HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

RQ

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

IQ ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ และคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
EQ ช่วยให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
RQ ช่วยให้เด็กสามารถเอาชนะอุปสรรคได้อย่างแข็งแกร่ง

 

วิกฤติย่อมพลิกเป็นโอกาสได้เสมอ แต่การจะสร้างโอกาสในภาวะวิกฤตได้ จิตใจต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาก่อน มิฉะนั้นจะถูกวิกฤตโหมกระหน่ำ ทำร้ายจนหมดแรงกาย หมดพลังใจ

"ความยืดหยุ่นทางใจ" (Resilience) เป็นทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ ของการปรับตัวให้เข้ากับความยากลำบากหรือความท้าทายที่เผชิญในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านความยืดหยุ่นทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม และเป็นการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตนเองและจากภายนอก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล 3 ข้อ คือ มุมมองที่มีต่อโลก ทรัพยากรทางสังคมที่เกื้อหนุน และทักษะเฉพาะในการปรับตัว (coping strategies)

"อาร์คิว" (RQ) ย่อมาจาก “Resilience Quotient” คือ พลังสุขภาพจิต หรือภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้าย ๆ ไปได้ โดยมีการฟื้นฟูสภาพอารมณ์และจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่จมอยู่กับความทุกข์ มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์และจิตใจ ปรับตัวได้ดี สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง และในบางคนที่มี อาร์คิว (RQ) ดี ก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อีกด้วย มีจิตใจเข้มแข็ง แกร่งกว่าเดิม

“ความยืดหยุ่นทางใจ” (Resilience) เป็นคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่ใช้กันในระดับนานาชาติ ส่วน “อาร์คิว” (RQ) เป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในประเทศไทย ทั้ง 2 คำ มีความหมายใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้

 

องค์ประกอบของอาร์คิว

อาร์คิว (RQ) เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างแข็งแกร่ง มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ อึด-ฮึด-สู้ กล่าวคือ

อึด คือ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถทนทานต่อภาวะกดดันได้ดี จัดการความเครียดได้อย่างเหมาะสม ควบคุมอารมณ์ได้ดี ยิ้มสู้กับทุกสถานการณ์

ฮึด คือ มีศรัทธาและกำลังใจที่ดี เชื่อว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ย่อมผ่านพ้นไปได้ สามารถให้กำลังใจตัวเอง และได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง

สู้ คือ สามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคอย่างชาญฉลาด มีทักษะในการแก้ไขปัญหาดี หาทางออกได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้

 

การพัฒนาอาร์คิวตนเอง

หลักคิดในการพัฒนาตนเองให้มีอาร์คิว (RQ) ที่ดี มีเทคนิคสำคัญคือ "4 ปรับ 3 เติม" คือ ปรับอารมณ์ ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ปรับเป้าหมาย เติมศรัทธา เติมมิตร และเติมจิตใจให้กว้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมให้พร้อมก่อน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางใจ เสมือนการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องทำก่อนที่โรคระบาดจะมา เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ เช่นเดียวกัน เมื่อจิตใจมีภูมิคุ้มกัน ก็สามารถต่อสู้กับเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ได้

ปรับอารมณ์ คือ การตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่โกรธแค้นหรือโทษใคร

ปรับความคิด คือ การคิดในมุมบวก มองให้ลึกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ปรับพฤติกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่

ปรับเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เติมศรัทธา คือ ความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อผ่านพ้นความมืดตอนกลางคืนไปแล้ว พระอาทิตย์ย่อมขึ้นมาให้ความสว่างเสมอ

เติมมิตร คือ มิตรสหาย และครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจเพื่อช่วยหาทางออก

เติมจิตใจให้กว้าง คือ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มองไปให้ไกลออกจากตัวเรา ในขณะที่เรามีความทุกข์ยากลำบาก ก็ยังมีคนอื่น ๆ ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ

สูตร “4 ปรับ 3 เติม” เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง หากพบว่ายังมีความยากลำบากในการก้าวผ่านภาวะวิกฤต และความยากลำบากในชีวิต ก็จำเป็นที่จะต้องปรึกษาขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

 

การพัฒนาอาร์คิวให้เด็ก

การพัฒนาอาร์คิว (RQ) ให้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ และผ่านพ้นไปได้อย่างแข็งแกร่ง บ่มเพาะเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่อดทนและรับมือกับวิกฤตได้ แล้วยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นภายหลังเหตุการณ์ร้ายนั้นผ่านไป

การพัฒนาอาร์คิวให้กับเด็ก สามารถทำได้โดย

1) ช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวและสังคม ที่อุดมด้วยความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจกัน
2) เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ถ่ายทอดประสบการณ์ของพ่อแม่ให้ลูกฟัง ชี้แนะและฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา และการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมให้กับเด็ก
3) ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
4) จุดประกายความฝัน สร้างเป้าหมายในอนาคต แม้ว่าโตขึ้นจะไม่เป็นไปตามนั้น แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหวังต่ออนาคต
5) ฝึกการมีส่วนร่วมในการคิด และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ร่วมกับพ่อแม่
6) ฝึกให้เด็กรู้จักพูดคุยเล่าความรู้สึกนึกคิด ระบายความทุกข์ใจ ไม่เก็บกดไว้
7) ฝึกมุมมองความคิดในด้านบวก ไม่มองโลกในแง่ร้าย
8) ฝึกแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรื่องราว และความคิดของตัวเองกับเพื่อน ครู หรือพ่อแม่อยู่เสมอ
9) ฝึกให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งการเรียน และงานบ้านที่มอบหมาย

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต. (2548). พลังสุขภาพจิต RQ.

สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต. (2563). เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี RQ พลังสุขภาพจิต. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: บียอนด์พับลิสชิ่ง.

American Psychological Association. (2022). Resilience. from https://www.apa.org/topics/resilience

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). อาร์คิว...ภูมิคุ้มกันทางใจ. จาก https://www.happyhomeclinic.com/a04-RQ.html

(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

multiple-intelligence

IQ-empowerment

EQ-empowerment

RQ: Resilience Quotient

SQ: Social Quotient

teacher for kid

punishment

ข้อมูลเพิ่มเติม »