
แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะ
สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม
KUS-SI
สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม
KUS-SI
KUS-SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม KUS-SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้คัดกรองปัญหาการเรียนในเด็กนักเรียน 3 ปัญหาที่พบได้บ่อย
ผู้พัฒนา
สร้างและพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยความร่วมมือระหว่าง ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล และคณะ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ชื่อ KUS-SI นำมาจากตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KUS - Kasetsart University Laboratory School) และโรงพยาบาลศิริราช (SI - Siriraj Hospital)
ข้อบ่งชี้ในการใช้
ใช้คัดกรองปัญหาการเรียนในเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 6 ปี – 13 ปี 11 เดือน ในโรงเรียน โดยคัดกรอง 3 ปัญหาที่พบได้บ่อย คือ
1. สมาธิสั้น (Attention-Deficit/ Hyperactivity Disorder; ADHD)
2. บกพร่องทางการเรียนรู้ (Specific Learning Disorder; LD) โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการอ่าน ด้านการเขียน และด้านการคำนวณ
3. ออทิสติก หรือออทิซึม (Autism Spectrum Disorder; ASD หรือ Pervasive Developmental Disorders; PDDs)
คุณสมบัติ
ผลทดสอบความแม่นตรงด้านเนื้อหา (content validity) โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมสอดคล้องกับโครงสร้างของการสร้างแบบคัดกรอง ครอบคลุมพฤติกรรมตามคำจำกัดความและเกณฑ์การวินิจฉัย และมีความชัดเจนในการสื่อความหมาย ค่าอำนาจจำแนกรายข้อของแบบคัดกรองเป็นที่ยอมรับได้ และมีความตรงตามเนื้อหา
หาค่าความเชื่อถือได้ (reliability) พบว่า มีค่าความสอดคล้องภายใน (internal consistency) สูงมากในทุกกลุ่มอาการ และทุกกลุ่มตัวอย่าง โดยมีค่า Cronbach’s alpha coefficient ในกลุ่มตัวอย่างมาตรฐาน เท่ากับ 0.97-0.98 และมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ทั้งในสถานศึกษา และสถานบริการทางการแพทย์
ข้อจำกัด
ไม่มีข้อมูล
วิธีการใช้
ประกอบด้วยแบบประเมิน 5 ด้าน รวม 130 ข้อ โดยใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที แต่ละด้านมีจำนวนข้อ ดังนี้
1. สมาธิสั้น 30 ข้อ
2. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่าน 20 ข้อ
3. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการเขียน 20 ข้อ
4. บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านคำนวณ 20 ข้อ
5. ออทิสติก 40 ข้อ
แต่ละข้อมี 4 ตัวเลือก ตามระดับความถี่ หรือความรุนแรงของพฤติกรรม หรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดลำดับ ดังนี้
“ไม่เคย” หมายถึง นักเรียนไม่เคยแสดงพฤติกรรมนี้เลย ครูไม่เคยพบพฤติกรรมนี้เลย
“เล็กน้อย” หมายถึง นักเรียนทำหรือแสดงพฤติกรรมนี้เล็กน้อย ครูพบพฤติกรรมนี้เล็กน้อย
“ค่อนข้างมาก” หมายถึง นักเรียนทำหรือแสดงพฤติกรรมนี้ค่อนข้างมาก ครูพบพฤติกรรมนี้ค่อนข้างมาก
“บ่อยมาก” หมายถึง นักเรียนทำหรือแสดงพฤติกรรมนี้บ่อยมาก ครูพบพฤติกรรมนี้บ่อยมาก
ผู้ตอบแบบคัดกรองเป็นครู/อาจารย์ ผู้สอนวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์อย่างน้อย 2 ท่าน ที่รู้จักและคุ้นเคยกับนักเรียนเป็นอย่างดี หรือมีโอกาสสอนนักเรียนอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา
ผู้ตอบแบบคัดกรองและผู้ประเมิน ควรศึกษารายละเอียดคำชี้แจงการใช้แบบคัดกรอง ให้เข้าใจ อย่างละเอียด ก่อนตอบแบบคัดกรองเพื่อความถูกต้องของการประเมินพฤติกรรมนักเรียน
การให้คะแนน
เนื่องจากการใช้แบบคัดกรองชุดนี้มีค่าลิขสิทธิ์ในการนำมาใช้ ในที่นี้จึงไม่ได้นำเสนอรายละเอียดของข้อคำถามต่าง ๆ และการให้คะแนน
การแปลผล
เนื่องจากการใช้แบบคัดกรองชุดนี้มีค่าลิขสิทธิ์ในการนำมาใช้ ในที่นี้จึงไม่ได้นำเสนอรายละเอียดของข้อคำถามต่าง ๆ และการแปลผล
ตัวอย่าง
คู่มือการใช้แบบคัดกรอง KUS-SI Rating Scales
ที่มา : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2550)

เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ดารณี อุทัยรัตนกิจ, ชาญวิทย์ พรนภดล และคณะ. (2550). แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม: คู่มือการใช้แบบคัดกรอง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พัฒนาคุณภาพวิชาการ.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม KUS-SI. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen19-kussi.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »