
แบบทดสอบการติดเกม GAST
Game Addiction Screening Test
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แบบทดสอบการติดเกม GAST (Game Addiction Screening Test) นำมาใช้สำหรับ คัดกรองพฤติกรรมติดเกมคอมพิวเตอร์ หรือหมกมุ่นกับการเล่นเกม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
คำว่า “เกม” ในแบบทดสอบการติดเกม GAST หมายถึง วิดีโอเกม เกมเพลสเตชั่น เกมบอย เกมคอมพิวเตอร์ เกมในโทรศัพท์มือถือ และเกมออนไลน์ทุกชนิด
ผู้พัฒนา
สร้างและพัฒนาโดย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ข้อบ่งชี้ในการใช้
ใช้คัดกรองค้นหาเด็กและวัยรุ่น ช่วงอายุตั้งแต่ 8 ปี ขึ้นไป ที่อาจมีปัญหาติดเกมคอมพิวเตอร์ หรือหมกมุ่นกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากจนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ
คุณสมบัติ
ผลทดสอบความแม่นตรงด้านโครงสร้าง (construct validity) โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบ พบว่า ทุกข้อคำถามมีค่า loading factor อยู่ในเกณฑ์สูง (มากกว่า 0.4) ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นข้อคำถามที่เหมาะสมในการนำมาใช้ทดสอบ
หาค่าความเชื่อถือได้ (reliability) พบว่า ข้อคำถามทุกข้อมีค่าความสอดคล้องภายใน (internal consistency) อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ทั้ง 2 ฉบับ โดยมีค่า Cronbach’s alpha coefficient ของข้อคำถามรวม (16 ข้อ) ฉบับเด็กและวัยรุ่น เท่ากับ 0.92 และฉบับผู้ปกครอง เท่ากับ 0.94 และของข้อคำถามในแต่ละด้านของทั้ง 2 ฉบับ ตั้งแต่ 0.80 ขึ้นไป
เมื่อแยกวิเคราะห์ผลแต่ละฉบับ พบว่า
ฉบับเด็กและวัยรุ่นชาย มีค่าความไว (sensitivity) ร้อยละ 68.5 และความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 89.3 ที่จุดตัด คะแนนที่ 24 คะแนนขึ้นไป
ฉบับเด็กและวัยรุ่นหญิง มีค่าความไวร้อยละ 88.2 และความจำเพาะร้อยละ 88.3 ที่จุดตัด คะแนนที่ 16 คะแนนขึ้นไป
ฉบับผู้ปกครอง มีค่าความไวร้อยละ 91.6 และความจำเพาะร้อยละ 88.2 ที่จุดตัด คะแนนที่ 20 คะแนนขึ้นไป
ข้อจำกัด
แบบทดสอบการติดเกม GAST เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการ “คัดกรอง” (screening) เพื่อค้นหาเด็กและวัยรุ่นที่อาจมีปัญหาในการเล่นเกม มิใช่เป็นเครื่องมือในการใช้ “วินิจฉัย” (diagnosis) เด็กที่ติดเกม
ดังนั้นก่อนที่ผู้ใดจะนำแบบทดสอบการติดเกม (GAST) ไปใช้จำเป็นต้องทราบวัตถุประสงค์ในการใช้แบบทดสอบการติดเกม (GAST) นี้เป็นอย่างดีเสียก่อน การจะวินิจฉัยว่าเด็กรายใดมีภาวะติดเกมจำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจประเมินอย่างละเอียดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ผู้ซึ่งจะลงความเห็นว่าเด็กรายใดติดเกมหลังจากได้ข้อมูลอย่างละเอียดและพบกับเด็กและครอบครัวแล้วเท่านั้น
วิธีการใช้
แบบทดสอบการติดเกม GAST มี 2 ฉบับ ได้แก่
1. ฉบับเด็กและวัยรุ่น (child and adolescent version) ผู้ตอบแบบทดสอบ ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป ที่เล่นเกมเป็นประจำในช่วงเวลาอย่างน้อย 3 เดือนที่ผ่านมา
2. ฉบับผู้ปกครอง (parent version) ผู้ตอบแบบทดสอบ ได้แก่ ผู้ปกครองของเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป ที่เล่นเกมเป็นประจำในช่วงเวลาอย่างน้อย 3 เดือนที่ผ่านมา
แบบทดสอบแต่ละฉบับ ประกอบด้วยข้อคำถามทั้งสิ้น 16 ข้อ มีข้อคำถามที่เรียงลำดับเหมือนกัน และถามในสิ่งเดียวกัน แต่แตกต่างกันเล็กน้อยที่การใช้คำเพื่อให้เข้าใจง่าย ใช้วัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม 3 ด้าน ได้แก่
1. การหมกมุ่นกับเกม (preoccupation with game)
ได้แก่ ข้อ 1, 8, 9, 11, 13 และ 16
2. การสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเล่นเกม (loss of control)
ได้แก่ ข้อ 2, 4, 5, 6 และ 12
3. การสูญเสียหน้าที่ความรับผิดชอบ (function impairment)
ได้แก่ ข้อ 3, 7, 10, 14 และ 15
เวลาที่ใช้ในการตอบแบบทดสอบ เฉลี่ยประมาณ 5 นาที
คำตอบที่สามารถเลือกตอบได้ในแต่ละข้อคำถามมี 4 คำตอบ ได้แก่ “ไม่ใช่เลย” “ไม่น่าใช่” “น่าจะใช่” “ใช่เลย” โดยใช้ความรู้สึกของผู้ตอบเป็นหลัก กรณีที่ไม่แน่ใจให้ใช้เกณฑ์ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการตอบ
“ไม่ใช่เลย” หมายถึง ผู้ตอบมีความมั่นใจ 100% ว่าไม่เคยมีพฤติกรรมเช่นนั้นเลย
“ไม่น่าใช่” หมายถึง ผู้ตอบมีความมั่นใจมากกว่า 50% (แต่ไม่ถึง 100%) ว่าไม่เคยมีพฤติกรรมเช่นนั้น
“น่าจะใช่” หมายถึง ผู้ตอบมีความมั่นใจมากกว่า 50% (แต่ไม่ถึง 100%) ว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมเช่นนั้น
“ใช่เลย” หมายถึง ผู้ตอบมีความมั่นใจ 100% ว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมเช่นนั้น
การให้คะแนน
การให้คะแนนแต่ละข้อคำถาม ดังนี้
• ไม่ใช่เลย ให้ 0 คะแนน
• ไม่น่าใช่ ให้ 1 คะแนน
• น่าจะใช่ ให้ 2 คะแนน
• ใช่เลย ให้ 3 คะแนน
เมื่อให้คะแนนครบทุกข้อแล้ว ให้รวมคะแนนในแต่ละคอลัมน์ โดยนำ
• คะแนนรวมในคอลัมน์ “ไม่น่าใช่” ใส่ไว้ในช่อง A
• คะแนนรวมในคอลัมน์ “น่าจะใช่” ใส่ไว้ในช่อง B
• คะแนนรวมในคอลัมน์ “ใช่เลย” ใส่ไว้ในช่อง C
หลังจากนั้นจึงคิดคะแนนรวมทั้งหมด โดยรวมคะแนนในช่อง A, B และ C เข้าด้วยกัน
การแปลผล
เกณฑ์การแปลผลคะแนน เป็นดังนี้
GAST ฉบับเด็กและวัยรุ่น ผู้ชาย
คะแนนรวมของแบบทดสอบ GAST | กลุ่ม | ระดับความรุนแรงของปัญหา |
---|---|---|
คะแนนต่ำกว่า 24 | ปกติ | ยังไม่มีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนระหว่าง 24-32 | คลั่งไคล้ | เริ่มมีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 33 | น่าจะติดเกม | มีปัญหาในการเล่นเกมมาก |
GAST ฉบับเด็กและวัยรุ่น ผู้หญิง
คะแนนรวมของแบบทดสอบ GAST | กลุ่ม | ระดับความรุนแรงของปัญหา |
---|---|---|
คะแนนต่ำกว่า 16 | ปกติ | ยังไม่มีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนระหว่าง 16-22 | คลั่งไคล้ | เริ่มมีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 23 | น่าจะติดเกม | มีปัญหาในการเล่นเกมมาก |
GAST ฉบับผู้ปกครอง
คะแนนรวมของแบบทดสอบ GAST | กลุ่ม | ระดับความรุนแรงของปัญหา |
---|---|---|
คะแนนต่ำกว่า 20 | ปกติ | ยังไม่มีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนระหว่าง 20-29 | คลั่งไคล้ | เริ่มมีปัญหาในการเล่นเกม |
คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 30 | น่าจะติดเกม | มีปัญหาในการเล่นเกมมาก |
หลังจากทราบผลการทดสอบแล้ว มีข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ปกครอง ดังนี้
1. หากระดับการเล่นเกมของลูกท่านยังอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” ท่านควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้ลูกของท่านติดเกม โดยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีและให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก ฝึกวินัย สอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ กำหนดกติกาและจำกัดเวลาในการเล่นเกม ส่งเสริมให้เด็กมีงานอดิเรกที่เด็กชอบทำนอกเหนือจากการเล่นเกม
2. หากระดับการเล่นเกมของลูกท่านอยู่ในระดับ “คลั่งไคล้หรือเริ่มมีปัญหา” ท่านควรพูดคุยกับลูกถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ในการเล่นเกมของลูกอย่างจริงจัง มีการกำหนดกติกาและจำกัดเวลาในการเล่นเกมอย่างเข้มงวด ใส่ใจและให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก ส่งเสริมให้เด็กมีงานอดิเรก หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นเกม
3. หากระดับการเล่นเกมของลูกท่านอยู่ในระดับ “น่าจะติดเกมหรือมีปัญหามาก” และท่านได้พยายามปรับลดเวลา การเล่นเกมของลูกท่านแล้วตามคำแนะนำในข้อ 2 แต่ยังไม่ได้ผล ท่านควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อรับการช่วยเหลือโดยรีบด่วน
ตัวอย่าง
แบบทดสอบการติดเกม GAST (Game Addiction Screening Test)
GAST ฉบับเด็กและวัยรุ่น

GAST ฉบับผู้ปกครอง

เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ชาญวิทย์ พรนภดล, บัณฑิต ศรไพศาล, กุสุมาวดี คำเกลี้ยง และ เสาวนีย์ พัฒนอมร. (2557). การพัฒนาแบบทดสอบการติดเกม. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 59(1): 3-14.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). แบบทดสอบการติดเกม GAST. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen14-gast.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »