
ระบบการคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา
Screening for Special education
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดให้โรงเรียนในสังกัด มีการคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา ทั้ง 9 ประเภท ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.2552 ได้แก่
1) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น
2) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
3) บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
4) บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ
5) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
6) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
7) บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์
8) บุคคลออทิสติก
9) บุคคลที่มีความพิการซ้อน
แนวทางการดำเนินงาน
การคัดกรองสามารถทำได้โดยการสังเกตเด็กโดยตรงจากครูประจำชั้น และการใช้เครื่องมือคัดกรอง โดยผู้ที่จะใช้เครื่องมือคัดกรองต้องผ่านการอบรมวิธีการใช้ และควรมีอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด เช่น ผู้ปกครองหรือครู เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้อง
เมื่อคัดกรองพบกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีปัญหาแล้ว จะส่งต่อพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะมีการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กในโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย
ในกรณีที่เด็กยังไม่ได้พบแพทย์เพื่อออกใบรับรองแพทย์ หรือใบรับรองความพิการ สามารถอนุโลมให้ครูที่ผ่านการอบรมวิธีการใช้แบบคัดกรอง อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ให้การรับรองไปก่อนได้ เพื่อให้สามารถจัดระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กในโรงเรียนได้
การคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาทั้ง 9 กลุ่มข้างต้น ทำในกรณีที่นักเรียนยังไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน ยังไม่มีใบรับรองความพิการ สมุดประจำตัวคนพิการ หรือใบรับรองแพทย์ ในกรณีที่มีเอกสารดังกล่าวแล้ว ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาทำแบบคัดกรองอีก
ระบบการคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาแบบคัดกรองที่มีคุณสมบัติในการวัดที่ดี การอบรมผู้ใช้เครื่องมือคัดกรองให้ครอบคลุม และที่สำคัญคือการพัฒนาระบบการส่งต่อภายนอกสู่หน่วยบริการสาธารณสุข ซึ่งยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญ
เอกสารอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต, สถาบันราชานุกูล. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
กรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2558). ประกอบกุล กล่อมอารมย์ (บรรณาธิการ). คู่มือแนวทาง การสร้างระบบดูแลสุขภาวะทางใจ ของนักเรียนและครู. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
รัตนาวดี ณ นคร. (2556). คุณประโยชน์และข้อพึงระวังของการคัดกรองทางสุขภาพ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 7(3): 325-330.
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2557). การคัดกรองโรคระดับประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.hsri.or.th/researcher/classroom/detail/4813
สุจิตรา อู่รัตนมณี. (ม.ป.ป.). เครื่องมือและการใช้เครื่องมือคัดกรองและประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต. (เอกสาร ประกอบการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา).
Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2022). Mental health surveillance among children - United States, 2013-2019. MMWR, (Suppl). 71(2): 1-42.
Dowdy, E., Ritchey, K. & Kamphaus, R. W. (2010). School-based screening: a population-based approach to inform and monitor children’s mental health need. School Mental Health, 2: 166–176.
Hoff, N., Peterson, R. L., Strawhun, J. & Fluke, S. (2015). School-wide Behavior Screening, Topic Brief. Lincoln, NE: Student Engagement Project, University of Nebraska-Lincoln and the Nebraska, Department of Education. [Online]. Available URL: http://k12engagement.unl.edu/school-wide-behavior-screening
Maulik, P. K. & Darmstadt, G. L. (2007). Childhood disability in low- and middle-income countries: overview of screening, prevention, services, legislation, and epidemiology. J Pediatr, 120(Sup. 1): S1-55.
National Research Council and Institute of Medicine. (2009). Preventing mental, emotional, and behavioral disorders among young people: progress and possibilities. O’Connell, M. E., Boat, T. & Warner, K. E. (Eds). Washington, DC: The National Academies Press.
Wilson, J. M. G. & Jungner, G. (1968). Principles and practice of screening for disease. WHO Chronicle. Geneva: World Health Organization. 22(11): 473.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). ระบบการคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen08-special-education .html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »