ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ระดับไอคิวของออทิสติก
IQ of Autism Spectrum Disorder
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
บทนำ
ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder; ASD) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อความหมาย มีพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น โดยแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว แสดงอาการที่หลากหลายตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ความแตกต่างในระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถของออทิสติก ซึ่งในผลงานวิจัยต่างๆ พบว่า มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างออทิสติกและระดับเชาวน์ปัญญา โดยระดับไอคิวของออทิสติกแต่ละคนสามารถแตกต่างกันได้อย่างมาก ตั้งแต่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ไปจนถึงมีความสามารถทางสติปัญญาสูงมากหรืออัจฉริยะ
ความหมายของไอคิวและการวัดผล
ระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligent Quotient; IQ) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ไอคิว” คือ ความสามารถทางสติปัญญาที่สามารถวัดได้จากการใช้แบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งจะประเมินทักษะในด้านต่างๆ ดังนี้
• การใช้เหตุผล (reasoning)
• การแก้ไขปัญหา (problem solving)
• การวางแผน (planning)
• การคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking)
• การตัดสินใจ (judgment)
• การเรียนรู้ทางวิชาการ (academic learning)
• การเรียนรู้จากประสบการณ์ (learning from experience)
แบบทดสอบมาตรฐานที่นิยมนำมาใช้วัดไอคิว ได้แก่ Wechsler Intelligence Scale for Children (WISC), Stanford-Binet Intelligence Scales การปรับปรุงเพื่อตรวจสอบทักษะเฉพาะทางของออทิสติก สามารถช่วยให้การประเมินมีความแม่นยำมากขึ้น
ค่ามาตรฐานของไอคิวมักจะอยู่ในช่วง 90 ถึง 109 อาจแตกต่างกันเล็กน้อยตามแบบทดสอบที่นำมาใช้ ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไป ผู้ที่มีค่าไอคิวต่ำกว่า 70 มักถูกจัดว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) ถ้ามีความบกพร่องในทักษะการปรับตัวร่วมด้วย ส่วนผู้ที่มีค่าไอคิวตั้งแต่ 100 ขึ้นไป มักถูกจัดว่ามีความสามารถทางสติปัญญาสูง (high IQ) หรือผู้ที่มีค่าไอคิวตั้งแต่ 130 ขึ้นไป มักถูกจัดว่าเป็นอัจฉริยะ (giftedness)
การวัดไอคิวในออทิสติกอาจเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่ง รวมถึงปัญหาในการสื่อสาร ผลการทดสอบไอคิวอาจไม่ได้สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้ป่วย โดยเฉพาะการวัดไอคิวในภาวะที่ยังไม่พร้อมหรือไม่ให้ความร่วมมือ
ระดับเชาวน์ปัญญาในกลุ่มออทิสติก
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ระดับไอคิวในกลุ่มออทิสติกมีความหลากหลายอย่างมาก ตั้งแต่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ไปจนถึงมีความสามารถทางสติปัญญาสูงมากหรืออัจฉริยะ และยังพบว่าระดับความสามารถในการปรับตัว (adaptive function) มักต่ำกว่าระดับไอคิวที่วัดได้
อย่างไรก็ตาม ระดับไอคิวของออทิสติกไม่จำเป็นต้องสะท้อนความสามารถในการปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม เนื่องจากการมีปัญหาในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งเป็นปัญหาหลัก อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ทักษะต่างๆ แม้ว่าจะมีระดับไอคิวสูงก็ตาม
กลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability)
Fombonne (2003) รายงานผลการศึกษาทางระบาดวิทยา 20 เรื่องเกี่ยวกับออทิสติก ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1966 ถึง 2001 และสรุปได้ว่า พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของออทิสติกมีระดับไอคิวที่ต่ำกว่า 70 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability)
ในปี 2002 การศึกษาทางระบาดวิทยาขนาดใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC, 2007) รายงานว่า ออทิสติกที่มีระดับไอคิวที่ต่ำกว่า 70 พบเพียงร้อยละ 50 ในขณะที่ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาล่าสุดในปี 2014 (Baio และคณะ, 2018) รายงานว่า ลดลงอีกเหลือร้อยละ 31
จากรายงานดังกล่าวสรุปได้ว่า กลุ่มออทิสติกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย (ไอคิวต่ำกว่า 70) มีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ จากเดิมร้อยละ 70 เหลือเพียงร้อยละ 31 ในช่วง 50 ปี
งานวิจัยของ Gabriels และคณะ (2007) แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นออทิสติกและมีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 มักมีพฤติกรรมซ้ำๆ และมีความยากลำบากในการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ๆ อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ที่มีระดับไอคิวตั้งแต่ 70 ขึ้นไป อาจมีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่น้อยลง หรือมีความซับซ้อน มีความหลาหลายมากขึ้น ความสามารถในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมและการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ต้องการจึงขึ้นอยู่กับระดับเชาวน์ปัญญาในระดับหนึ่ง
กลุ่มที่มีสติปัญญาสูงและกลุ่มอัจฉริยะ (high IQ & giftedness)
ออทิสติกกลุ่มที่มีระดับไอคิวสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แยกเป็นกลุ่มที่มีสติปัญญาสูง (high IQ) คือมีระดับไอคิว 110 ขึ้นไป และกลุ่มอัจฉริยะ (giftedness) คือมีระดับไอคิว 130 ขึ้นไป พบได้ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา
ออทิสติกกลุ่มนี้แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ซึ่งเน้นให้เห็นจุดแข็งที่หลากหลาย แต่ก็มีลักษณะร่วมกันที่อาจสังเกตได้ ดังนี้
• มีสมาธิจดจ่อและจดจ่ออย่างเข้มข้น ในหัวข้อหรือแขนงความรู้ที่สนใจเฉพาะ ช่วยให้สามารถเจาะลึกในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งและได้รับความรู้มากมาย
• มีการคิดที่เน้นรายละเอียด มีความเอาใจใส่ต่อรายละเอียดเป็นอย่างดี สามารถสังเกตและจดจำรายละเอียดที่ซับซ้อนซึ่งคนอื่นอาจมองข้ามไปได้อย่างน่าทึ่ง
• มีทักษะการจดจำรูปแบบที่ยอดเยี่ยม สามารถระบุรูปแบบและความเชื่อมโยงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเป็นเลิศในการแก้ปัญหาและการใช้เหตุผลที่ซับซ้อน
• มีความจำที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นหัวข้อที่สนใจ สามารถจดจำข้อมูลและข้อเท็จจริงโดยละเอียดได้อย่างแม่นยำและน่าทึ่ง
กลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ (savant syndrome)
บางกรณีของออทิสติกจะแสดงความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ เช่น ดนตรี คณิตศาสตร์ หรือศิลปะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ซาวองต์ซินโดรม” (savant syndrome) หรือ “ออทิสติกซาวองต์” (autistic savant)
ซาวองต์ซินโดรม เป็นภาวะที่พบได้ยากและไม่ธรรมดา พบได้ในความบกพร่องทางพัฒนาการรูปแบบต่างๆ โรคหรือการบาดเจ็บของระบบประสาทส่วนกลาง ความบกพร่องทางจิตอย่างรุนแรง รวมถึงออทิสติก แต่ในกลุ่มออทิสติกจะพบได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าซาวองต์หรือพรสวรรค์พิเศษจะมีลักษณะเฉพาะด้านใดก็ตาม ทักษะดังกล่าวมักเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความจำที่จำได้มากกว่าทั่วไป
งานวิจัยของ Treffert (2009) พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของออทิสติก จะแสดงลักษณะของซาวองต์ (savant) ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง แม้ว่าความสามารถในด้านอื่นๆ อาจมีความบกพร่องก็ตาม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีไอคิวสูงก็ได้
ออทิสติกซาวองต์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ เรย์มอนด์ แบ็บบิตต์ ในภาพยนตร์เรื่อง Rain man เมื่อปี ค.ศ. 1988 ซึ่งได้ต้นแบบจาก Kim Peek ผู้ที่จำหนังสือได้มากกว่า 6,000 เล่ม มีความรู้รอบด้านเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ดนตรี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ กีฬา และความเชี่ยวชาญอีก 9 ด้าน สามารถบอกชื่อรหัสพื้นที่และรหัสไปรษณีย์ของเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้ทั้งหมด มีความสามารถในการคำนวณปฏิทิน และในช่วงบั้นปลายชีวิตยังพบพรสวรรค์ทางดนตรีขั้นสูงอีกด้วย
ผลกระทบของระดับเชาวน์ปัญญาต่อการใช้ชีวิต
ระดับไอคิวที่แตกต่างกันในออทิสติกแต่ละคน ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม ผู้ที่มีระดับไอคิวสูงกว่าค่าเฉลี่ยอาจสามารถเรียนรู้และทำงานได้ใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้ที่มีไอคิวต่ำกว่า 70 อาจต้องการการดูแลตลอดชีวิต เนื่องจากมีความยากลำบากในการปฏิบัติกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
การทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างออทิสติกกับระดับไอคิวที่สูง ช่วยท้าทายอคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถของออทิสติกได้ ด้วยการรับรู้และส่งเสริมจุดแข็ง จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการพัฒนาและความสำเร็จของออทิสติกได้ ช่วยให้พวกเขาสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองได้
บทสรุป
ออทิสติกและระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ระดับไอคิวของออทิสติกสามารถเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ในการประเมินความต้องการการช่วยเหลือและการวางแผนการรักษา
อย่างไรก็ตาม การวัดไอคิวไม่สามารถบ่งชี้ถึงความสามารถทุกด้านของออทิสติกได้ทั้งหมด การเข้าใจและพิจารณาในแต่ละกรณีเป็นสิ่งสำคัญ ในการส่งเสริมให้ออทิสติกสามารถพัฒนาและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
American Psychiatric Association. (2022). Neurodevelopmental Disorders. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed, text revision (DSM-5-TR). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
Baio, J., Wiggins, L., Christensen, D. L., Maenner, M. J., Daniels, J., Warren, Z., et al. (2018). Prevalence of autism spectrum disorder among children aged 8 years – autism and developmental disabilities monitoring network, 11 sites, United States, 2014. MMWR Surveill Summ. 67.
Centers for Disease Control and Prevention [CDC]. (2007). Prevalence of autism spectrum disorders–autism and developmental disabilities monitoring network, 14 sites, United States, 2002. MMWR Surveill Summ. 56: 12–28.
Fombonne, E. Epidemiological surveys of autism and other pervasive developmental disorders: an update. (2003). J Autism Dev Disord, 33: 365–82.
Gabriels, R. L., Cuccaro, M. L., Hill, D. E., Ivers, B. J., & Goldson, E. (2007). Repetitive behaviors in autism: Relationships with associated clinical features. Research in Developmental Disabilities, 28(5): 463-74.
Treffert, D. A. (2009). The savant syndrome: an extraordinary condition. Philos Trans R Soc Lond B Biol Sci, 364(1522): 1351–7.
Wolff, N., Stroth, S., Kamp-Becker, I., Roepke, S. & Roessner, V. (2022). Autism spectrum disorder and IQ - a complex interplay. Front Psychiatry. 13:856084.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2567). ระดับไอคิวของออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au13-autism-iq.html
(บทความต้นฉบับ: กันยายน 2567)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)