ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
Autistic Savant: Temple Grandin
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เทมเพิล แกรนดิน (Temple Grandin) นักวิทยาศาสตร์ และนักพฤติกรรมศาสตร์สัตว์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ทำให้คนทั่วโลกเข้าใจถึงจิตใจของออทิสติกอย่างลึกซึ้งขึ้น ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของเธอเอง เธอมักแสดงปาฐกถา เขียนบทความ และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเอง ผู้เขียนเองก็ได้ความรู้มากมายที่ทำให้เข้าใจออทิสติกมากขึ้นจากบทความต่าง ๆ ที่แกรนดินเขียนขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดีขึ้นเช่นกัน
เทมเพิล แกรนดิน
เทมเพิล แกรนดิน เกิดในปี พ.ศ. 2490 ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซต ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนเด็กไม่ยอมพูดไม่ยอมจา จนถึงอายุ 4 ปี ถึงเริ่มพูดได้ดีขึ้น แต่ก็มีระยะเวลาการตอบสนองที่ช้า (delayed response time) เธอจำได้ว่า ตอนเด็ก ๆ คนอื่นไม่รอคอยจนเธอตอบ จึงดูเหมือนเธอไม่พูด และยังแนะนำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กออทิสติกใช้ภาษาในการสื่อสารดีขึ้น ก็คือต้องให้เวลาที่มากพอในการรอการตอบสนองด้วย
เธอไม่ชอบให้แม่กอด มีความไวต่อเสียง และสิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ อย่างมาก (hypersensitivity) และไม่ค่อยอยากออกไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมภายนอก แกรนดินไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกตั้งแต่แรก เมื่ออายุ 2 ปี เธอเคยถูกวินิจฉัยว่ามีสมองถูกทำลายเล็กน้อย (minimal brain damage) เพิ่งมารู้ในภายหลังว่าเป็นออทิสติก เมื่อแม่ของเธอทำแบบสำรวจอาการออทิสติกด้วยตนเอง ถึงได้ไปตรวจเพิ่มเติม อาจเนื่องจากในยุคนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติกยังน้อยอยู่
อย่างไรก็ตาม แกรนดินก็ได้รับการดูแลช่วยเหลือในโปรแกรมวิจัยสำหรับเด็กพิเศษเป็นอย่างดีตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ที่โรงพยาบาลเด็กบอสตัน ประกอบกับการที่แม่ของเธอเป็นผู้ที่มีความรู้ และทุ่มเทให้กับการดูแลเธอตามแนวทางที่เหมาะสม มีการฝึกแก้ไขการพูดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุน้อย และได้รับการฝึกสอนทักษะทางสังคม เรื่องมารยาท การรอคอย การผลัดกันเล่น ในยุคสมัยนั้นเด็กกลุ่มนี้มักจะถูกส่งไปดูแลในสถาบันเฉพาะทางโดยตรง แต่แม่ของเธอก็ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น พร้อมที่จะดูแลเอง
แกรนดินจบปริญญาตรีสาขาจิตวิทยามนุษย์ (human psychology) จบปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาสัตววิทยา (animal science) และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน แกรนดินมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาประจำมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด
แกรนดินยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์ที่มนุษย์นำมาเป็นอาหาร เป็นนักเขียนที่มีผลงานกว่า 20 เล่ม และเป็นผู้ออกแบบไร่ปศุสัตว์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เธอได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ ในปี พ.ศ. 2553 ให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่โลก
HBO ได้นำเรื่องราวของแกรนดินมาทำเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติ ในปี พ.ศ. 2553 โดยดาราสาว Claire Danes สวมบทบาทของแกรนดิน ในบทของสาวผู้ขี้อาย มีปัญหาในการเข้าสังคม ซึ่งต่อมากลายเป็นนักสัตวศาสตร์ที่ปราดเปรื่อง ซึ่งได้รับรางวัลเอมมี่ (Emmy awards) และรางวัลลูกโลกทองคำประเภทสารคดีด้วย
ภาพยนตร์ Temple Grandin
เธอได้รับเชิญเป็นวิทยากรในรายการ TED talk หัวข้อ “โลกต้องการสมองทุกรูปแบบ” (The world needs all kinds of minds) ซึ่งพูดได้ดีมาก เธอเล่าให้เราฟังว่าสมองของเธอทำงานอย่างไร ความสามารถในการคิดเป็นภาพ ซึ่งช่วยให้เธอแก้ปัญหาที่สมองของคนทั่วไปมักจะละเลยไป เธอแสดงให้เห็นว่าโลกต้องการคนที่เป็นออทิสติกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่คิดเป็นภาพ คิดเป็นระบบหรือรูปแบบ หรือคิดเป็นคำพูด
“ฉันคิดว่าการใช้สัตว์เป็นอาหารเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม แต่เราต้องทำให้ถูกต้อง เราต้องให้สัตว์เหล่านั้นมีชีวิตที่ดี และเราต้องให้พวกมันตายอย่างไม่เจ็บปวด เราเป็นหนี้สัตว์ที่เคารพ”
(I think using animals for food is an ethical thing to do, but we've got to do it right. We've got to give those animals a decent life, and we've got to give them a painless death. We owe the animals respect.)
ผลงานการออกแบบ “ทางเดินเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์” ทำให้เธอได้แจ้งเกิดตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา การออกแบบทางเดินให้เป็นรูปโค้งและมีลักษณะแคบจนทำให้วัวต้องเดินเรียงเดี่ยวเข้าไป บวกกับผนังด้านข้างที่ปิดทึบสามารถช่วยลดอาการตื่นกลัวของวัวได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นการเดินไปสู่ความตาย แต่ก็ช่วยให้พวกมันไม่ต้องทรมานเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติกับสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารให้ดีขึ้น
แกรนดินเป็นผู้เขียน หรือผู้ร่วมเขียนเอกสารทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 60 ฉบับ เกี่ยวกับวิชาพฤติกรรมสัตว์ ได้แก่ ผลกระทบของตำแหน่งของขนที่มีต่อพฤติกรรมของโค, อิทธิพลของความเครียดก่อนการฆ่าต่อคุณภาพเนื้อ, การฆ่าตามศาสนา, พฤติกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ, อารมณ์ของวัวและสาเหตุของการฟกช้ำ
ในปี พ.ศ. 2538 แกรนดินเขียนหนังสือเรื่อง “การคิดเป็นรูปภาพ” (thinking in pictures) เธอบอกว่าออทิสติกทุกคนจะมีการคิดเป็นรูปภาพเหมือนกับเธอ แต่ในฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2549 เขาได้เรียนรู้ว่า มีการคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะอยู่ 3 รูปแบบ คือ
1) การคิดเป็นภาพ (visual thinkers)
2) การคิดเป็นรูปแบบ (pattern thinkers)
3) การคิดเป็นภาษา (verbal thinkers)
แกรนดินจะคิดเป็นภาพ ในภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาได้แสดงให้เข้าใจการคิดไว้ดีมาก ตอนที่มีคนพูดคำว่า “รองเท้า” แล้วภาพของรองเท้ามากมายจากยุคปี 50 และ 60 แวบเข้ามาในความคิดของเธอ ซึ่งจะต่างจากการคิดของคนทั่วไป การคิดเป็นภาพนี้เป็นประโยชน์กับเธอมาก ในงานออกแบบโรงเรือนและการจัดการปศุสัตว์ เธอสามารถทดสอบการทำงานของเครื่องมือที่ออกแบบได้ในจินตนาการ เหมือนระบบคอมพิวเตอร์เสมือนจริง สัตว์ก็คิดเป็นภาพเช่นเดียวกัน ทำให้เธอเข้าใจการคิดของสัตว์ได้ คิดจากมุมมองความคิดของสัตว์ได้
นอกจากนี้ ลักษณะพิเศษของสมองของคนเป็นออทิสติก คือการใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าคนทั่วไป เธอมักสังเกตเห็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่สังเกต เช่น ค้นหาว่ามีอะไรที่ทำให้วัวตกใจและขัดขืน และพบว่ามีธงที่โบกสะบัดอยู่หน้าศูนย์พยาบาลสัตว์ในฟาร์ม แค่เอาธงออกไป อย่าให้มีอะไรที่เคลื่อนไหววูบวาบ แสงสีที่ตัดกัน วัวก็สงบลงได้
แกรนดินออกแบบเครื่องกอดรัดที่เรียกว่า “squeeze machine” หรือ “hug box” เพื่อช่วยให้ตนเองผ่อนคลายจากภาวะไม่สมดุลของระบบประสาทรับสัมผัส แต่ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว เครื่องมือดังกล่าวใช้หลักบูรณาการระบบประสาทสัมผัส ที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ในปัจจุบัน เธอยังได้พัฒนาต่อยอดเป็นซองควบคุมโคกระบือ (cattle squeeze chute) ที่ใช้ในปศุสัตว์ เพื่อควบคุมให้สัตว์อยู่กับที่ ง่ายต่อการทำปฏิบัติการต่าง ๆ โดยที่สัตว์ไม่เครียดอีกด้วย
squeeze chute
เธอได้ให้คำแนะนำที่ดีมากในเรื่อง การใช้ความหมกมุ่นของเด็กออทิสติกมาสร้างแรงจูงใจให้กับพวกเขา ถ้าเขาหมกมุ่นกับตัวต่อเลโก้ ก็ให้เขาต่อเลโก้เป็นสิ่งของต่าง ๆ ที่หลากหลายขึ้น ถ้าเขาหมกมุ่นกับพวกรถแข่ง ก็ให้เขาเรียนรู้คณิตศาสตร์จากรถแข่งที่เขาสนใจ เช่นให้คิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ รถถึงแล่นได้ระยะทางเท่านั้นเท่านี้ ผลงานและข้อมูลต่าง ๆ เทมเพิล แกรนดิน เก็บรวบรวมไว้ที่เว็บไซต์ โดยสามารถเข้าได้ที่ www.templegrandin.com
เอกสารอ้างอิง
Grandin T. (1995). Thinking in pictures: and other reports from my life with autism. New York: Doubleday.
Grandin T. (2010). The world needs all kinds of minds. [Online]. Available URL: https://www.ted.com/talks/temple_grandin _the_world_needs_all_kinds_of_minds
Grandin T. (2022). Dr. Temple Grandin of CSU named one of the top 10 college professors in the country. [Online]. Available URL: https://www.templegrandin.com
Linendoll W. & Singh N. (2021). Take it from Dr. Temple Grandin: explore and experiment. [Online]. Available URL: https://abcnews.go.com/GMA/Culture/dr-temple-grandin-explore-experiment/story?id=76796374
Richter R. (2014). 5 questions: Temple Grandin discusses autism, animal communication. [Online]. Available URL: https://med.stanford.edu/news/all-news/2014/11/5-questions--temple-grandin-discusses-autism--animal-communicati.html
Wikipedia. (2022). Temple Grandin. [Online]. Available URL: https://en.wikipedia.org/wiki/Temple_Grandin
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน. จาก https://www.happyhomeclinic.com/savant12-templegrandin.html
(บทความต้นฉบับ: มกราคม 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
· ระดับความรุนแรงของออทิสติก
· ระดับไอคิวของออทิสติก
· ประเภทของออทิสติก
· ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
· ออทิสติก เกิดจากอะไร
· ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
· ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก