HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

good doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

กู๊ด ด็อกเตอร์ (Good Doctor) เป็นซีรีย์ดังที่ถูกนำมาสร้างแล้วในหลายประเทศ เริ่มต้นจากต้นฉบับของเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. 2013 ถูกนำมาสร้างใหม่ในแบบฉบับของอเมริกัน ปี ค.ศ. 2017 แบบฉบับของญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2018 นอกจากนี้ยังมีภาคต่อของซีรีย์อเมริกันรวม 7 ซีซั่น โดยล่าสุดในปี ค.ศ. 2024 และแบบฉบับของไทยเองก็มีแล้วเช่นเดียวกัน ในชื่อเรื่อง “Good Doctor หมอใจพิเศษ”

เป็นซีรีย์ที่นำเรื่องราวความอัจฉริยะของบุคคลออทิสติกมาถ่ายทอด ทำให้ผู้คนได้รู้จักกันทั่วโลกอีกครั้ง ผ่านตัวละครที่เป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม (surgical resident) นำเสนอเรื่องราวให้เห็นถึงความสามารถของผู้ที่เป็นออทิสติก พร้อมกับแสดงให้เห็นอาการบางอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งความเป็นจริงในปัจจุบัน บุคคลออทิสติกสามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร อาจารย์ นักวิจัย นักธุรกิจ ฯลฯ

Good Doctor

หมอพัคชีอน

Good Doctor

หมอชินโด

ซีรีย์ต้นฉบับของเกาหลีใต้ ช่อง KBS2 เรื่อง “Good Doctor” หมอพัคชีอน แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมเด็ก รับบทโดย จูวอน (Joo Won) ส่วนรีเมคฉบับญี่ปุ่น ช่อง Fuji TV เรื่อง “Good Doctor” หมอมินาโตะ ชินโด แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมเด็ก รับบทโดยเคนโตะ ยามาซากิ (Kento Yamazaki) ในขณะที่รีเมคฉบับอเมริกัน ช่อง ABC เรื่อง “The Good Doctor” หมอฌอน เมอร์ฟี่ (Shaun Murphy) เป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมทั่วไป ซึ่งต่างจากซีรีย์ของอีก 2 ชาติ รับบทโดย เฟรดดี ไฮร์มอร์ (Freddie Highmore) เคสผู้ป่วยจะหลากหลายกว่า และสร้างหลายซีซั่นต่อเนื่อง จนถึงซีซั่น 7 ในปัจจุบัน

Good Doctor

หมอฌอน

ซีรีย์แต่ละชาติจะปรับเปลี่ยนรายละเอียด นำมาสร้างในแบบฉบับของตัวเอง ต้นฉบับเกาหลีใต้จะดูมุ๊งมิ้ง โรแมนติก ฟีลกู๊ด ฉบับอเมริกันจะเน้นเรียล สมจริง การดำเนินเรื่องกระชับ ในขณะที่ฉบับญี่ปุ่นดูโทนอบอุ่น ดรามาถึง บีบคั้นหัวใจ แต่พล็อตเรื่องหลักเหมือนกัน คือ ตัวเอกเป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมที่มีอาการออทิสติก มีความจำเป็นเลิศ แต่มีข้อบกพร่องในด้านทักษะทางสังคมและการสื่อสารกับผู้คน ต้องพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน ด้วยความสามารถที่มีอยู่ ทำให้เขาพัฒนาตนเองจนก้าวข้ามขีดจำกัด และทุกคนมองข้ามความเป็นออทิสติกไปได้

เป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษากับคุณหมอท่านนี้จะไม่รู้สึกวิตกกังวล หรือมีข้อกังขา เนื่องจากคุณหมอมีบุคลิกท่าทางแปลก การพูดจาก็ดูแตกต่างจากหมอคนอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กซึ่งพ่อแม่ยิ่งต้องไม่มั่นใจเป็นธรรมดา ยิ่งเป็นเรื่องการผ่าตัดยิ่งแล้วใหญ่ แต่สุดท้ายผลการผ่าตัดก็เป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถที่มีอยู่ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การตัดสินคนไม่ควรดูจากลักษณะท่าทางภายนอก หรือดูว่าเขามีความผิดปกติอะไร แต่ควรพิจารณาจากความรู้ความสามารถมากกว่า และที่สำคัญคือ แม้เขาจะมีความแตกต่าง แต่ก็สามารถช่วยเหลือผู้คนและสังคมได้ไม่น้อยกว่าคนอื่นเช่นกัน

คำว่า Good Doctor เป็นคำถามที่คุณหมอตัวเอกของเรื่องถามว่า “หมอที่ดีเป็นอย่างไร” แล้ว ซีรีย์นี้ก็สามารถชวนให้ผู้ชมร่วมหาคำตอบของการเป็นหมอที่ดีว่าเป็นอย่างไร ความมุ่งมั่นที่จะเป็นหมอศัลยกรรมเด็กของตัวเอกในเรื่องชัดเจนมาก เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงอยากเป็นหมอ คำตอบของเขาก็คือ “ผมเห็นพี่ชายขึ้นสวรรค์ไปต่อหน้าตอนยังเด็กอยู่เลย ไม่ได้โตเป็นผู้ใหญ่ ผมเลยอยากช่วยให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่”

ออทิสติกที่เข้าขั้นระดับอัจฉริยะ หรือมีความสามารถแบบพิเศษ เรียกว่า ออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant) พบได้ประมาณร้อยละ 10 แต่จะมีความหลากหลายเฉพาะทางในแต่ละคน อาจเป็นความสามารถพิเศษในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ด้านความจำที่สามารถจดจำรายละเอียดได้ทุกอย่างแม่นยำ ด้านดนตรี ด้านศิลปะ หรือด้านอื่น ๆ

ในซีรีย์แสดงให้เห็นชัดเจน เช่น มีความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จากการอ่านหนังสือเพียงรอบเดียว เมื่ออายุเพียง 7 ขวบ ก็สามารถจดจำอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายคนได้ทั้งหมดจากการอ่าน สามารถจำประวัติคนไข้ได้ละเอียดเพียงแค่อ่านรอบเดียวเท่านั้น มีความสามารถที่จะประมวลผลภาพที่ตาเห็น แล้วสร้างออกมาให้เป็นแบบจำลองสามมิติในสมองทำให้เห็นอวัยวะภายในร่างกายชัดเจน ซึ่งช่วยเสริมความเป็นศัลยแพทย์ได้ดีเยี่ยม

ซีรีย์นี้ได้สื่อสิ่งที่เป็นอาการของออทิสติกออกมาได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน จึงช่วยให้คนที่ไม่ได้รู้จักออทิสติกดีนัก สามารถเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้น ในวัยเด็กแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขามักจะแยกตัวเล่นคนเดียว หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่สนใจ ไม่ชอบไปเล่นกับเพื่อน ไม่รู้วิธีเข้าหาเพื่อน และมักถูกกลั่นแกล้งรังแกเป็นประจำ

การไม่รู้กาลเทศะ หรือทักษะทางสังคมที่ไม่เหมาะสม เช่น คิดจะเดินก็เดินไปเลย คิดจะพูดก็พูดโพล่งออกมาแบบไม่รู้จังหวะจะโคน พูดจาตรงไปตรงมาแบบตรงเกิน ไม่ไว้หน้าใคร ไม่รักษาน้ำใจ แต่ก็จริงใจ ไม่มีเสแสร้ง อาการหลักของออทิสติกอีกอย่างคือ การไม่เข้าใจภาษาท่าทาง หรือแสดงภาษาท่าทางไม่เหมาะสม ภาษาท่าทาง ในที่นี้หมายถึงอวัจนะภาษา ซึ่งรวมถึง สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และแววตา เช่น ในฉบับภาษาญี่ปุ่น ผู้ช่วยพยาบาลกำหมัดขึ้นเพื่อจะให้มาชนหมัดกัน (fist bump) สื่อถึงการยินดีในสิ่งที่ทำสำเร็จ แต่ทั้งหมอพัคซีอนและหมอชินโดไม่เข้าใจ ก็เลยไปเป่ายิ้งฉุบแทน โดยการแบบมือออกกระดาษแทนการชนหมัดกัน ในฉบับเกาหลีใต้ หมอพัคชีอนพยายามทำท่ามุ๊งมิ้งตามนางเอก แต่ดูท่าทางเก้งก้างมากกว่า

Good Doctor

Good Doctor

นอกจากนี้ ยังไม่ค่อยสบตาผู้ที่พูดคุยด้วย ไม่ค่อยแสดงสีหน้าและอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ มักจะมีสีหน้าเฉยตลอดเวลา แบบต้องฝืนยิ้มถึงยิ้มออก หรือถ้าตลกก็ตลกหน้าตาย ตอนเด็กพี่ชายฉลองวันเกิดร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้พัคชีอน เขาก็นั่งเฉย สีหน้าเฉย ไม่แสดงความดีใจ เหมือนไม่มีส่วนร่วมเลย

ผู้ที่เป็นออทิสติกมักไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า อะไรเป็นมุกตลกหรืออะไรคือการประชดประชัน เขาไม่สามารถสังเกตจากภาษาท่าทางเพื่อประกอบคำพูดได้ ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดูสำหรับคนดูซีรีย์ แต่ในชีวิตจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ การไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้มักทำให้เขาถูกเอาเปรียบประจำ ถูกบุลลี่ (bully) หรือกลายเป็นตัวตลกของเพื่อนไป บางทีก็ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในคำพูด เช่น มีฉากที่นางเอกบอกให้หมุนหัวไปซึ่งหมายถึงให้หันหลังไปอย่ามอง (กำลังจะใส่เสื้อผ้า) เขาก็หมุนหัวไปมาจริง ๆ

ด้านความคิด พฤติกรรม และความสนใจ ที่มักยึดติดในรูปแบบเดิม ๆ ไม่มีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เดินทางไปกลับที่ทำงานในเส้นทางเดิม ๆ รูปแบบเดิม ๆ และใช้เวลาเท่าเดิมเป๊ะ เหมือนที่คุณหมอในเรื่องท่องวิธีเดินทาง รถจอดกี่ป้าย ใช้เวลากี่นาที และรับประทานอาหารเมนูเดิม ๆ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เคยทำก็จะไปไม่เป็นเหมือนกัน มักยึดถือในกฎที่เคยถูกสอนมาอย่างตายตัว ไม่ยืดหยุ่น มักมีรูปแบบการแสดงท่าทางซ้ำ ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว (mannerism) เช่น หมอฌอน ชอบเอามือเกี่ยวประสานกันบริเวณท้อง เพื่อให้ตัวเองสบายใจไม่ตื้นเต้น ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ให้สะบัดมือไปมาสะเปะสะปะ (stereotype) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย วิธีนี้เรียกว่า “การเก็บมือ” (quiet hands)

Good Doctor

ระบบประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติหรือช้ากว่าปกติ แสดงออกโดยการอุดหู สะบัดมือ เขย่งปลายเท้า หรือชอบจ้องมองสิ่งของหมุน ๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในออทิสติก แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดในซีรีย์ชุดนี้ อาจเป็นเพราะว่ากลุ่มออทิสติกที่ไม่รุนแรง จะพบลักษณะอาการดังกล่าวน้อยลง

ในด้านความสามารถในการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ทำได้ดี สามารถสื่อสาร และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ทำงานได้ และปรับตัวอยู่ในสังคมได้ดีพอสมควร ถือว่าเป็นกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ตาม ออทิสติกยังคงเป็นผู้ที่ต้องการการดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในบางเรื่องอยู่ หรือควรมีผู้ให้การปรึกษาเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถึงจะใช้ชีวิตได้อย่างอิสระแล้วก็ตามที วัยที่เติบโตขึ้นปัญหาการปรับตัวกับเรื่องใหม่ ๆ ก็มักตามมาเช่นเดียวกัน เป็นเหตุผลที่บุคคลออทิสติกยังคงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ต่อเนื่องจากเล็กจนโต ยิ่งได้รับการดูแลเร็วและต่อเนื่อง ผลลัพธ์ก็ยิ่งดีเช่นเดียวกัน

ซีรีย์ กู๊ด ด็อกเตอร์ (Good Doctor) ต่างจากภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน (Rain man) ซึ่งเคยโด่งดังเมื่อ 30 กว่าปีก่อน นำเสนอความเป็นอัจฉริยะของออทิสติกเช่นเดียวกัน แต่เรนแมนสะท้อนมุมมองและแนวคิดด้านสุขภาพจิตในยุค 3 ทศวรรษก่อน ที่เชื่อว่า การดูแลโดยสถาบันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้ออทิสติกได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง ได้ทำงานโรงงานในอารักษ์ ภายใต้การดูแลของสถาบันทั้งหมด ในขณะที่ กู๊ด ด็อกเตอร์ สะท้อนมุมมองและแนวคิดด้านสุขภาพจิตในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก เน้นการคืนออทิสติกให้กับครอบครัวและชุมชนเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง (Independent Living) โดยความเกื้อกูลของชุมชนและสังคม ภายใต้แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่ใช่การสงสารหรือสงเคราะห์อีกต่อไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเปลี่ยนแปลงไปไม่มาก คือความเข้าใจของผู้คนรอบข้างที่มีต่อผู้ที่เป็นออทิสติก ในภาพยนตร์ก็ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายังไม่เข้าใจ ยังไม่ยอมรับ ต้องรอการพิสูจน์ตัวเองของผู้ที่เป็นออทิสติกมากกว่าคนอื่น ๆ ในซีรีย์ได้รับการยอมรับเพราะความเป็นอัจฉริยะ ความสามารถที่โดดเด่น และความเป็นหมอ แล้วในโลกความเป็นจริง ถ้าเป็นออทิสติกที่มีความสามารถเท่ากับคนรอบข้างหรือน้อยกว่าจะได้รับการยอมรับไหม ทุกคนจะสามารถมองข้ามความเป็นออทิสติกได้ไหม อาจไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความสามารถด้วยซ้ำ ในซีรีย์ยังสะท้อนความคิดที่ไม่ยอมรับหมอที่เป็นออทิสติกชัดเจน เช่น ผู้จัดการโรงพยาบาลให้ความเห็นว่า “โรงพยาบาลเราไม่ใช่ศูนย์ฟื้นฟูคนพิการนะ จะให้คนแบบนี้มาอยู่ทำไม”

เมื่อย้อนมอง ก็จะคงคล้าย ๆ กับสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน ที่มีบุคคลออทิสติกเข้าทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีทั้งที่เขาบอกเองว่าเป็นออทิสติก หรือเป็นออทิสติกแต่ไม่ได้บอกใคร จนถึงไม่เคยรู้ว่าตนเองเป็นออทิสติก บางคนมีปัญหาการปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน อ่านบทความจนสงสัยว่าตนเองเป็นออทิสติก แล้วมาขอพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการปรึกษาเอง ก็พบมาแล้ว

ถึงจะเป็นออทิสติก แต่ก็มีความรู้ ความสามารถในการทำงาน อาจมีปัญหาเรื่องทักษะทางสังคมและบุคลิกภาพบ้าง บางครั้งทำอะไรหรือพูดอะไรที่ไม่ถูกกาลเทศะไปบ้าง แต่ถ้าทุกคนพยายามเข้าใจ และเรียนรู้ความเป็นออทิสติกไป ก็สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เราจะมีเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมสังคม ที่เป็นออทิสติกอย่างไม่มีการแบ่งแยก

Good Doctor

Good Doctor

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2549). จากเรนแมนสู่ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au23-rainman.htm

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติ. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (ตอนที่ 61 ก); หน้า 8-24.

American Psychiatric Association, (2022). Neurodevelopmental Disorders. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed, text revision (DSM-5-TR). Washington, DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.

Wikipedia. (2024). The Good Doctor (American TV series). from https://en.wikipedia.org/wiki/The_Good_Doctor_(American_TV_series)

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2567). Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au51-good-doctor.html

(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2564)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder

ออทิสติก 10 คำถาม

แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ

การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก

การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก

การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก

กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก

แก้ไขการพูด ในออทิสติก

การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก

การรักษาด้วยยา ในออทิสติก

แอสเพอร์เกอร์

เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

อัจฉริยะกับออทิสติก

การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

 

 

แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ

 

อัจฉริยะกับออทิสติก

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

Autistic Academy

รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ

· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
    · ออทิสติก 10 คำถาม
    · ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
    · ระดับความรุนแรงของออทิสติก
    · ระดับไอคิวของออทิสติก
    · ประเภทของออทิสติก
    · ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
    · ออทิสติก เกิดจากอะไร
    · ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
    · ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
    · เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
    · พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
    · การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
    · เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
    · เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
    · พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
    · แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
    · ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
    · การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
    · การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
    · การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
    · การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
    · กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
    · แก้ไขการพูด ในออทิสติก
    · การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
    · การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
    · การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
    · ซาวองต์ ซินโดรม
    · ออทิสติก ซาวองต์
    · ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
    · รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
    · แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
    · รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
    · การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
    · Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
    · Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
    · Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
    · Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
    · อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
    · อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
    · อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
    · อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก

 

A   U   T   I   S   T   I   C       A   C   A   D   E   M   Y