ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
Attorney Woo
ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
Extraordinary Attorney Woo เป็นซีรีย์จากเกาหลีใต้ ปี ค.ศ. 2022 นับเป็นเรื่องล่าสุดที่นำเรื่องราวความอัจฉริยะของบุคคลออทิสติกมาถ่ายทอด ทำให้ผู้คนได้รู้จักกันทั่วโลกอีกครั้ง ผ่านตัวละครที่เป็นทนายความ นำเสนอเรื่องราวให้เห็นถึงความสามารถของผู้ที่เป็นออทิสติก พร้อมกับแสดงให้เห็นอาการบางอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งความเป็นจริงในปัจจุบัน บุคคลออทิสติกสามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร อาจารย์ นักวิจัย นักธุรกิจ ฯลฯ
เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในซีรีย์เกี่ยวกับออทิสติกมาแล้วหลายเรื่อง แสดงให้เห็นถึงอาชีพต่าง ๆ ที่ออทิสติกสามารถทำได้เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ แม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดด้านความสามารถ เป็นข้อจำกัดด้านทักษะสังคม ซึ่งสามารถพัฒนาได้ตามโอกาสที่ได้รับ นาน ๆ ครั้งจะได้เห็นบทอัจฉริยะออทิสติกที่เป็นผู้หญิง และซีรีย์เรื่องนี้ก็ทำได้ดี มีความน่ารักในแบบฉบับของออทิสติก
อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
ก่อนหน้านี้ ซีรีย์ต้นฉบับเกาหลีใต้ เรื่อง “Good Doctor” แสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะของออทิสติกในบทบาทคุณหมอพัคชีอน ก็โด่งดังมากจนมีการรีเมคในหลายประเทศอย่างหยุดไม่อยู่ เช่น ญี่ปุ่น ตุรเกีย แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็สร้างไปถึง 6 ซีซั่น และอาจมีซีซั่นที่ 7 เร็ว ๆ นี้ ในบทบาทคุณหมอฌอน
ตามมาด้วยซีรีย์บีบคั้นน้ำตาที่ดูแล้วมีความสุขอย่าง Move to Heaven ซึ่งฮันกือรู มีอาชีพรับจ้างทำความสะอาดที่เกิดเหตุที่มีผู้เสียชีวิต และเก็บความทรงจำครั้งสุดท้ายของผู้ที่ตายจากไปให้ญาติได้รับรู้
Extraordinary Attorney Woo มีพล็อตเรื่องหลัก คือ ทนายความหญิงที่มีเป็นอัจฉริยะออทิสติก มีความจำเป็นเลิศ แต่มีข้อบกพร่องในด้านทักษะทางสังคมและการสื่อสารกับผู้คน ต้องพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากลูกความและเพื่อนร่วมงาน ด้วยความสามารถในการสู้คดีความต่าง ๆ อย่างน่าติดตาม ทำให้เขาพัฒนาตนเองจนก้าวข้ามขีดจำกัด และทุกคนมองข้ามความเป็นออทิสติกไปได้
ออทิสติกที่เข้าขั้นระดับอัจฉริยะ หรือมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เรียกว่า ออทิสติก ซาวองต์ (Autistic Savant) หรือ “อัจฉริยะออทิสติก” พบได้ประมาณร้อยละ 10 แต่จะมีความหลากหลายเฉพาะทางในแต่ละคน อาจเป็นความสามารถพิเศษในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ด้านความจำที่สามารถจดจำรายละเอียดได้ทุกอย่างแม่นยำ ด้านดนตรี ด้านศิลปะ หรือด้านอื่น ๆ
ในซีรีย์ทนายอูยองอู มีความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำรายละเอียดต่าง ๆ จากสิ่งที่อ่านได้หลังจากอ่านเพียงรอบเดียว จำได้ว่าอยู่หน้าไหน บรรทัดไหน ได้อย่างแม่นยำ เมื่ออายุเพียง 5 ขวบ ก็สามารถจดจำตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้ทุกบรรทัด จากหนังสือกฎหมายที่พ่อเก็บไว้ เธอเรียนจบกฎหมายด้วยคะแนนสูงสุดจากมหาวิทยาลัยกฎหมายแห่งชาติโซล และได้เข้าทำงานในบริษัทกฎหมายชั้นนำของประเทศ
ซีรีย์นี้ได้สื่อถึงอาการของออทิสติกออกมาได้ชัดเจน จึงช่วยให้คนที่ไม่ได้รู้จักออทิสติกดีนัก สามารถเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งออทิสติกมีอาการหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ มีความบกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสารทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในหลากหลายบริบท และมีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ มีแบบแผนตายตัว ไม่ยืดหยุ่น
อูยองอูมีความบกพร่องในการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เธอขาดทักษะทางสังคมที่เหมาะสม แสดงออกไม่ถูกกาลเทศะ เช่น คิดจะพูดก็พูดโพล่งออกมาแบบไม่รู้จังหวะจะโคน พูดจาตรงไปตรงมาแบบไม่รักษาน้ำใจ หรือทำให้คู่สนทนาไม่พอใจได้โดยไม่รู้ตัว แต่ก็มีความจริงใจ ไม่เสแสร้ง เธอไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า อะไรเป็นมุกตลกหรืออะไรคือการประชดประชัน ในซีรีย์ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่ในชีวิตจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ กลายเป็นตัวตลกของเพื่อน มักถูกเอาเปรียบประจำ หรือถูกบูลลี่ เธอยังมีความยากลำบากในการมองหน้าสบตาขณะพูดคุยด้วย
อูยองอูมีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ เธอหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่สนใจ พูดถึงแต่สิ่งที่ตนเองสนใจมาก ๆ 2 อย่าง คือ วาฬ และกฎหมาย เธอรู้จักรายละเอียดของวาฬทุกสายพันธุ์ เท่า ๆ กับรายละเอียดของตัวบทกฎหมายที่เธอได้อ่าน
เธอชอบรับประทานอาหารเมนูเดิม ๆ คือ คิมบับ มักยึดถือในกฎที่เคยถูกสอนมาอย่างตายตัว ไม่ยืดหยุ่น จัดเรียงทุกอย่างเป็นระเบียบ โดยเฉพาะกองเอกสารที่จะต้องจัดขอบกระดาษให้ตรงกันเป๊ะ เสื้อผ้าก็แขวนเรียงตามเฉดสี ของวางผิดที่ผิดทางสลับตำแหน่งก็ไม่ได้
เธอจะมีแบบแผนพฤติกรรมที่ตายตัว (ritualized pattern of behaviors) เช่น การแนะนำตัวเอง โดยเฉพาะชื่อที่อ่านจากหน้าไปหลัง หรือหลังไปหน้าก็คืออูยองอูเหมือนกัน พร้อมยกตัวอย่างในประโยคเดิมทุกครั้ง และยังมีแบบแผนตายตัวในการเคาะประตูเป็นจังหวะเดิมก่อนเข้าห้อง
ระบบประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติหรือช้ากว่าปกติ ก็เป็นอีกปัญหาที่พบได้บ่อยในออทิสติก แสดงออกโดยการอุดหู หรือชอบจ้องมองสิ่งของหมุน ๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในออทิสติก ในซีรีย์ชุดนี้ อูยองอูก็มีอาการดังกล่าวเช่นกัน เธอต้องใส่หูฟังอยู่บ่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ เธอไม่สามารถทนต่อเสียงเครื่องตัดหญ้า หรือเสียงทะเลาะวิวาทได้ ต้องเอามืออุดหู อาการที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ อูยองอูมีความไวต่อสัมผัสทางร่างกายมาก เธอจึงไม่ชอบให้ใครกอด จะมีอาการตัวเกร็ง และรู้สึกอึดอัดมาก แม้แต่การจับมือทักทาย เธอยังแค่แตะ ๆ มือเท่านั้น เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ก็ต้องไม่มีเศษด้าย หรือป้ายยี่ห้อให้รู้สึกระคายเคืองร่างกาย
ในวัยเด็ก เธอไม่พูดเลยจนถึงอายุ 5 ขวบ แต่พอเริ่มพูดก็พูดเป็นประโยคยาว ซึ่งในเคสจริงก็พบลักษณะนี้ได้เช่นกัน เริ่มต้นพูดช้า แต่พอพูดแล้วสามารถพัฒนาด้านภาษาได้เร็ว ปัญหาหลักคือเด็กไม่สนใจที่จะพูดหรือสื่อสาร ไม่ใช่พูดไม่ได้ แต่เมื่อเริ่มที่จะสื่อสารด้วยคำพูดแล้วก็จะพัฒนาได้เร็ว
อูยองอูยังมีปัญหาด้านการประสานการทำงานของการเคลื่อนไหวร่างกาย (motor coordination) โดยเธอจะเคลื่อนไหวในลักษณะงุ่มง่ามไม่คล่องแคล่ว กะระยะและทิศทางไม่ค่อยดี ทำให้เธอมีความลำบากในการเดินเข้าประตูหมุนของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในออทิสติกเช่นกัน
ในด้านความสามารถในการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เธอทำได้ดี สามารถสื่อสาร และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ทำงานได้ และปรับตัวอยู่ในสังคมได้ดีพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ออทิสติกยังคงเป็นผู้ที่ต้องการการดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในบางเรื่องอยู่ หรือควรมีผู้ให้การปรึกษาเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถึงจะใช้ชีวิตได้อย่างอิสระแล้วก็ตามที วัยที่เติบโตขึ้นปัญหาการปรับตัวกับเรื่องใหม่ ๆ ก็มักตามมาเช่นเดียวกัน เป็นเหตุผลที่บุคคลออทิสติกยังคงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ต่อเนื่องจากเล็กจนโต ยิ่งได้รับการดูแลเร็วและต่อเนื่อง ผลลัพธ์ก็ยิ่งดีเช่นเดียวกัน
ซีรีย์เกี่ยวกับออทิสติกในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็น Good Doctor, Move to Heaven หรือ Extraordinary Attorney Woo ต่างจากภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน (Rain man) ซึ่งเคยโด่งดังเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ทั้งที่นำเสนอความเป็นออทิสติกอัจฉริยะเช่นเดียวกัน แต่เรนแมนสะท้อนมุมมองและแนวคิดด้านสุขภาพจิตในยุค 3 ทศวรรษก่อน ที่เชื่อว่า การดูแลโดยสถาบันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้ออทิสติกได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง ได้ทำงานโรงงานในอารักษ์ ภายใต้การดูแลของสถาบันทั้งหมด ในขณะที่ปัจจุบัน มุมมองและแนวคิดด้านสุขภาพจิตเปลี่ยนแปลงไปมาก เน้นการคืนออทิสติกให้กับครอบครัวและชุมชนเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง (Independent Living) โดยความเกื้อกูลของชุมชนและสังคม ภายใต้แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่ใช่การสงสารหรือสงเคราะห์อีกต่อไป
สิ่งที่ยังเปลี่ยนแปลงไปไม่มาก คือ ความเข้าใจและเจตคติของผู้คนรอบข้างที่มีต่อผู้ที่เป็นออทิสติก ในภาพยนตร์ก็ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายังไม่เข้าใจ ยังไม่ยอมรับ ต้องรอการพิสูจน์ตัวเองของผู้ที่เป็นออทิสติกมากกว่าคนอื่น ๆ ในซีรีย์ได้รับการยอมรับเพราะความเป็นอัจฉริยะ ความสามารถที่โดดเด่น และความเป็นทนายความ แล้วในโลกความเป็นจริง ถ้าเป็นออทิสติกที่มีความสามารถเท่ากับคนรอบข้างหรือน้อยกว่าจะได้รับการยอมรับไหม ทุกคนจะสามารถมองข้ามความเป็นออทิสติกได้ไหม อาจไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความสามารถด้วยซ้ำ
เมื่อย้อนมอง ก็จะคงคล้าย ๆ กับสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน ที่มีบุคคลออทิสติกเข้าทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีทั้งที่เขาบอกเองว่าเป็นออทิสติก หรือเป็นออทิสติกแต่ไม่ได้บอกใคร จนถึงไม่เคยรู้ว่าตนเองเป็นออทิสติก บางคนมีปัญหาการปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน อ่านบทความจนสงสัยว่าตนเองเป็นออทิสติก แล้วมาขอพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการปรึกษาเอง ก็เคยพบมาแล้ว
ถึงจะเป็นออทิสติก แต่ก็มีความรู้ ความสามารถในการทำงาน อาจมีปัญหาเรื่องทักษะทางสังคมและบุคลิกภาพบ้าง บางครั้งทำอะไรหรือพูดอะไรที่ไม่ถูกกาลเทศะไปบ้าง แต่ถ้าทุกคนพยายามเข้าใจ และเรียนรู้ความเป็นออทิสติกไป ก็สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เราจะมีเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมสังคม ที่เป็นออทิสติกอย่างไม่มีการแบ่งแยก
เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (mental health literacy) ให้กับประชาชน ผ่านตัวละครที่มีปัญหาสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ “ออทิสติก” เป็นหนึ่งในความสำเร็จเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่าออทิสติกก็มีความสามารถที่หลากหลาย ประกอบอาชีพได้หลากหลายอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เพียงได้รับโอกาส และการสนับสนุนจากครอบครัวและผู้คนรอบข้าง จากงานวิจัย พบว่าคุณภาพชีวิตของกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัวและชุมชน มากกว่าระดับของอาการที่มี
ออทิสติกในเกาหลีใต้มีจำนวนสูงขึ้น สวนทางกับเด็กเกิดใหม่ที่จำนวนลดลง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่พบเหมือนกันทั่วโลกเช่นเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกาพบออทิสติกเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 0.64 ในปี พ.ศ. 2545 เป็นร้อยละ 2.3 ในปี พ.ศ. 2561 และผลการทบทวนงานวิจัยล่าสุด ในปี พ.ศ. 2565 จาก 34 ประเทศ รอบ 10 ปี พบออทิสติกร้อยละ 1.0 (ค่ามัธยฐาน) โดยพบสูงขึ้นในแต่ละปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และให้โอกาสพวกเขาในการพัฒนาศักยภาพ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2549). Rain Man จากเรนแมนสู่ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au23-rainman.htm
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au51-good-doctor.html
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติ. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (ตอนที่ 61 ก); หน้า 8-24.
American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2021). Prevalence and Characteristics of Autism Spectrum Disorder Among Children Aged 8 Years - Autism and Developmental Disabilities Monitoring Network, 11 Sites, United States, 2018. MMWR Surveill Summ, 70(11): 1–20.
Zeidan, J., Fombonne, E., Scorah, J., Ibrahim, A., Durkin, M. S., Saxena, S., Yusuf, A., Shi, A. & Elsabbagh, M. (2022). Global prevalence of autism: A systematic review update. Autism Research, 15: 778–790.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au53-attorney-woo.html
(บทความต้นฉบับ: สิงหาคม 2565)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)