ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
อัจฉริยะกับออทิสติก
Genius & Autism
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก”เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ”อะไรคือความแตกต่าง
ผู้ที่เป็นอัจฉริยะอาจมีความผิดปกติในบางเรื่อง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีความผิดปกติก็อาจมีความเป็นอัจฉริยะในบางเรื่องได้เช่นเดียวกัน
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้มีความสามารถเป็นเลิศ ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นอัจฉริยะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มักมีการตั้งคำถามเสมอ ถึงความผิดปกติที่มีในตัวเขา เนื่องจากเขาพูดได้ตอนอายุ 3 ปี เขียนหนังสือ สะกดคำไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยใส่ใจในบุคลิกภาพของตนเอง การที่เขาผมเผ้ายุ่งเหยิง ไม่ตัดผม ก็ไม่ใช่สไตล์ หรือแฟชั่น ของการไว้ทรงผมในช่วงยุคสมัยนั้น
ในอดีต Thomas Sowell (2001) เคยมีการเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการในกลุ่มเด็กอัจฉริยะที่พูดช้าว่า “ไอน์สไตน์ซินโดรม” (Einstein syndrome) ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นก็มักมีพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้น เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่ออทิสติก ในปัจจุบันคำนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้แล้ว
เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง “เรนแมน” (Rain Man) ภาพยนตร์ฮอลลีวูด 4 รางวัลออสการ์ ในปี พ.ศ. 2531 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของอัจฉริยะผู้ที่เป็นโรคออทิสติก ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักและจดจำ โดยสร้างจากข้อมูลจริงของอัจฉริยะออทิสติกหลาย ๆ คน ที่มีความสามารถพิเศษหลากหลายด้าน มารวมอยู่ในตัวเอกเพียงคนเดียว
ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นอัจฉริยะกับความผิดปกติ มักมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย จนในบางครั้งแยกจากกันไม่ออก “เส้นแบ่งระหว่างความเป็นอัจฉริยะ กับความผิดปกติอยู่ตรงไหน” อาจเป็นคำถามที่ตอบยาก และในบางครั้งอาจไม่มีคำตอบ
จากสถิติพบว่า บุคคลออทิสติก เกือบร้อยละ 10 มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว เรียกกลุ่มนี้ว่า “ออทิสติกซาวองต์” (autistic savant) อาจเป็นความอัจฉริยะเฉพาะด้าน หรือหลายด้านพร้อมกันก็ได้ อาจเป็นอัจฉริยะในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ฯลฯ บางคนอาจแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เด็ก บางคนก็รอจังหวะเวลาและโอกาสในการแสดงออก และในขณะเดียวกัน หลาย ๆ คนไม่มีแม้แต่โอกาสด้วยซ้ำ
แต่เมื่อถูกระบุว่าเป็นออทิสติกแล้ว บางครั้งความเป็นอัจฉริยะจะถูกมองข้ามไป ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากเราไปให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความเป็นอัจฉริยะ ไปมุ่งเน้นการแก้ไขความผิดปกติ จนลืมส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะ
เมื่อเด็กออทิสติกได้รับการแก้ไขความบกพร่อง สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกแนะนำให้แก้ไขด้วย คือการลดความหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่มากเกินไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง ความหมกมุ่นในบางเรื่องนำมาซึ่งความรู้จริงในเชิงลึก ความรอบรู้ในเรื่องนั้น ๆ ได้เช่นกัน
รายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ “แฟนพันธุ์แท้” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนเรามีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ก็จะเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นได้
ดังนั้นแนวทางการแก้ไขความหมกมุ่น ไม่ใช่การห้าม งดทำ หรือเบี่ยงเบนเท่านั้น แต่ควรเน้นการขยายขอบเขตความสนใจในเรื่องเดิมให้กว้างขึ้น ให้มีมิติ มุมมองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ก็สามารถช่วยลดความหมกมุ่น โดยไม่ปิดกั้นความสนใจได้เช่นกัน
เด็กบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากทำให้เกิดความหมกมุ่น และไม่ช่วยส่งเสริมในด้านทักษะสังคม ซึ่งบางครั้งการปฏิบัติเช่นนี้อาจไปทำลายโอกาส ทำลายสิ่งที่มีความหมายสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาก็ได้ เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า และมีความหมาย คือการได้ทำงานที่ตอบสนองต่อความพึงพอใจ และความสามารถทางสติปัญญาของเขาเอง การห้ามอาจไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง แต่ควรเป็นการส่งเสริมการใช้อย่างสร้างสรรค์ และมีวินัยกำกับควบคู่ไปด้วย
“เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก” กับ “เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ” อะไรคือความแตกต่าง เป็นคำถามที่อาจทำให้เกิดความสงสัยว่าถามทำไม เนื่องจากไม่มีความแตกต่างอะไรในสิ่งที่เห็น เพียงแค่เรียกสลับตำแหน่งกันเท่านั้น แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ แตกต่างในความรู้สึก ความรู้สึกที่จะนำมาซึ่งการยอมรับหรือการปฏิเสธ การให้โอกาส หรือการปิดโอกาส ความรู้สึกที่สามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กได้ทั้งชีวิต
ในปัจจุบันเรามักเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลำดับความสำคัญที่ให้กับความผิดปกติ ความบกพร่อง ก่อนความสามารถในระดับอัจฉริยะที่เด็กมี เมื่อเด็กถูกมองว่าผิดปกติ เขาก็อาจขาดโอกาสในการพัฒนาที่เด็กอัจฉริยะควรจะได้รับ เพราะสิ่งที่เขามีถูกบดบังและมองข้ามไป
ในทางกลับกัน ถ้าเขาถูกเรียกว่า “เด็กอัจฉริยะ ที่เป็นออทิสติก” อาจสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกคนจะเห็นความสามารถในระดับอัจฉริยะของเขาก่อน การยอมรับก็เกิดขึ้น โอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้และพัฒนาก็เพิ่มขึ้น ส่วนความผิดปกติที่มีก็ได้รับการแก้ไข บนฐานคิดที่ว่า “แก้ไขเพื่อดึงความสามารถที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เต็มที่ เต็มตามศักยภาพ ไม่ใช่แก้ไขเพื่อลดความผิดปกติเท่านั้น” และผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาทักษะด้านสังคมก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องเป็นฝ่ายที่ปรับตัวเข้าหาสังคมเพียงด้านเดียว แต่สังคมก็พยายามปรับตัวเข้าหาพวกเขาด้วยเช่นกัน เป็นการพบกันครึ่งทาง
ในการวินิจฉัยทางการแพทย์ ยังต้องวินิจฉัยโรคก่อน แล้วตามอาการหรือโรคที่พบร่วมด้วย แต่นั่นคือกฎเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เน้นระบุปัญหาเพื่อการบำบัดรักษา แต่ในมุมมองของการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เราไม่จำเป็นต้องเรียกขานเช่นนั้นเสมอไป
เอกสารอ้างอิง
Bennett S. (2005). Intriguing connections between giftedness and autism, music and language. [Online]. Available URL: http://autismcoach.com/gifted_with_learning_disabilitie.htm
Clark T. (2002). The application of savant and splinter skills in the autistic population through an educational curriculum. [Online]. Available URL: http://www.wisconsinmedicalsociety.org/savant/splinterskill.cfm
Edelson SM. (2005). Autistic savant. [Online]. Available URL: http://www.autism.org/savant.html
Grandin T. (2005). Genius may be an abnormality: educating students with asperger's syndrome, or high functioning autism. [Online]. Available URL: http://www.autism.org/temple/genius.html
Sowell T. (2001). The Einstein syndrome: bright children who talk late. New York: Basic books.
Treffert D. (2005). The autistic savant. [Online]. Available URL: http://www.wisconsinmedicalsociety.org/savant/savantsyndrome.cfm
Treffert D. (2021). Savant syndrome: FAQs. [Online]. Available URL: http://www.agnesian.com/page/savant-syndrome-faqs
Winner E. (2006). Uncommon talents: gifted children, prodigies and savants. In: Scientific American exclusive online issue: uncommon genius. 31: 21-4.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). อัจฉริยะกับออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/savant01-genius-autism.html
(บทความต้นฉบับ: มกราคม 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
· ระดับความรุนแรงของออทิสติก
· ระดับไอคิวของออทิสติก
· ประเภทของออทิสติก
· ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
· ออทิสติก เกิดจากอะไร
· ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
· ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก