HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

a31-teacher for kid

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

บทความนี้ ขอมอบเป็นพิเศษสำหรับคุณครูที่น่ารักของเด็กๆ ทุกคน
เมื่อเด็กๆ ได้พบกับคุณครูในดวงใจ เด็กๆ ทุกคนก็จะมีความสุข

“เด็กๆ น่าจะชอบคุณครูแบบไหนกันนะ ต้องสวยไหม ต้องหล่อไหม ต้องผมยาวไหม แล้วต้องใจดี มีขนมมาแจกด้วยไหมนะ”

ผลสำรวจความเห็นของเด็ก จากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่อง …ครูแบบไหนที่นักเรียน "รักสุดใจ" มากที่สุด จากเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร 31 แห่ง 1,187 คน เป็นชายร้อยละ 45.6 และหญิงร้อยละ 54.4 ระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม พ.ศ.2552 พบว่า

ลักษณะของครูที่นักเรียน ชอบ มากที่สุด...
อันดับที่ 1 ใจดี พูดเพราะ [ร้อยละ 36.9]
อันดับที่ 2 พูดตลก สอนสนุก [ร้อยละ 29.6]
อันดับที่ 3 มีเหตุผล เข้าใจเด็กนักเรียน [ร้อยละ 14.9]
อันดับที่ 4 สอนตรงเวลา [ร้อยละ 5.3]
อันดับที่ 5 สอนนอกตำราเรียน [ร้อยละ 2.5]

ลักษณะของครูที่นักเรียน ไม่ชอบ มากที่สุด...
อันดับที่ 1 ดุ เจ้าระเบียบ ทำโทษโดยไม่มีเหตุผล [ร้อยละ 31.7]
อันดับที่ 2 พูดมาก ขี้บ่น พูดเรื่องส่วนตัว [ร้อยละ 26.5]
อันดับที่ 3 สั่งงาน ให้การบ้านเยอะ [ร้อยละ 9.0]
อันดับที่ 4 สอนไม่ตรงเวลา [ร้อยละ 6.9]
อันดับที่ 5 ไม่ตั้งใจสอน [ร้อยละ 6.0]

คุณครูที่ใจดี เด็กทุกคนก็ชอบกันทั้งนั้น ยิ่งมีท่าทีเป็นมิตรกับเด็กก่อน เด็กยิ่งอยากเข้าหา เข้ามาเล่น เข้ามาคุย แล้วเข้ามาถามในเรื่องที่สงสัย อยากรู้ และอยากฟังเวลาคุณครูสอน เมื่อเด็กเข้ามาในชั้นเรียนคุณครูควรยิ้มให้กับเด็กก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าวันนี้คุณครูอารมณ์ดี แต่ไม่ต้องยิ้มทั้งวันก็ได้นะ เดี๋ยวเด็กจะตกใจเอาว่าคุณครูเป็นอะไรไป และเมื่อจบการเรียนการสอนในวันนั้นแล้ว ก็ควรยิ้มให้กับเด็กอีกเช่นกัน กล่าวอำลาพร้อมกับชื่นชมในความตั้งใจและความพยายามของเด็กๆ ในวันนี้ เรื่องนี้ห้ามลืมเลยนะสำคัญมาก

การแต่งกายของคุณครู ควรให้เหมาะสม ดูน่าเชื่อถือ ไม่จำเป็นต้องแอ๊บแบ๊วน่ารักเกินวัย แต่ก็อย่าให้ถึงกับเคร่งขรึมจนดูน่าเกรงขาม สีสันและลวดลายไม่ควรมากเกินไป จนทำให้เด็กเสียสมาธิง่าย จนเด็กสนใจเครื่องแต่งกายของคุณครูมากกว่าเรื่องที่เรียน การใช้เสียงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของคุณครู เพราะสามารถช่วยดึงสมาธิและความสนใจของเด็กๆ ได้ ควรใช้ระดับเสียงให้พอดี ไม่ดังหรือเบาจนเกินไป และไม่พูดช้าหรือเร็วจนเกินไป คอยสังเกตสีหน้า ท่าทางของเด็ก ว่าเข้าใจในสิ่งที่ครูกำลังสอนหรือไม่

สิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ การใช้คำพูดตำหนิเด็ก ให้เตือนในเรื่องที่เด็กทำไม่ถูก ไม่ใช่ต่อว่าเด็กที่นิสัยไม่ดี ไม่ควรพูดขู่ ตะคอก หรือต่อว่าเด็กรุนแรง เด็กที่อยู่ในความกลัว สมองส่วนที่ทำหน้าที่จดจำและเรียนรู้จะหยุดชะงัก นอกจากการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้เด็กมีอคติกับการเรียนไปตลอดอีกด้วย

อย่าประหยัดคำชม ชมไปเถอะถ้าเด็กทำได้ดีขึ้น หรือถ้าเด็กพยายามจะทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ ก็ชมได้ในความพยายามและความตั้งใจของเด็ก คุณครูสามารถชมเด็กได้เรื่อยๆ เกือบทุกเรื่อง แต่อย่าชมจนเกินจริงเท่านั้นเอง คำชมไม่เคยทำให้ใครเสียหาย

คุณครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก วางตัวให้เหมาะสม ทั้งเรื่องพฤติกรรมที่เหมาะสม วาจาไพเราะสุภาพ และการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสม เพราะถ้าแม่พิมพ์บิดเบี้ยวเสียแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพได้

สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ คือ ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เต็มใจมาเรียน อยากมาใฝ่หาความรู้ เด็กบางคนกว่าจะออกจากบ้านได้ก็บอบช้ำมาแล้ว ทั้งดุด่าว่าตี ฉุดกระชากลากถู มามากแล้วกว่าจะมาถึงคุณครู แต่เมื่อมาถึงคุณครูแล้ว ต้องแน่ใจว่าเด็กจะสนุกกับสิ่งที่เรียน ถ้าไม่ใช่ จะทำให้เด็กจะรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ มีแต่ความทุกข์เมื่อถึงเวลาต้องมาหาคุณครู การทำให้เด็กสนุกกับสิ่งที่เรียนดูยากนะ แต่เชื่อว่าคุณครูทำได้

ควรวางแผนการสอนล่วงหน้า ให้เหมาะสมตามประสบการณ์และความสามารถของเด็ก เตรียมอุปกรณ์ สื่อการสอนต่างๆ ให้พร้อมล่วงหน้า แต่เมื่อถึงเวลาสอน ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนตามความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็กในช่วงเวลานั้นได้ เด็กย่อมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เสมอ ถ้าผู้เรียนไม่สนใจ การเรียนรู้ย่อมไม่เกิด

หมั่นสังเกตว่ามีนักเรียนคนไหน ต้องคอยให้ช่วยเหลือเป็นพิเศษบ้าง ถ้าเด็กคนไหนสมาธิไม่ค่อยดี อยู่ไม่ค่อยนิ่ง ต้องคอยดึงมาอยู่ใกล้ๆ กระตุ้นเตือนให้เกิดความสนใจอย่างต่อเนื่อง เด็กบางคนขาดความมั่นใจ วิตกกังวลง่าย ก็ต้องคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ

ถ้าคุณครูมีความยากลำบากในการจัดการปัญหาพฤติกรรมของเด็ก ให้หาโอกาสคุยกับเด็กเป็นการส่วนตัว และหาโอกาสคุยกับผู้ปกครองด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันจะดีกว่า อาจจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่คุณครูยังมองไม่เห็นอีกมาก

ที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มความเชี่ยวชาญของตัวคุณครูเองอยู่เสมอ การที่จะเป็นคุณครูที่ดีได้ ก็ควรเป็นนักเรียนที่ดีด้วย ควรหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ และพัฒนารูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับบุคลิกของตนเอง เรื่องที่จะต้องสอน ช่วงวัยของเด็ก และรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน

เมื่อเด็กๆ ได้พบกับคุณครูในดวงใจ เด็กๆ ทุกคนก็จะมีความสุข รอเวลาที่จะมาพบคุณครู อยากมาเรียนกับคุณครู มาเล่นและพูดคุยกับคุณครู เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คุณครูก็มีความสุข ที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ และได้เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีของเด็กๆ

หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาสอนคุณครู แต่เป็นมุมมองด้านจิตวิทยาเด็ก ที่น่าจะช่วยเติมเต็มความสุขให้กับคุณครูและเด็กๆ ได้

 

บทความแก้ไขล่าสุด : กรกฎาคม 2561
บทความต้นฉบับ : เมษายน 2554

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คุณครูในดวงใจของเด็ก. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/a31-teacher4kid.html

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

multiple-intelligence

IQ-empowerment

EQ-empowerment

RQ: Resilience Quotient

SQ: Social Quotient

teacher for kid

punishment

ข้อมูลเพิ่มเติม »