ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การคัดกรองปัญหาการเรียน
Screening for Learning Problem
การคัดกรองปัญหาการเรียน
งานสุขภาพจิตโรงเรียน เน้นงานเชิงรุกเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันโรคทางจิตเวชเด็ก ช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
การคัดกรอง (Screening) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถค้นหาปัญหาและช่วยแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เป็นกิจกรรมแรกที่ควรลงมือปฏิบัติ
การคัดกรองปัญหาการเรียนในเด็ก ทำเพื่อแยกเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย หลังจากนั้นให้วางแผนการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม เด็กกลุ่มปกติเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิต เด็กกลุ่มเสี่ยงเน้นการดูแลช่วยเหลือแต่เริ่มแรก สอนเสริมในความรู้และทักษะด้านที่เป็นปัญหา และเด็กกลุ่มป่วย เน้นการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและอาการของโรค
การคัดกรองสามารถทำได้ทั้งที่ไม่เป็นรูปแบบ และเป็นรูปแบบ หรือทำควบคู่กัน
การคัดกรองที่ไม่เป็นรูปแบบ คือ ให้ครูสังเกตพฤติกรรมเด็กในห้องเรียน ว่ามีความยากลำบากในการเรียนอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับเพื่อนในห้องเดียวกัน เช่น จดงานไม่เสร็จ เขียนสะกดผิดมาก ลายมืออ่านไม่ออก นั่งคุย ไม่สนใจเรียน อ่านหนังสือไม่คล่อง ไม่ส่งงาน และดูว่าผลการเรียนต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริงที่สังเกตเห็นหรือไม่ เช่น เวลาพูดคุยดูฉลาดคล่องแคล่ว มีไหวพริบแก้ปัญหาดี แต่ผลการเรียนต่ำ
การคัดกรองที่เป็นรูปแบบ คือ การใช้แบบคัดกรองต่างๆ ในการคัดกรองปัญหาการเรียน อาจเป็นชุดเดียวหรือหลายชุดก็ได้ มีทั้งแบบให้เด็กประเมินตนเอง ให้ครูประเมิน และให้ผู้ปกครองประเมิน
เมื่อคัดกรองแล้วห้ามสรุปว่าเด็กเป็นอะไร ต้องส่งตรวจประเมินเพิ่มเติมในเด็กกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยต่อไป แต่ในระหว่างรอส่งต่อ สามารถให้การดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นได้เลย เพื่อมิให้เกิดความล่าช้า และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
แบบคัดกรองปัญหาการเรียน
แบบคัดกรองที่ใช้อยู่ในระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุข ในปัจจุบันมีหลายชนิด มีทั้งที่คัดกรองปัญหาการเรียนและปัญหาอื่นร่วมกัน คัดกรองปัญหาการเรียนทั้งหมดในภาพรวม และคัดกรองปัญหาการเรียนเฉพาะโรค ได้แก่
1. แบบประเมินพฤติกรรมเด็ก SDQ
(The Strengths and Difficulties Questionnaire)
นำมาใช้คัดกรองพฤติกรรมในเด็กอายุ 4-16 ปี ประกอบด้วยแบบประเมิน 3 ชุด สำหรับครู สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และสำหรับเด็กประเมินตนเอง (เฉพาะเด็กโต อายุ 11-16 ปี)
ประกอบด้วยข้อคำถาม 25 ข้อ ซึ่งมีลักษณะของพฤติกรรมด้านบวกและด้านลบ จัดเป็นกลุ่มพฤติกรรม 5 ด้าน ด้านที่เป็นปัญหา 4 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ด้านอยู่ไม่นิ่ง ด้านเกเร ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน และด้านที่เป็นจุดแข็ง 1 ด้าน คือ สัมพันธภาพทางสังคม
2. แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม
KUS-SI Rating Scales: ADHD/LD/Autism(PDDs)
นำมาใช้คัดกรองเด็กนักเรียนอายุ 6-13 ปี ในโรงเรียน โดยคัดกรอง 3 ปัญหาที่พบได้บ่อย คือ สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ (แอลดี) และออทิซึม (ออทิสติก) ใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที ประกอบด้วยแบบประเมิน 5 ด้าน รวม 130 ข้อ ดังนี้
1. สมาธิสั้น 30 ข้อ
2. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่าน 20 ข้อ
3. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการเขียน 20 ข้อ
4. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านคำนวณ 20 ข้อ
5. ออทิซึม 40 ข้อ
3. แบบคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นำมาใช้ในกรณีที่เด็กยังไม่มีใบรับรองความพิการ บัตรประจำตัวคนพิการ หรือใบรับรองแพทย์ ที่ระบุถึงความบกพร่องหรือความพิการ เป็นการคัดกรองเบื้องต้น
ประกอบด้วยแบบคัดกรอง จำนวน 8 ชุด สำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ 8 ด้าน (ไม่มีชุดสำหรับประเภทพิการซ้อน ซึ่งก็คือความบกพร่องมากกว่า 1 ด้าน) ดังนี้
1. ความบกพร่องทางการเห็น (จำนวน 10 ข้อ)
2. ความบกพร่องทางการได้ยิน (จำนวน 9 ข้อ)
3. ความบกพร่องทางสติปัญญา (จำนวน 20 ข้อ)
4. ความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ (จำนวน 11 ข้อ)
5. ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (มี 2 ฉบับ คือ ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา แต่ละฉบับมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จำนวน 3 ข้อ ส่วนที่ 2 จำนวน 30 ข้อ)
6. ความบกพร่องทางการพูดและภาษา (จำนวน 10 ข้อ)
7. ความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ (จำนวน 18 ข้อ)
8. ออทิสติก (จำนวน 18 ข้อ)
ผู้ทำการคัดกรองต้องผ่านการอบรมวิธีการใช้ และการประเมิน ตามแบบคัดกรองนี้ และควรมีอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด เช่น ผู้ปกครองหรือครู เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง แบบคัดกรองฉบับนี้เป็นแบบคัดกรองเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาเท่านั้น
4. แบบประเมินพฤติกรรม SNAP-IV (Short Form)
(The Swanson, Nolan and Pelham IV Rating Scale)
นำมาใช้คัดกรองเด็กอายุ 6-18 ปี ประกอบด้วยแบบประเมิน 2 ชุด สำหรับครู และสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ใช้คัดกรองเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคสมาธิสั้น และดื้อต่อต้าน ในคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น สามารถใช้ประเมินอาการ ความรุนแรง และประสิทธิภาพของการรักษา
ประกอบด้วยข้อคำถาม 26 ข้อ เป็นฉบับย่อ (Short Form) จัดเป็นกลุ่มอาการ 3 ด้าน คือ อาการขาดสมาธิ อาการซน อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และอาการดื้อต่อต้าน
5. แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ ช่วงอายุ 4-18 ปี
(Pervasive Developmental Disorders Screening Questionnaire)
นำมาใช้คัดกรองเด็กอายุ 4-18 ปี ประกอบด้วยแบบประเมินสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ใช้คัดกรองเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคออทิสติก
ประกอบด้วยข้อคำถาม 25 ข้อ ประเมินลักษณะหรือพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกบ่อยๆ ทำเครื่องหมายลงในช่อง “ใช่/ทำ บ่อยๆ” หรือ “ไม่ใช่/ไม่ค่อยทำ” หากได้คะแนนรวมตั้งแต่ 13 คะแนนขึ้นไป ถือว่าเสี่ยงที่จะเป็นออทิสติก
6. แบบสังเกตพฤติกรรม สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะบกพร่องของทักษะการเรียน โรคสมาธิสั้น และกลุ่มอาการออทิซึม
นำมาใช้คัดกรองปัญหาการเรียน 4 กลุ่มหลักที่พบได้บ่อยในโรงเรียน คือ เด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะบกพร่องของทักษะการเรียน (แอลดี) โรคสมาธิสั้น และออทิซึม (ออทิสติก) คัดกรองเด็ก ช่วงอายุ 6-12 ปี สามารถนำไปใช้เป็นแบบคัดกรองเบื้องต้นอย่างง่ายได้
ประกอบด้วยข้อคำถาม 4 ตอน ๆ ละ 10 ข้อ รวมทั้งหมด 40 ข้อ ตัดเกณฑ์ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 6 คะแนน ในแต่ละกลุ่ม ถือว่ามีความเสี่ยง ควรมีการคัดกรองเฉพาะสำหรับปัญหานั้นเพิ่มเติมต่อไป
7. แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก TYC (Thai Youth Checklist)
นำมาใช้ประเมินปัญหาพฤติกรรมและปัญหาทางอารมณ์ของวัยรุ่นอย่างละเอียด ประกอบด้วยแบบสำรวจ 2 ชุด สำหรับครู และสำหรับผู้ปกครอง
แบบสำรวจประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อมูลพื้นฐานและหัวข้อพฤติกรรมที่สำรวจ จำนวน 141 ข้อ จัดเป็นกลุ่มปัญหาพฤติกรรมและปัญหาอารมณ์ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาที่แสดงถึงการเก็บกด ความวิตกกังวล หรือความขัดแย้งภายในจิตใจ (Internalizing Problems Behavior) กับปัญหาที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ขาดการควบคุม (Externalizing Problems Behavior)
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: พรอสเพอรัสพลัส.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). ปัญหาการเรียน. [Online]. Available URL: http://www.happyhomeclinic.com/lp02-screening.html
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก
กลุ่มปัญหาการเรียน
กลุ่มปัญหาการเรียน
ปัญหาการเรียน
· ปัญหาการเรียน
· การคัดกรองปัญหาการเรียน
การดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน
· สมาธิสั้น
· แอลดี
· ออทิสติก
· บกพร่องทางสติปัญญา
· เรียนรู้ช้า