ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
Autism Spectrum Disorder: Play Behavior
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และคุณธรรม การเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาของเด็กทุกคน
แต่ในเด็กออทิสติก การเล่นมักไม่สามารถพัฒนาเป็นไปตามขั้นตอนธรรมชาติ หรือลำดับขั้นของพัฒนาการด้านการเล่น เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เด็กมักขาดความสามารถในการเล่นที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และขาดจินตนาการ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการเล่น เด็กมักเล่นไม่ถูกวิธี มีรูปแบบการเล่นซ้ำ ๆ ขาดความหลากหลาย เช่น สะบัดหรือหมุนของไปมา เทของเล่นกลับไปกลับมา เรียงของเล่นเป็นแถวยาว ฯลฯ เด็กไม่ค่อยเปลี่ยนรูปแบบการเล่น และไม่มีการเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคม มักสนใจแต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินความพอดี หรือเพ่งมองเฉพาะบางจุดนานเกินไป
เป็นธรรมดาสำหรับเด็กออทิสติกที่มักจะเลือกเล่นของเล่นตามช่องทางของระบบประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้น เช่น การดม การชิม การฟัง การสัมผัส หรือนำมาจ้องมองดู แต่เด็กมักจะไม่ค่อยมีความผูกพันกับของเล่นเฉพาะอย่างเท่าที่ควร ไม่มีตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ตัวโปรด เด็กมักจะชอบเล่นของอย่างอื่นที่ไม่ใช่ของเล่นด้วยซ้ำ มักเป็นของใช้ที่หยิบได้ทั่ว ๆ ไปในบ้าน เช่น ขวดยา ผ้าพันแผล แก้วน้ำ กระป๋องแป้ง ปฏิทิน แผ่นโฆษณา เป็นต้น และในการเล่นของเล่น เด็กก็มักขาดจินตนาการในการเล่นที่ควรมีตามวัย
เด็กออทิสติกมีลักษณะเฉพาะตัว ที่ขัดขวางต่อพัฒนาการด้านการเล่น ดังนี้
1. เด็กที่มีทักษะทางด้านภาษาและการสื่อสารบกพร่อง ทำให้จำกัดบทบาทในการมีปฏิสัมพันธ์ทางการเล่น
2. เด็กมีความยากลำบากในการตีความหมาย หรือคาดเดาความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสร้างมิตรภาพกับเพื่อน
3. เด็กมักขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว ขาดความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลง มักจะต่อต้านต่อการสำรวจ หรือสรรหาการเล่นใหม่ ๆ ร่วมกับเพื่อน
4. เมื่อชักชวนให้เด็กมาเล่น แต่ระดับการเล่นของเขาต่ำกว่าของเด็กคนอื่น เด็กจึงไม่เข้าใจในสิ่งที่จะเล่น และเพื่อนก็ไม่สนใจที่จะเล่นด้วยเช่นกัน
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นของเด็กออทิสติก ในระยะแรก ๆ เป็นการสังเกตเด็กเล่นในห้องสังเกตทดลองซึ่งได้จัดเตรียมขึ้น ไม่ใช่การสังเกตการเล่นตามธรรมชาติจริง ๆ พบว่า การเล่นที่พบส่วนใหญ่มักเป็น การเล่นสำรวจ ทดลอง เพื่อดูว่าของที่เล่นอยู่ใช้งานอย่างไร (exploratory play) และการเล่นรูปแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา แบบไร้เป้าหมาย (perseveration)
แต่การศึกษาวิจัยในช่วงหลัง เป็นการสังเกตการเล่นตามธรรมชาติของเด็ก ผลการศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม พบว่าพฤติกรรมการเล่นที่พบบ่อยที่สุดคือ การเล่นจำลองหน้าที่การทำงานของสิ่งของที่อยู่รอบตัว (functional play) รองลงมาคือการเล่นแบบมีโครงสร้าง มีรูปแบบ และเป้าหมายกำหนดไว้ชัดเจน (constructive play) และการเล่นสำรวจ ทดลอง (exploratory play) และที่สำคัญคือ แทบไม่เห็นการเล่นแบบจินตนาการเลย (make-believe play)
การเล่นจำลอง (functional play) ที่สังเกตเห็นส่วนใหญ่จะเป็นแบบต่างคนต่างเล่น รองลงมาคือ เล่นคนเดียว
เด็กออทิสติกจะมีทั้งเล่นคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่ม แต่มักไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกัน จากการศึกษาวิจัยพบว่าเด็กออทิสติกเล่นกับผู้ใหญ่เพียงร้อยละ 12 ของช่วงเวลา และเล่นกับเพื่อนเพียงร้อยละ 7 ของช่วงเวลา ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามเข้าไปกระตุ้นและเล่นด้วยเป็นระยะแล้วก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คู่มือการดูแลเด็กออทิสติก. กรุงเทพฯ: บียอนด์ พับลิสชิ่ง.
Beyer J & Gammeltoft L. (2003). Autism and play. London: Jessica Kingsley Publishers.
Healis autism centre. (2021). Can Children with Autism Pretend Play? (Online). Available URL: https://www.healisautism.com/post/can-children-autism-pretend-play
Holmes E, & Willoughby T. (2005). Play behaviour of children with autism spectrum disorders. Journal of Intellectual & Developmental Disability, 30(3): 156-64.
Jordan, R. (2003). Social play and autistic spectrum disorders: a perspective on theory, implications and educational approaches. Autism, 7(4): 347-60.
Rutherford MD, Young GS, Hepburn S & Rogers SJ. (2006). A longitudinal study of pretend play in autism. Journal of Autism and Developmental Disorders, 37(6), 1024-39.
Volkmar FR, Van Schalkwyk GI & Van der Wyk B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin A, Volkmar FR and Bloch M, eds. Philadelphia: Wolters Kluwer, pp. 1164-95.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก. [Online]. Available URL: https://www.happyhomeclinic.com/au32-autistic-play-behavior.htm
(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2550)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ชุดความรู้ จิตเวชเด็ก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
· ระดับความรุนแรงของออทิสติก
· ระดับไอคิวของออทิสติก
· ประเภทของออทิสติก
· ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
· ออทิสติก เกิดจากอะไร
· ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
· ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก