
แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI
Childhood Depressive Inventory
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI (Childhood Depressive Inventory) ฉบับภาษาไทย นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการคัดกรองและประเมินภาวะซึมเศร้าในเด็ก
ผู้พัฒนา
ฉบับภาษาอังกฤษดัดแปลงจาก Beck Depression Inventory สร้างและพัฒนาโดย Maria Kovacs
แปลและพัฒนาเป็นฉบับภาษาไทยโดย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อบ่งชี้ในการใช้
1. ใช้เพื่อการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในเด็ก
2. ใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็ก
3. ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามผลการบำบัดรักษา
คุณสมบัติ
จากการวิจัยพบว่า แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI ฉบับภาษาไทย มีค่าอำนาจจำแนกระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีภาวะซึมเศร้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P น้อยกว่า 10 ยกกำลัง 6
การศึกษาในเด็กไทยพบว่ามี reliability coefficient (Alpha) เท่ากับ 0.83 และมีความตรงในการจำแนก (discriminant validity) สูง คะแนนที่เป็นจุดตัดแยกภาวะซึมเศร้าที่มีความสำคัญทางคลินิก คือ 15 คะแนนขึ้นไป ที่คะแนนนี้ มีค่าความไว (sensitivity) เท่ากับร้อยละ 78.7 ค่าความจำเพาะ (specificity) เท่ากับร้อยละ 91.3 และค่าความถูกต้อง (accuracy) เท่ากับร้อยละ 87 อย่างไรก็ตาม สำหรับการคัดกรองทางระบาดวิทยาสามารถใช้จุดตัดที่ 19 หรือ 21 คะแนนได้
การประเมินภาวะซึมเศร้านั้น โดยทั่วไปกระทำโดยการสังเกตอาการแสดงของผู้ป่วย และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการ หรือความรู้สึกของผู้ป่วย การสังเกตอาการแสดงอาจจะมีปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการสอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยเอง ก็อาจจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความรู้สึกละเอียดอ่อนของผู้ป่วย เช่น ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจขาดทักษะในการสื่อสาร ไม่สามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดเป็นคำพูดได้ดีพอ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก ก็อาจเกิดปัญหาในการให้ข้อมูลแก่แพทย์ เนื่องจากเด็กอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้การใช้เครื่องมือประเภทที่ให้ผู้ป่วยประเมินอาการของตนเอง (self-report) จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
ข้อจำกัด
ข้อจำกัดของเครื่องมือนี้ คือ กลุ่มเป้าหมายต้องอ่านหนังสือออก และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองได้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น อาจมีข้อคำถามบางข้อที่ไม่เหมาะสมกับอายุ ควรพิจารณาใช้แบบคัดกรอง CES-D แทน
วิธีการใช้
แบบสอบวัดนี้ประกอบด้วยคำถาม 27 ข้อ เกี่ยวกับอาการซึมเศร้าในด้านต่าง ๆ ที่พบในเด็ก แต่ละคำถามจะประกอบด้วยตัวเลือก 3 ข้อ ซึ่งบ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ให้เด็กอ่านและทำแบบสอบวัดด้วยตนเอง
การให้คะแนน
แต่ละตัวเลือกจะมีคะแนนความรุนแรงของอาการ ดังนี้
คะแนน 0 หมายถึง ไม่มีอาการเศร้าเลย หรือมีน้อย
คะแนน 1 หมายถึง มีอาการบ่อย
คะแนน 2 หมายถึง มีอาการตลอดเวลา
การให้คะแนนและการแปลผล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้แก่ข้อ 1, 3, 4, 6, 9, 12, 14, 17, 19, 20, 22, 23, 26, 27 แต่ละข้อให้คะแนน ดังนี้
(ก) ให้ 0 คะแนน
(ข) ให้ 1 คะแนน
(ค) ให้ 2 คะแนน
(ก) ให้ 2 คะแนน
(ข) ให้ 1 คะแนน
(ค) ให้ 0 คะแนน
การแปลผล
คะแนนรวม มีได้ตั้งแต่ 0 ถึง 54 ผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงกว่า 15 คะแนนขึ้นไป จากการคัดกรองถือว่ามีภาวะซึมเศร้าที่มีนัยสำคัญทางคลินิก
ตัวอย่าง
แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI (Childhood Depressive Inventory) ฉบับภาษาไทย


เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
อุมาพร ตรังคสมบัติ และ ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. (2539). อาการซึมเศร้าในเด็ก: การศึกษาโดยใช้ Children’s Depression Inventory. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 41(4): 221-230.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). แบบสอบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก CDI. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen13-cdi.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »