HAPPY HOME ACADEMY

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism, Artificial

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต

ในปัจจุบัน เริ่มมีการนำคำว่า “ออทิสติกเทียม” มาใช้ ทำให้เกิดความสับสน และเข้าใจผิด มีผู้ปกครองหลายคนพาลูกมาตรวจประเมินเพื่อจะให้ดูว่า “เป็นออทิสติกเทียมหรือไม่” หรือแม้กระทั่งหลังจากสรุปวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกแล้ว ก็ยังมีคำถามว่า “เป็นออทิสติกแท้ หรือออทิสติกเทียม”

คำว่า “ออทิสติกเทียม” ไม่ใช่คำศัพท์ทางการแพทย์ และไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน เป็นการใช้ต่อ ๆ กันมาในเชิงความหมายว่า เด็กขาดการกระตุ้นจนพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะด้านสังคมและภาษา ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสื่อสารกับผู้อื่น พูดช้า มีโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจเล่นกับเด็กคนอื่น หรือเล่นไม่เป็น เด็กมีอาการคล้ายออทิสติกแต่ไม่ใช่ออทิสติก การที่เด็กขาดการกระตุ้น อาจเกิดจากการปล่อยปละละเลย ไม่พูดคุย หรือเล่นกับเด็ก ปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต มากเกินไป อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้เล่นกับเด็กคนอื่น

ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่ขาดการกระตุ้นมาก ๆ เช่น เด็กในสถานสงเคราะห์ที่มีเด็กจำนวนมาก ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กมีอาการคล้ายออทิสติกได้ แต่ไม่ควรใช้คำว่าออทิสติกเทียม เพราะจะทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด

เด็กที่เป็นออทิสติกก็ควรบอกว่าเป็นออทิสติก ถ้าไม่ใช่ก็ควรบอกว่าไม่ใช่ ถ้าสงสัยก็ควรบอกว่าสงสัยแล้วประเมินอาการซ้ำหลังให้คำแนะนำหรือกระตุ้นพัฒนาการ การยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหนทางที่ดีที่สุด อย่าคิดกันไปเอง หรือตีความกันไปเอง เพราะจะทำให้เด็กเสียโอกาสที่จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ออทิสติกเทียม ยังถูกนำมาใช้ในเชิงที่ว่า “ถ้ากระตุ้นพัฒนาการก็จะดีขึ้น เพราะเด็กขาดการกระตุ้น” ซึ่งพบว่าเด็กที่เป็นออทิสติกหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ก็สามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากได้เช่นเดียวกัน การกระตุ้นแล้วดีขึ้น จึงไม่ใช่ตัวแยกที่ชัดเจนของความเป็นออทิสติกแท้หรือออทิสติกเทียม อาการที่มีตามเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญในการสรุปว่าเป็นออทิสติกหรือไม่มากกว่า

ออทิสติกเป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด แต่อาการเริ่มแสดงให้เห็นเด่นชัดเมื่ออายุ 2-3 ขวบ ยิ่งมีความรุนแรงน้อย ยิ่งสังเกตเห็นปัญหาได้ยาก พบว่าเด็กออทิสติกเกือบครึ่งหนึ่งวินิจฉัยได้หลังอายุ 6 ปี ไปแล้ว ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต มากเกินไป เลยทำเป็นออทิสติก และสรุปกันไปเองว่าเป็นออทิสติกเทียม

ในอดีตยังเคยเชื่อว่าออทิสติกเกิดจากการเลี้ยงดู เกิดจากพ่อแม่ที่มีลักษณะเยือกเย็น ขาดความอบอุ่น โดยใช้คำว่า “refrigerator mother” หรือ “refrigerator parents” เป็นสาเหตุของออทิสติก หรือที่รู้จักกันในทฤษฎี Bettelheim แต่ทฤษฎีนี้ก็ถูกหักล้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2513 แล้ว ปัจจุบันยืนยันชัดเจนแล้วว่าออทิสติกไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู แต่การเลี้ยงดูยังส่งผลต่ออาการที่ดีขึ้น หรือแย่ลงได้มาก

การระบุว่าเด็กเป็นออทิสติกเทียม ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่เป็นออทิสติก เป็นการสร้างตราบาปให้กับเด็กและครอบครัว สร้างความเข้าใจผิด ทำให้วิตกกังวลกับปัญหามากเกินไป ในทางตรงกันข้าม การระบุว่าเด็กเป็นออทิสติกเทียม ทั้ง ๆ ที่เด็กเป็นออทิสติกแท้ ก็กลายเป็นการกล่าวโทษผู้ปกครองว่าเลี้ยงดูไม่ดี และยังอาจส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม เพราะคิดว่าปรับวิธีการเลี้ยงดู งดดูโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นคำว่า “ออทิสติกเทียม” จึงเป็นคำที่ไม่ควรนำมาใช้ เพราะสามารถส่งผลเสียได้ในทุกกรณี

หากผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กจะเป็นออทิสติกหรือไม่ ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อที่จะให้เด็กได้รับโอกาสในการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นออทิสติกหรือไม่ก็ตาม

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders, 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.

Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.

Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au11-autism-artificial.html

(บทความต้นฉบับ: ตุลาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »