒนาในเรื่อง อีคิว ไปในตัว โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกเรื่องการมีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถปรับตัวเข้ากับความแตกต่างได้ดีกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งดีกว่าการพูดสอนโดยไม่เคยลงมือทำ ซึ่งไม่มีทางเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนร่วมห้องเด็กออทิสติก น่าจะใช้โอกาสเหล่านี้ในการสอนเรื่องต่างๆเพื่อพัฒนาอีคิวของลูกไปในตัวด้วย

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au09-schoolage.htm

(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »