HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

autistic

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ลิงก็เป็นออทิสติกได้ อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วในห้องวิจัยมาระยะหนึ่ง โดยนักวิจัยได้ทำการตัดต่อพันธุกรรมของลิงสายพันธุ์แม็กแคก (Macaque) ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน SHANK3 (SH3 and ankyrin repeat domains 3) ซึ่งพบได้ในโรค Phelan-McDermid Syndrome และเป็นยีนที่มีความเชื่อมโยงกับออทิสติกสูง (ออทิสติกประมาณร้อยละ 2 พบการกลายพันธุ์ของยีน SHANK3)

หัวหน้าทีมวิจัยคือ Yong Zhang ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์และชีววิทยาพัฒนาการ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ในปักกิ่ง (Chinese Academy of Sciences) มีเป้าหมายหลักเพื่อทดสอบผลของการใช้ยาในออทิสติก ถ้าได้ผลในลิงจึงค่อยนำมาทดลองในคนต่อไป และมี Guoping Feng ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เป็นหัวหน้าทีมร่วมในอีกหน่วยวิจัย

ลิงตัวแรกที่มีการกลายพันธุ์ของยีน SHANK3 เกิดในปี พ.ศ. 2558 พบว่า ลิงแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ คือ ปีนผนังกรงขึ้นหลังคาและวนลงมาอีกด้านของกรง วนซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ แสดงพฤติกรรมที่ไม่มีความหมายซ้ำ ๆ เขย่าตัวเอง ในขณะที่กลุ่มควบคุมจะสำรวจกรงและเล่นลูกบอล เมื่อปล่อยลิงอีกตัวเข้าไปอยู่ด้วย มันจะปีนขึ้นบนหลังคาและยกหางชี้ แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลชัดเจน

นักวิจัยยังได้ทดสอบการใช้ยา Fluoxetine 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่า ช่วยลดความผิดปกติของพฤติกรรมในลิงลงได้ โดยพฤติกรรมวนรอบกรงซ้ำ ๆ ลดลง ร้อยละ 86 และมีสังคมเพิ่มขึ้น 15 เท่า และผลแสกนสมองยังพบว่าลดความผิดปกติของการทำงานเชื่อมโยงของสมองส่วนต่าง ๆ ด้วย เมื่อหมดฤทธิ์ยา ลิงก็กลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเดิม

Autistic Monkey

ในอีกหน่วยวิจัย ลิงเจนเนอเรชันแรก เกิดในปี พ.ศ. 2558 เช่นกัน เป็นลิงตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 1 ตัว แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะบางอย่างของออทิสติก สังเกตพฤติกรรมเมื่ออายุ 11 เดือน พบว่า มีความกระตือรือร้นน้อยกว่าลิงกลุ่มควบคุม ไม่มีสังคมกับลิงตัวอื่นที่อยู่ในกรง มักแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ บางตัวพลิกไปมาในกรง บางตัวกัดกรง หรือเลียนิ้วซ้ำ ๆ และยังมีปัญหาในการนอนหลับ ใช้เวลานานกว่าจะหลับและตื่นบ่อย

ส่วนลิงเจนเนอเรชัน 2 ใช้ศึกษาว่า ยีนจากพ่อแม่เกี่ยวข้องกับการส่งต่ออาการออทิสติกไปยังลูกได้หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการวิจัย ยังไม่มีรายละเอียดของผลการศึกษา

นักวิจัยยังได้สแกนสมองของลิงเพื่อวัดความเชื่อมโยงของสมองส่วนต่าง ๆ (brain connectivity) พบว่า มีการเชื่อมต่อที่ต่ำผิดปกติในวงจรระหว่างสมองส่วน thalamus และ striatum และมีการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นในสมองส่วน somatosensory cortex ซึ่งประมวลผลสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส พบว่าผู้ป่วยออทิสติกบางคนแสดงรูปแบบการเชื่อมต่อคล้ายคลึงกัน

Michael Platt ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ศึกษาฝูงลิงในเกาะ Cayo Santiago ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ในประเทศเปอร์โตริโก้ (Puerto Rico) พบว่า ลิงที่มีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของยีน SHANK3 มีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ปกติเมื่ออยู่ในฝูงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ Yongchang Chen ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุนหมิง ได้ตีพิมพ์อีกผลการศึกษาวิจัยในลิง 5 ตัว ที่มีการตัดต่อพันธุกรรมจนมีการกลายพันธุ์ของยีน MeCP2 ซึ่งพบได้ในเร็ตต์ซินโดรม (Rett syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีอาการคล้ายออทิสติก เคยจัดเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของออทิสติกด้วย พบว่าลิงมีลักษณะทางสรีรวิทยา และพฤติกรรมคล้ายกับผู้ป่วยเร็ตต์ซินโดรม และพบว่าตัวผู้เสียตั้งแต่เป็นเอ็มบริโอ เหลือรอดแต่ตัวเมียเท่านั้น

การทดลองในลิง ทำให้สังเกตพฤติกรรมที่ใกล้เคียงมนุษย์ได้ดีกว่าการทดลองในหนู เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรค และพัฒนาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม แต่ก็ยังมีประเด็นในเรื่องจริยธรรมในการวิจัยอยู่

Autistic Monkey

 

เอกสารอ้างอิง

Chen Y, Yu J, Niu Y, Qui D, Liu H, Li G. et al. (2017). Modeling Rett Syndrome Using TALEN-Edited MECP2 Mutant Cynomolgus Monkeys. Cell. 169(5): 945-955

Platt ML, Seyfarth RM & Cheney DL. (2016). Adaptations for social cognition in the primate brain. Phil. Trans. R. Soc. Lond. B. 371.

Tu Z, Zhao H, Li B, Yan S, Wang L, Tang Y. et al. (2019). CRISPR/Cas9-mediated disruption of SHANK3 in monkey leads to drug-treatable autism-like symptoms. Hum. Mol. Genet. 28(4): 561-571

Wright J (2017). Monkey model reveals new role for top autism gene. [Online]. Available URL: https://www.spectrumnews.org/news/monkey-model-reveals-new-role-top-autism-gene/

Wright J (2018). Monkey with mutation in top autism gene shows social problems. [Online]. Available URL: https://www.spectrumnews.org/news/monkey-mutation-top-autism-gene-shows-social-problems/

Wright J (2019). Monkeys with autism mutation show condition’s key trait. [Online]. Available URL: https://www.spectrumnews.org/news/monkeys-autism-mutation-show-conditions-key-traits/

Zhou Y. Sharma J, Ke Q, Landman R, Yuan J, Chen H. et al. (2019). Atypical behaviour and connectivity in SHANK3-mutant macaques. Nature. 570: 326–31.

Zhao H, Jiang YH, Yong Q Zhang YQ. (2018). Modeling autism in non-human primates: Opportunities and challenges. Autism Res, 11(5): 686-94.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ลิงก็เป็นออทิสติกได้. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au81-autistic-monkey.html

(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »