HAPPY HOME CLINIC

M   E   N   T   A   L         H   E   A   L   T   H         S   C   R   E   E   N   I   N   G

 

Response to Intervention

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ระบบการช่วยเหลือเด็ก แบบ RTI (Response to Intervention) หรือ การจัดการศึกษาแบบการตอบสนองต่อการช่วยเหลือ คือ การพัฒนาผู้เรียนที่มีความยากลำบากในการเรียนรู้ ให้ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือโดยกระบวนการคัดกรอง ประเมิน ให้การช่วยเหลือระยะเริ่มแรก และติดตามการตอบสนองต่อการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ตามระดับความเข้มข้นในการช่วยเหลือ (multi- tiered system of supports) ซึ่งโดยทั่วไปใช้ 3 ระดับ (Tier) ดังนี้

ระดับที่ 1 (Tier 1)
เป็นการจัดการเรียนการสอนตามปกติ (universal) สำหรับนักเรียนทุกคนในชั้นเรียน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้วิธีการหลากหลายที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้

ระดับที่ 2 (Tier 2)
เป็นการช่วยเหลือแบบเข้มข้น (intensive support) ให้การช่วยเหลือแบบกลุ่มย่อย 2-5 คน โดยครูประจำชั้น หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะรายวิชา สอนซ่อมเสริม 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-60 นาที ระยะเวลาในการช่วยเหลือ 9-12 สัปดาห์ มีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนตามการตอบสนองของผู้เรียน

ระดับที่ 3 (Tier 3)
เป็นการช่วยเหลือแบบรายบุคคล (individualized support) โดยมีครูการศึกษาพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนหรือให้ความช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ มีครูประจำชั้นและผู้ปกครองเป็นทีมสนับสนุนรับทราบและมีส่วนร่วมในกระบวนการทุกอย่าง มีการประเมินและติดตามผลอย่างใกล้ชิดและบ่อยครั้ง ว่าผู้เรียนตอบสนองต่อการเรียนการสอนอย่างไร รวมทั้งความต้องการเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อและบริการอื่นใดทางการศึกษา

ระบบนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่มีการศึกษาวิจัย และนำร่องระบบไปบ้างแล้ว ในกลุ่มนักวิชาการด้านการศึกษา และมีการดำเนินการในโรงเรียนนานาชาติบางแห่ง เป็นระบบที่ควรพัฒนาต่อและขยายผลให้ครอบคลุม เนื่องจากสามารถช่วยเหลือเด็กได้ทุกคน โดยความเข้มข้นในการช่วยเหลือปรับเปลี่ยนไปตามผลการตอบสนองต่อการช่วยเหลือ

 

แนวทางการดำเนินงาน

การคัดกรองแบบครอบคลุมนักเรียนทุกคน (universal screening) นำมาใช้เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในระบบการช่วยเหลือเด็ก แบบ RTI เพื่อรวบรวมข้อมูล และตัดสินใจว่าจะประเมินเด็กเพิ่มเติม หรือให้ความช่วยเหลือในระดับที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ และในการปรับเปลี่ยนระดับความเข้มข้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองด้วยเสมอ

เครื่องมือคัดกรองไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะใช้เครื่องมือใด สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ที่สำคัญคือมีคุณสมบัติในการวัดที่ดี มีค่าความเชื่อถือได้ (reliability) และค่าความแม่นยำ (validity) สูง การนำมาใช้ควรใช้อย่างระมัดระวังและถูกวิธี

การคัดกรองจะทำทุกภาคการศึกษาในแต่ละปี ประเทศในอเมริกาและยุโรปใน 1 ปีการศึกษามี 3 ภาคการศึกษา มีการคัดกรองทั้ง 3 ภาคการศึกษา สำหรับในประเทศไทยซึ่งมี 2 ภาคการศึกษา อาจทำการคัดกรองเพียง 2 ภาคการศึกษาก็เพียงพอ แต่ควรกำหนดช่วงเวลาที่จะทำการคัดกรองให้ชัดเจน

การให้ความช่วยเหลือเด็ก แบบ RTI เน้นในด้านการศึกษาเป็นหลัก ในปัจจุบันมีการบูรณาการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต คือ ปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และสังคม เข้าเป็นระบบเดียวกันด้วย (Positive Behavior Interventions and Supports - PBIS) ซึ่งนอกจากช่วยลดปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน ยังช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอีกด้วย สามารถดำเนินการโดยการเพิ่มการใช้เครื่องมือคัดกรองด้านพฤติกรรม และการให้ความช่วยเหลือด้านพฤติกรรม เช่น การเสริมสร้างทักษะสังคม กลุ่มเสริมสร้างทักษะการแก้ไขความขัดแย้ง กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และการพบกับนักจิตวิทยาโรงเรียนหรือผู้ให้การปรึกษาประจำโรงเรียน เป็นต้น

การช่วยเหลือทำอย่างเป็นระบบชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ (Tier) ใช้วิธีสอนที่มีประสิทธิภาพอ้างอิงจากงานวิจัย หากพบว่านักเรียนยังมีปัญหาอยู่ จะมีการนำการเรียนการสอนที่เหมาะสมอื่นอีกมาปรับใช้ ทีมบุคลากรในโรงเรียนสามารถนำวิธีการช่วยเหลือที่อิงกับงานวิจัย โดยเลือกใช้วิธีสอนที่เฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาได้

การตรวจสอบหรือการติดตามความก้าวหน้าแต่ละขั้นตอนในทุกระดับ (Tier) ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ในระดับที่ 1 การติดตามความก้าวหน้าจะช่วยให้ครูสามารถบอกได้ว่านักเรียนคนไหนที่ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ สำหรับในระดับที่ 2 และระดับที่ 3 การติดตามความก้าวหน้าจะช่วยให้ครูสามารถวัดประสิทธิภาพของการช่วยเหลือได้ โดยสามารถปรับเปลี่ยนวิธีสอนได้

การประเมินผลการช่วยเหลือหรือวิธีการสอนที่เหมาะสมนั้น จะต้องนำมาใช้อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง

 

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต, สถาบันราชานุกูล. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2558). ประกอบกุล กล่อมอารมย์ (บรรณาธิการ). คู่มือแนวทาง การสร้างระบบดูแลสุขภาวะทางใจ ของนักเรียนและครู. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

รัตนาวดี ณ นคร. (2556). คุณประโยชน์และข้อพึงระวังของการคัดกรองทางสุขภาพ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 7(3): 325-330.

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2557). การคัดกรองโรคระดับประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.hsri.or.th/researcher/classroom/detail/4813

สุจิตรา อู่รัตนมณี. (ม.ป.ป.). เครื่องมือและการใช้เครื่องมือคัดกรองและประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต. (เอกสาร ประกอบการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา).

Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2022). Mental health surveillance among children - United States, 2013-2019. MMWR, (Suppl). 71(2): 1-42.

Dowdy, E., Ritchey, K. & Kamphaus, R. W. (2010). School-based screening: a population-based approach to inform and monitor children’s mental health need. School Mental Health, 2: 166–176.

Hoff, N., Peterson, R. L., Strawhun, J. & Fluke, S. (2015). School-wide Behavior Screening, Topic Brief. Lincoln, NE: Student Engagement Project, University of Nebraska-Lincoln and the Nebraska, Department of Education. [Online]. Available URL: http://k12engagement.unl.edu/school-wide-behavior-screening

Maulik, P. K. & Darmstadt, G. L. (2007). Childhood disability in low- and middle-income countries: overview of screening, prevention, services, legislation, and epidemiology. J Pediatr, 120(Sup. 1): S1-55.

National Research Council and Institute of Medicine. (2009). Preventing mental, emotional, and behavioral disorders among young people: progress and possibilities. O’Connell, M. E., Boat, T. & Warner, K. E. (Eds). Washington, DC: The National Academies Press.

Wilson, J. M. G. & Jungner, G. (1968). Principles and practice of screening for disease. WHO Chronicle. Geneva: World Health Organization. 22(11): 473.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). ระบบการช่วยเหลือเด็ก แบบ RTI. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen09-rti.html

(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ALTERNATIVE ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

การคัดกรองสุขภาพจิต

การคัดกรองสุขภาพจิต

Mental Health Screening

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

กลับศูนย์วิชาการ »