HAPPY HOME CLINIC

M   E   N   T   A   L         H   E   A   L   T   H         S   C   R   E   E   N   I   N   G

 

Mental Health Screening Tools

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

เครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบันมีจำนวนมาก มีใช้ทั้งในระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำมาใช้ มีทั้งที่ใช้ในการคัดกรองปัญหาการเรียน ปัญหาทางพฤติกรรม ปัญหาทางอารมณ์ และความบกพร่องหรือความพิการชนิดต่าง ๆ

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้เครื่องมือคัดกรอง

เครื่องมือคัดกรองที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะปัญหาที่คัดกรอง คือ เครื่องมือคัดกรองสำหรับปัญหาทั่วไป และเครื่องมือคัดกรองสำหรับปัญหาเฉพาะ ดังนี้

1. เครื่องมือคัดกรองสำหรับปัญหาทั่วไป

นำมาใช้คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในภาพรวม แบ่งตามกลุ่มปัญหา หรือลักษณะพฤติกรรม โดยไม่ระบุเฉพาะเจาะจงรายโรค พบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าและได้ประโยชน์มากกว่าในการนำมาใช้คัดกรองในระดับประชากร เมื่อเทียบกับการคัดกรองสำหรับปัญหาเฉพาะ

ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของ
    · แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ (The Strengths and Difficulties Questionnaire)
    · แบบสอบถามพฤติกรรม PSC (Pediatric Symptom Checklist)

2. เครื่องมือคัดกรองสำหรับปัญหาเฉพาะ

นำมาใช้คัดกรองปัญหาสุขภาพจิต โดยเจาะจงเฉพาะโรค หรือประเด็นเฉพาะที่ต้องการรู้ เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก แอลดี ภาวะซึมเศร้าในเด็ก การติดเกม ฯลฯ

ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของ
    · แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ
    · แบบประเมินพฤติกรรม SNAP-IV
    · แบบทดสอบการติดเกม GAST
    · แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI
    · แบบสอบถามผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสำหรับเด็ก CRIES-13
    · ดรรชนีชี้วัดสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก WHO-5
    · แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม KUS-SI
    · แบบคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    · แบบสังเกตพฤติกรรม สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะบกพร่องของทักษะการเรียน โรคสมาธิสั้น และกลุ่มอาการออทิซึม

การเลือกใช้เครื่องมือคัดกรอง จึงต้องรู้ว่าต้องการจะคัดกรองเรื่องอะไร คัดกรองปัญหาทั่วไป หรือคัดกรองปัญหาเฉพาะ เพื่อที่จะเลือกใช้เครื่องมือคัดกรองตามข้อบ่งชี้ในการใช้ได้ถูกต้อง

ข้อบ่งชี้ในการใช้มักจะมีการกำหนดชัดเจนว่า เครื่องมือคัดกรองชุดนี้ใช้คัดกรองเรื่องอะไร ในกลุ่มเป้าหมายใด ช่วงอายุเท่าไหร่ และในบริบทไหนบ้าง และเครื่องมือคัดกรองบางชุดยังมีข้อบ่งชี้ในการใช้อื่น ๆ ที่สามารถทำได้เพิ่มเติม เช่น ใช้ประเมินความรุนแรงของอาการ และใช้ติดตามความก้าวหน้าของการรักษา

 

การพัฒนาเครื่องมือคัดกรอง

เครื่องมือคัดกรองที่มีการนำมาใช้ทั่วไปในประเทศไทย มักแปลมาจากภาษาต่างชาติอย่างถูกต้องครบถ้วน หรืออาจคิดค้นขึ้นใหม่ด้วยตนเอง ปรับปรุงจากต้นฉบับเดิม และมีงานวิจัยรองรับชัดเจน

การแปลเครื่องมือคัดกรองฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ผู้แปลจะคำนึงถึงความถูกต้องของการแปล ความสอดคล้องกับภาษาไทยทั้งในแง่ความหมายและความเหมาะสมกับบริบทด้วย และมีการแปลกลับ เพื่อความสมบูรณ์และความเชื่อถือได้ของการแปล เมื่อการแปลเสร็จสิ้นและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของเครื่องมือคัดกรองแล้ว จึงมีการทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ ในบริบทของสังคมไทยทั้งจากตัวอย่างในคลินิกและจากประชากรทั่วไป

 

คุณสมบัติของเครื่องมือคัดกรอง

เครื่องมือคัดกรองที่มีการนำมาใช้ และมีงานวิจัยรองรับ มักมีการศึกษาเพื่อหาคุณสมบัติต่าง ๆ ในกลุ่มประชากรเป้าหมาย เช่น ความเที่ยง หรือความเชื่อถือได้ (reliability) ความตรง หรือความแม่นยำ (validity) ความไว (sensitivity) ความจำเพาะ (specificity) ค่าการพยากรณ์ (predictive value) ฯลฯ

การนำเครื่องมือคัดกรองมาใช้จึงต้องรู้ถึงคุณสมบัติของเครื่องมือคัดกรองด้วย เพื่อให้สามารถเลือกใช้ แปลผลได้ถูกต้อง เหมาะสมตรงตามบริบท

 

ข้อจำกัดของเครื่องมือคัดกรอง

เครื่องมือคัดกรองที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักไม่สมบูรณ์แบบ มีโอกาสที่จะให้ผลการคัดกรองที่ไม่ถูกต้องได้ คือ อาจให้ผลอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มมีปัญหาทั้งที่เด็กไม่มีปัญหา (ผลบวกลวง) และอาจให้ผลอยู่ในกลุ่มปกติทั้งที่เด็กมีความเสี่ยงหรือมีปัญหา (ผลลบลวง) ซึ่งข้อจำกัดของเครื่องมือคัดกรอง มีดังนี้

1. การคัดกรองก่อในเกิดต้นทุน และใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ ไปกับประชากรส่วนใหญ่ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา

2. ผลกระทบจากการคัดกรองสามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ตามมาทั้งในตัวเด็กเอง และครอบครัว

3. ความเครียดและความวิตกกังวล อาจทำให้หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องโรคและความผิดปกติมากขึ้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่จะช่วยให้ผลลัพธ์ดีขึ้น

4. ความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้การคัดกรองเกิดผลบวกลวงได้ ส่งผลให้ต้องประเมินเพิ่มเติม ส่งต่อเพื่อการวินิจฉัย และให้การดูแลรักษาที่ไม่จำเป็น

5. ความรู้สึกไม่มั่นคงในตนเอง กลัวว่าผลคัดกรองจะออกมาผิดปกติ ทำให้เกิดผลลบลวงได้ ส่งผลให้การวินิจฉัยปัญหา และการดูแลช่วยเหลือต้องล่าช้าออกไป

 

วิธีการใช้เครื่องมือคัดกรอง

ก่อนนำเครื่องมือคัดกรองมาใช้คัดกรองสุขภาพจิตในเด็ก สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง และการยินยอมจากเด็กที่จะเข้าร่วมทดสอบด้วย

เครื่องมือคัดกรองบางชุดมีให้เลือกใช้มากกว่า 1 ฉบับ เลือกใช้ตามกลุ่มผู้ทำเครื่องมือคัดกรองที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มีฉบับสำหรับ พ่อ/แม่/ผู้ปกครอง ฉบับสำหรับ ครู/ผู้ดูแลเด็ก และฉบับสำหรับตัวเด็กประเมินตนเอง โดยทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะข้อคำถามคล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจเลือกใช้เพียงบางฉบับ หรือใช้ร่วมกันก็ได้

ในการใช้เครื่องมือคัดกรอง ควรตอบให้ครบตามจำนวนข้อที่มี และทำให้เสร็จในครั้งเดียว ถ้ามีเครื่องมือคัดกรองมากกว่า 1 ฉบับ ควรทำในเวลาใกล้เคียงกัน

แต่ละข้อมักมีตัวเลือกให้ตอบ 2-5 ตัวเลือก ให้เลือกตอบใกล้เคียงความเป็นจริงกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องมือคัดกรองแต่ละชุดก็มีการกำหนดช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และใช้ทำการทดสอบด้วยตนเองได้ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาวิธีการใช้ การคิดคะแนน และการแปลผล จากคำแนะนำในการใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและใช้ได้อย่างถูกต้อง

 

การคิดคะแนนและการแปลผล

การคิดคะแนนควรศึกษาจากคู่มือการใช้เครื่องมือคัดกรองแต่ละชนิดอย่างละเอียด ซึ่งมีวิธีการคิดคะแนนแตกต่างกัน

ลักษณะของข้อคำถามที่ใช้ในเครื่องมือคัดกรองจะมีทั้งคำถามด้านบวกและคำถามด้านลบ ซึ่งการคิดคะแนนจะกลับกัน เช่น ข้อคำถามด้านบวก ตอบว่า “ใช่” ให้ 1 คะแนน ในขณะที่ข้อคำถามด้านลบ ตอบว่า “ใช่” ให้ 0 คะแนน เป็นต้น

จุดตัดของคะแนนที่เหมาะสมในการสืบค้นปัญหา ของเครื่องมือคัดกรองแต่ละฉบับก็มักมีค่าแตกต่างกัน เช่น SDQ ฉบับผู้ปกครองประเมิน มีจุดตัดคะแนนสำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่ 16-18 คะแนน ในขณะที่ SDQ ฉบับครูประเมิน มีจุดตัดคะแนนสำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่ 14-16 คะแนน

นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดจุดตัดของคะแนนที่เหมาะสมของเครื่องมือคัดกรองได้ใหม่ ตามวัตถุประสงค์ในการนำมาใช้ โดยพิจารณาจากค่าความไว ค่าความจำเพาะ และค่าการพยากรณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

พบได้บ่อยครั้งที่ครูและผู้ปกครองมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเครื่องมือคัดกรองนั้นมีคุณสมบัติไม่ดี หรือเป็นเพราะว่าใครกรอกเครื่องมือคัดกรองไม่ตรงตามความเป็นจริง แต่เป็นเพราะว่าบริบทแตกต่างกัน ที่บ้านและที่โรงเรียนเด็กอาจมีการแสดงออกของพฤติกรรมและอารมณ์แตกต่างกัน ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันเหล่านี้ช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและความรุนแรงได้ด้วย เช่น เด็กที่มีปัญหาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน มักมีความรุนแรงมากกว่าเด็กที่มีปัญหาเฉพาะที่บ้านหรือโรงเรียนเพียงแห่งเดียว

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่ควรพึงระวัง คือ ครูมักไวต่อปัญหาพฤติกรรม ซน อยู่ไม่นิ่งมากกว่า ในขณะที่ผู้ปกครองมักไวต่อปัญหาทางด้านอารมณ์ วิตกกังวล ซึมเศร้า มากกว่า

เครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตเด็กที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีหลายชุด นำมาใช้คัดกรองในบริบทต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน รายละเอียดของเครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตที่มีการนำมาใช้บ่อยในประเทศไทย จะกล่าวถึงต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต, สถาบันราชานุกูล. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2558). ประกอบกุล กล่อมอารมย์ (บรรณาธิการ). คู่มือแนวทาง การสร้างระบบดูแลสุขภาวะทางใจ ของนักเรียนและครู. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

รัตนาวดี ณ นคร. (2556). คุณประโยชน์และข้อพึงระวังของการคัดกรองทางสุขภาพ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 7(3): 325-330.

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2557). การคัดกรองโรคระดับประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.hsri.or.th/researcher/classroom/detail/4813

สุจิตรา อู่รัตนมณี. (ม.ป.ป.). เครื่องมือและการใช้เครื่องมือคัดกรองและประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต. (เอกสาร ประกอบการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา).

Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2022). Mental health surveillance among children - United States, 2013-2019. MMWR, (Suppl). 71(2): 1-42.

Dowdy, E., Ritchey, K. & Kamphaus, R. W. (2010). School-based screening: a population-based approach to inform and monitor children’s mental health need. School Mental Health, 2: 166–176.

Hoff, N., Peterson, R. L., Strawhun, J. & Fluke, S. (2015). School-wide Behavior Screening, Topic Brief. Lincoln, NE: Student Engagement Project, University of Nebraska-Lincoln and the Nebraska, Department of Education. [Online]. Available URL: http://k12engagement.unl.edu/school-wide-behavior-screening

Maulik, P. K. & Darmstadt, G. L. (2007). Childhood disability in low- and middle-income countries: overview of screening, prevention, services, legislation, and epidemiology. J Pediatr, 120(Sup. 1): S1-55.

National Research Council and Institute of Medicine. (2009). Preventing mental, emotional, and behavioral disorders among young people: progress and possibilities. O’Connell, M. E., Boat, T. & Warner, K. E. (Eds). Washington, DC: The National Academies Press.

Wilson, J. M. G. & Jungner, G. (1968). Principles and practice of screening for disease. WHO Chronicle. Geneva: World Health Organization. 22(11): 473.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). การใช้เครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตเด็ก. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen04-tools.html

(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ALTERNATIVE ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

การคัดกรองสุขภาพจิต

การคัดกรองสุขภาพจิต

Mental Health Screening

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

กลับศูนย์วิชาการ »