ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
Autistic Savant & Assessment
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การบ่งบอกว่าเป็นอัจฉริยะออทิสติกหรือไม่ ยังไม่มีแบบทดสอบที่จำเพาะเจาะจง มักใช้ความรู้สึกรับรู้เป็นหลัก กล่าวคือ มีความสามารถเฉพาะด้านโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับ หรือมีความมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะพบเห็นได้โดยทั่วไป การสำรวจว่ามีจำนวนอัจฉริยะออทิสติกมากน้อยแค่ไหน ก็มักใช้รายงานการรับรู้จากผู้ปกครองเป็นหลัก
การประเมินความเป็นอัจฉริยะ หรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้านในกลุ่มออทิสติก ประเมินได้จากการทดสอบระดับเชาวน์ปัญญา และการประเมินความสามารถเฉพาะในแต่ละด้าน การประเมินดังกล่าวช่วยในการวางแนวทางการส่งเสริมพัฒนาที่เหมาะสมต่อไป ควบคู่ไปกับการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่
การทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน เป็นการเปรียบเทียบกับระดับเชาวน์ปัญญากับวัยเดียวกัน คำนวณออกมาเป็นค่าตัวเลขที่เรามักเรียกย่อ ๆ กันว่า ไอคิว (IQ) มักใช้เกณฑ์ระดับอัจฉริยะ (genius) ที่ ค่าไอคิวตั้งแต่ 140 ขึ้นไป แต่ทั้งที่ขึ้นอยู่กับแบบทดสอบที่นำมาใช้ด้วย ในเด็กทั่วไป พบไอคิวระดับอัจฉริยะได้ร้อยละ 0.4 (1 ใน 250 คน)
สำหรับในกลุ่มออทิสติก ค่าไอคิวที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านภาษา ด้านพฤติกรรม และความร่วมมือในการทดสอบ จึงพบไอคิวระดับอัจฉริยะจากการทดสอบได้น้อยกว่าที่ควรจะมี
พบว่าเมื่อนำผู้ที่เป็นอัจฉริยะออทิสติก มาทดสอบระดับเชาวน์ปัญญา ก็จะพบค่าไอคิวได้ตั้งแต่บกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรง จนถึงระดับอัจฉริยะ ประมาณการค่าไอคิวเฉลี่ยในกลุ่มอัจฉริยออทิสติก เท่ากับ 71 (ช่วง 40-99) โดยมีค่าไอคิวด้านภาษา (verbal IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 77 (ช่วง 52–114) และค่าไอคิวด้านที่ไม่ใช่ภาษา (non-verbal IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 75 (ช่วง 47–92) และพบว่าค่าไอคิวเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มออทิสติกที่ไม่มีความสามารถพิเศษ
การทดสอบระดับเชาวน์ปัญญายังไม่สามารถวัดมิติด้านอื่น ๆ ของปัญญาหรือความสามารถ เช่น ด้านดนตรี ด้านศิลปะ ฯลฯ จึงจำเป็นต้องประเมินความสามารถพิเศษเฉพาะด้านด้วย โดยหลักทั่วไปจะประเมินว่ามีความสามารถด้านนั้นโดดเด่นกว่าเด็กวัยเดียวกัน อย่างน้อย 2 ระดับชั้นเรียน หรืออาศัยจากความเห็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ เป็นหลัก
ความสามารถเฉพาะด้านของออทิสติก พบได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความจำ การคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ ทักษะกลไก ฯลฯ กรอบที่นำมาใช้พิจารณาความสามารถเฉพาะด้าน จึงต้องอ้างอิงจากแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เช่น การแบ่งตามแนวคิดในหนังสือ “Islands of genius” ของ ดร. เทรฟเฟิร์ต (Darold Treffert) ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของ ดร. การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2532 ดร. เทรฟเฟิร์ต (Darold Treffert) ได้แบ่งความสามารถพิเศษเฉพาะด้านในซาวองต์ซินโดรม ตามแนวคิดในหนังสือ “Islands of genius” ออกเป็น 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย
1. ดนตรี (music)
2. ศิลปะ (art)
3. คณิตศาสตร์ (Mathematics)
4. การคำนวณปฏิทิน (calendar calculating)
5. ทักษะกลไก มิติสัมพันธ์ (mechanical and spatial skills)
ในปี พ.ศ. 2526 ดร. การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้เสนอ “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) จากเริ่มแรกเสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน จนในปัจจุบันแบ่งเพิ่มเป็น 9 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
9. ปัญญาด้านการดำรงชีวิต (Existential Intelligence)
ทฤษฎีของการ์ดเนอร์ มีความน่าสนใจ แต่ยังไม่เคยนำมาใช้กับการประเมินความสามารถเฉพาะด้านของออทิสติกโดยตรง
การประเมินความเป็นอัจฉริยะ หรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้านในกลุ่มออทิสติกยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (มีนาคม 2549). พหุปัญญา อัจฉริยภาพหลากหลายมิติที่น่าค้นหา. UPDATE. 21(222): 63-64.
Cherry K. (2021). Gardner's theory of multiple intelligences. [Online]. Available URL: https://www.verywellmind.com/gardners-theory-of-multiple-intelligences-2795161
Gardner H. (2011). Frames of mind: the theory of multiple intelligences. (10th anniversary ed.) New York: Basic Books.
Howlin P, Goode S, Hutton J and Rutter M. (2009). Savant skills in autism: psychometric approaches and parental reports. Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci, 364(1522): 1359-67.
Miller LK. (1999). The savant syndrome: intellectual impairment and exceptional skills. Psychological Bulletin, 125(1): 31–46.
Treffert DA & Willace GL. (2006). Islands of genius. In: Scientific American exclusive online issue: uncommon genius. 31: 2-6.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/savant08-autisticsavant-assessment.html
(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2565)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ
คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ