HAPPY HOME ACADEMY

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Levels of Autism Spectrum Disorder

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

บทนำ

ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder; ASD) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อความหมาย มีพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น โดยแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว แสดงอาการที่หลากหลายตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

เกณฑ์การวินิจฉัยที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์และจิตเวชคือเกณฑ์ DSM-5-TR (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition, Text Revision) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ปรับปรุงล่าสุดของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) ได้จำแนกระดับความรุนแรงของออทิสติกออกเป็น 3 ระดับ ตามความต้องการในการดูแลช่วยเหลือที่แตกต่างกัน

 

เกณฑ์การวินิจฉัยออทิสติก

ตามเกณฑ์ DSM-5-TR ออทิสติกจะมีลักษณะอาการ 2 ด้านหลัก ดังนี้

1. ความบกพร่องทางการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Communication and Interaction Deficits)
     • ความยากลำบากในการตอบสนองทางอารมณ์ สังคม และการสนทนา
     • ความยากลำบากในการเข้าใจและการใช้อวัจนภาษาสำหรับการสื่อสาร
     • ความยากลำบากในการพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมที่เหมาะสม

2. แบบแผนพฤติกรรมซ้ำ ๆ และความสนใจที่จำกัด (Restricted, Repetitive Behaviors)
     • พฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ เช่น การสะบัดมือ กระโดด หรือการหมุนตัว
     • ความไม่ยืดหยุ่น ยึดติดกับกิจวัตรประจำวัน หรือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
     • ความสนใจที่จำกัด หรือมีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป
     • การตอบสนองที่ผิดปกติต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น เสียง แสง หรือสัมผัส

โดยต้องมีลักษณะตามข้อ 1 ทั้ง 3 ข้อ ลักษณะตามข้อ 2 อย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ แสดงอาการตั้งแต่วัยเด็ก และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

 

ระดับความรุนแรงของออทิสติก

ตามเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5-TR จำแนกระดับความรุนแรงของออทิสติกออกเป็น 3 ระดับ โดยขึ้นอยู่กับความต้องการการช่วยเหลือในแต่ละด้าน ซึ่งประกอบด้วย

 

ระดับ 1 ต้องการความช่วยเหลือ (requiring support)

ลักษณะของออทิสติกในระดับ 1 มีความบกพร่องในด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยการช่วยเหลือบางส่วน อาจแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ แต่ไม่ได้ขัดขวางการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรง

การสื่อสารสามารถพูดได้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ พูดคุยสนทนาได้เข้าใจ อาจมีความยากลำบากในการตีความหมายคำให้เหมาะสมกับบริบท หรือไม่เข้าใจพวกศัพท์สแลง คำผวน คำที่มีความหมายไม่ตรงไปตรงมา สำนวน คำกำกวม คำเปรียบเปรย ประชดประชัน อาจมีความยากลำบากในการปรับตัวกับบางสถานการณ์ พูดจาหรือแสดงออกไม่เหมาะสมตามกาลเทศะ

การช่วยเหลือที่ต้องการคือ ต้องการความช่วยเหลือในระดับปานกลางในเรื่องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างทักษะทางสังคม และการให้คำปรึกษาแนะนำในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

ระดับ 2 ต้องการความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม (requiring substantial support)

ลักษณะของออทิสติกในระดับ 2 มีความบกพร่องในการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระดับที่ชัดเจนมากขึ้น พฤติกรรมซ้ำ ๆ และความยึดติดกับกิจวัตรประจำวันมีความรุนแรงมากขึ้น

การใช้ภาษาอาจไม่ลื่นไหล ใช้รูปประโยคไม่สมบูรณ์ เล่าเรื่องไม่ค่อยประติดประต่อ และมีความยากลำบากในการเริ่มหรือคงการสนทนาให้ต่อเนื่อง มีความยากลำบากในการรักษาสัมพันธภาพให้ต่อเนื่อง เข้าหาเพื่อนไม่เหมาะสม เล่นไม่ถูกวิธี มักมีความสนใจหมกมุ่นในบางเรื่องมากเกินพอดี

การช่วยเหลือที่ต้องการคือ ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากในด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการจัดการพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกฝนทักษะการสื่อสาร ทักษะทางสังคม อย่างเป็นระบบ การประเมินและติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ การวางแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล

 

ระดับ 3 ต้องการความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอย่างมาก (requiring very substantial support)

ลักษณะของออทิสติกในระดับ 3 มีความบกพร่องอย่างชัดเจนมากในการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พฤติกรรมซ้ำ ๆ มีความรุนแรงและขัดขวางการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก

อาจไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด หรือใช้คำที่ไม่มีความหมาย อาจพูดซ้ำ ๆ คำเดิม พูดทวนคำถาม หรือพูดไม่ตรงตามสถานการณ์ มักไม่สนใจในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สนใจเล่นกับเพื่อน อาจไม่ตอบสนองเวลาเรียกหรือคำสั่งต่าง ๆ ไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

การช่วยเหลือที่ต้องการคือ ต้องการความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอย่างมากในการดูแลและจัดการพฤติกรรม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น เข้ารับการบำบัดตามโปรแกรมแบบเข้มข้นและต่อเนื่อง ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนชัดเจน

 

การประยุกต์ใช้

การจัดระดับความรุนแรงของออทิสติก มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษา และการสนับสนุนที่เหมาะสม การประเมินระดับความรุนแรงช่วยให้ทีมสหวิชาชีพที่ดูแลและครอบครัวสามารถพัฒนาแผนการดูแลที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย โดยพิจารณาทั้งในด้านการพัฒนา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเสริมสร้างทักษะ รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ผู้ที่เป็นออทิสติกไม่ว่าจะมีความรุนแรงระดับไหนก็ตาม ก็ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ระดับที่รุนแรงมากขึ้นมักต้องการความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ละช่วงวัยจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การดูแลออทิสติกจึงเป็นการดูแลต่อเนื่อง ควรมีการประเมินและติดตามอย่างสม่ำเสมอ และให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงและสภาพปัญหาตลอดทุกช่วงวัย

 

บทสรุป

ออทิสติกเป็นภาวะที่มีความซับซ้อนและมีอาการที่หลากหลาย การจำแนกระดับความรุนแรงสามารถช่วยให้เข้าใจความต้องการการช่วยเหลือของผู้ป่วยได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนการรักษาและการให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้ออทิสติกสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถเข้าร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

American Psychiatric Association. (2022). Neurodevelopmental Disorders. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed, text revision (DSM-5-TR). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2567). ระดับความรุนแรงของออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au12-autism-levels.html

(บทความต้นฉบับ: กันยายน 2567)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder

ออทิสติก 10 คำถาม

แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ

การรักษาด้วยยา ในออทิสติก

การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก

แอสเพอร์เกอร์

เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

อัจฉริยะกับออทิสติก

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

Autistic Academy

รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ

· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
    · ออทิสติก 10 คำถาม
    · ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
    · ระดับความรุนแรงของออทิสติก
    · ระดับไอคิวของออทิสติก
    · ประเภทของออทิสติก
    · ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
    · ออทิสติก เกิดจากอะไร
    · ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
    · ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
    · เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
    · พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
    · การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
    · เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
    · เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
    · พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
    · แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
    · ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
    · การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
    · การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
    · การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
    · การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
    · กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
    · แก้ไขการพูด ในออทิสติก
    · การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
    · การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
    · การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
    · ซาวองต์ ซินโดรม
    · ออทิสติก ซาวองต์
    · ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
    · รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
    · แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
    · รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
    · การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
    · Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
    · Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
    · Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
    · Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
    · อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
    · อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
    · อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
    · อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก

 

A   U   T   I   S   T   I   C       A   C   A   D   E   M   Y