HAPPY HOME ACADEMY

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism and Aggression

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมและการสื่อความหมาย มีพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น โดยแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว แสดงอาการที่หลากหลายตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในสังคมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างออทิสติกกับความก้าวร้าว ซึ่งอาจนำไปสู่การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลออทิสติก บางคนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ก็ไม่ควรสรุปเหมารวมว่าออทิสติกทุกคนจะต้องมีพฤติกรรมนี้ และความก้าวร้าวก็ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของออทิสติกด้วย

บทความนี้มุ่งสำรวจหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างออทิสติกและความก้าวร้าว พร้อมทั้งเหตุปัจจัย แนวทางจัดการพฤติกรรม การรักษาด้วยยา และแนวทางการป้องกัน

ผลการวิจัยระบุว่า ความก้าวร้าวไม่ใช่ผลโดยตรงจากการเป็นออทิสติก มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ มากกว่า เช่น สภาวะที่เกิดร่วม ความไวต่อความรู้สึก และความท้าทายทางสังคม

 

พฤติกรรมก้าวร้าวในออทิสติก

ความก้าวร้าว (aggression) หมายถึง พฤติกรรม หรือการกระทำที่อาจส่งผลให้เกิดอันตราย ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย หรือทางจิตใจ รวมถึงการทำความเสียหายต่อทรัพย์สิน สิ่งของรอบตัว โดยไม่คำนึงว่าพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นจะมีเจตนาชัดเจนหรือไม่ อาจเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

• ความก้าวร้าวทางร่างกาย (physical aggression)
เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังหรือความรุนแรงทางร่างกายเพื่อทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของ เช่น การหยิก กัด ทุบ ตี เตะ ต่อย ดึงผม ทำลายข้าวของ

• ความก้าวร้าวทางวาจา (verbal aggression)
เกี่ยวข้องกับการใช้คำพูดหรือภาษาเพื่อข่มขู่ ดูถูก หรือทำร้ายจิตใจผู้อื่น เช่น พูดจารุนแรง ดูถูก ข่มขู่ ตะโกนใส่

• ความก้าวร้าวทางความสัมพันธ์ (relational aggression)
เกี่ยวข้องกับการทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม หรือชื่อเสียง เช่น การแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น การเพิกเฉย กีดกัน ตัดความสัมพันธ์ ควบคุมให้ทำตาม ทำให้อับอาย

พฤติกรรมก้าวร้าวไม่ใช่สัญญาณของเจตนาทำร้ายเสมอไป เมื่อผู้ป่วยออทิสติกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว มักเป็นการตอบสนองต่ออารมณ์ที่ล้นหลาม การรับรู้ทางประสาทสัมผัส หรือสถานการณ์ทางสังคมที่เป็นตัวกระตุ้น พวกเขาอาจไม่เข้าใจผลที่ตามมาจากการกระทำของตนเอง หรือไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เหตุปัจจัย

พฤติกรรมรุนแรงในผู้ป่วยออทิสติกไม่ใช่ผลโดยตรงจากความผิดปกติ จากการศึกษาวิจัย ระบุว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีหลักฐานเชิงสถิติที่ชัดเจน ผู้ป่วยออทิสติกไม่ได้มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แต่อาจเกิดจากปัจจัยร่วมหลายประการ

พบว่าระดับความรุนแรง ระดับเชาวน์ปัญญา เพศ สถานภาพสมรสของผู้ป่วย รวมถึงระดับการศึกษาของผู้ปกครอง ไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวของออทิสติก แต่พบว่า บุคคลออทิสติกที่อายุน้อยกว่า มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า มีปัญหาทางสังคมหรือการสื่อสารมากกว่า หรือมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่า

พฤติกรรมที่ดูเหมือนรุนแรง เช่น การตะโกน หรือทำลายข้าวของในเด็กออทิสติก มักเกิดจากความเครียด การสื่อสารไม่สำเร็จ หรือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส มากกว่าการตั้งใจทำร้ายผู้อื่น งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดในผู้มีออทิสติกมักมีลักษณะเป็น “พฤติกรรมตอบสนอง” (reactive) มากกว่า “พฤติกรรมเชิงรุก” (proactive)

พฤติกรรมก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อน พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนี้

     • การมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคสมาธิสั้น (ADHD) หรือความวิตกกังวล
     • การมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ
     • การตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัสมากเกินไป
     • ความบกพร่องในการสื่อสาร
     • การขาดการสนับสนุนจากสังคม
     • การถูกกลั่นแกล้ง

 

แนวทางจัดการพฤติกรรม

การสามารถจัดการและบรรเทาความก้าวร้าวโดยใช้แนวทางที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้บุคคลที่เป็นออทิสติกสามารถจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าวของตนเอง และพัฒนากลไกการรับมือที่ปรับตัวได้มากขึ้น

การตอบสนองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของออทิสติก มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การระบุพฤติกรรม การทำความเข้าใจ และการจัดการกับพฤติกรรมนั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. การระบุพฤติกรรม (identify the behavior)

หมายถึงการกำหนดลักษณะของพฤติกรรมที่มีปัญหา เริ่มจากพ่อแม่เขียนระบุประเภทของพฤติกรรมก้าวร้าวที่ลูกแสดงออกมา พร้อมกับเวลา และช่วงเวลาที่พฤติกรรมเกิดขึ้น

2. การทำความเข้าใจพฤติกรรม (understand the behavior)

ขั้นตอนต่อไปคือการทำความเข้าใจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักใช้วิธีประเมินพฤติกรรมเชิงหน้าที่ เพื่อถอดรหัสว่าเหตุใดบุคคลออทิสติกจึงแสดงพฤติกรรมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งออกมา

หรืออีกนัยหนึ่งคือ พฤติกรรมนั้นมีหน้าที่อะไรหรือไม่ เช่น บอกคุณว่าเธอไม่ชอบสิ่งที่คุณทำอยู่หรือไม่ เธอกำลังบอกครูว่าการบ้านซับซ้อนเกินไปหรือไม่ เธอต้องการสิ่งที่เธอไม่มีหรือไม่

การระบุ “สิ่งที่ต้องการสื่อสาร” เบื้องหลังพฤติกรรมเป็นขั้นตอนแรกในการสอนพฤติกรรมที่เหมาะสม ที่สามารถสื่อถึงความต้องการและความปรารถนาได้ แทนการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

นอกจากนี้ ปัญหาพื้นฐานยังสามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในออทิสติกได้ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อย ได้แก่ กิจวัตรประจำวันที่ขาดความต่อเนื่อง การนอนไม่พอ สิ่งเร้าทางประสาทสัมผัสที่ไม่ชัดเจน (เสียง แสง หรือกลิ่น) หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพจิตที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

3. การจัดการพฤติกรรม (manage the behavior)

มีหลายทางเลือกในการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว ข้อมูลที่ได้จากการระบุและทำความเข้าใจพฤติกรรมข้างต้น จะเป็นแนวทางในการจัดการพฤติกรรมต่อไป

งานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนประสิทธิผลของการบำบัดด้านพฤติกรรม โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมประยุกต์ (ABA) ในการช่วยเหลือเด็กออทิสติกเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสม อย่างมีประสิทธิภาพ

หากพฤติกรรมบำบัดไม่ได้ผล สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความเป็นไปได้ของภาวะทางการแพทย์ที่แฝงอยู่ เช่น ปัญหาการนอน อาการชักที่ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ การจัดการกับภาวะทางการแพทย์เหล่านี้สามารถช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้

 

การรักษาด้วยยา

ยาสำหรับรักษาพฤติกรรมก้าวร้าว หรือความรุนแรงในเด็กออทิสติก พบว่าได้ผลดีในการลดพฤติกรรมก้าวร้าว ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติก

โดยเฉพาะยา risperidone และ aripiprazole ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับการรักษาอาการหงุดหงิดที่เกี่ยวข้องกับออทิสติก ซึ่งรวมถึงอาการก้าวร้าว อาละวาด และการทำร้ายตัวเอง และในปัจจุบันเริ่มมียาใหม่อีกหลายตัวที่ช่วยลดอาการเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

ผลการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การฝึกอบรมผู้ปกครองในการจัดการพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยา ช่วยลดอาการอาละวาดและพฤติกรรมที่มีปัญหาอื่น ๆ ในเด็กออทิสติก ได้ในระดับที่สูงกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว

 

แนวทางการป้องกัน

แนวทางในการป้องกันความก้าวร้าว ควรเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง กับแพทย์ นักบำบัด และครูที่โรงเรียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ คาดเดาได้ และให้รางวัล

การป้องกันพฤติกรรมรุนแรงในบุคคลออทิสติกควรเน้นไปที่

     • การประเมินและบำบัดแบบองค์รวม
     • การสนับสนุนด้านการสื่อสาร และทักษะทางสังคม ให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ใช้คำพูดในการสื่อสารความต้องการแทนการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
     • การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม สงบ คาดเดาได้ ลดสิ่งเร้าที่อาจก่อความเครียด
     • การให้ความรู้แก่ครอบครัวและบุคลากรที่ทำงานร่วมกับบุคคลออทิสติก

วิธีการอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ได้แก่ ตารางเวลาที่มองเห็นได้ชัดเจน และตารางเวลาที่มีโครงสร้างชัดเจน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถช่วยให้การเปลี่ยนผ่านระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น การให้รางวัลเมื่อแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และการจัดเตรียมเครื่องมือช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เด็กสื่อสารความต้องการได้มากขึ้น

 

บทสรุป

โดยพื้นฐานแล้ว แม้ว่าบุคคลออทิสติกบางคนอาจมีความก้าวร้าว แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของออทิสติก พฤติกรรมเหล่านี้มักมีความซับซ้อนและมีหลายแง่มุม และสามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการดูแลรักษา และการสนับสนุนที่เหมาะสม

ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่าบุคคลออทิสติกมีแนวโน้มของพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าประชากรทั่วไป การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการสนับสนุนที่เหมาะสมจะช่วยลดการตีตราและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในกลุ่มนี้ได้อย่างยั่งยืน

การตอบสนองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของออทิสติก มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การระบุพฤติกรรม การทำความเข้าใจ และการจัดการกับพฤติกรรมนั้น

การใช้ยาสามารถช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ แต่ถ้ามีการฝึกอบรมผู้ปกครองในการจัดการพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยา จะได้ผลในระดับที่สูงกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

American Psychiatric Association, (2022). Autism Spectrum Disorder. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed, text revision (DSM-5-TR). Washington, DC: American Psychiatric Publishing; pp. 56-68.

Kanne, S. M., & Mazurek, M. O. (2011). Aggression in children and adolescents with ASD: Prevalence and risk factors. J Autism Dev Disord, 41(7), 926–37.

Matson, J. L., & Rivet, T. T. (2008). Characteristics of challenging behaviours in adults with autistic disorder, PDD-NOS, and intellectual disability. J Intellect Dev Disabil, 33(4), 323–9.

Sedona Sky Academy. (2024). What are the Types of Aggression? from https://www.sedonasky.org/blog/types-of-aggression

Wallace, S. (2025). Autism aggression: What can help? from https://www.autismspeaks.org/autism-aggression

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). ออทิสติก กับความก้าวร้าว. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au15-autism-aggression.html

(บทความต้นฉบับ: พฤษภาคม 2568)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »