ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
Rain Man
จากเรนแมนสู่ออทิสติก
จากเรนแมนสู่ออทิสติก
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เรนแมน (Rain Man) เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่นำเรื่องราวความมหัศจรรย์ของผู้ที่มีอาการออทิสติกมาถ่ายทอด ทำให้ผู้คนได้รู้จักกันทั่วโลกว่าออทิสติกเป็นอย่างไร สร้างจากข้อมูลจริงของบุคคลออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษหลาย คนมารวมอยู่ในคนเดียว โดยมี Keem Peek ผู้ซึ่งมีความรู้ในศาสตร์แขนงต่าง ๆ มากมาย เป็นต้นแบบหลัก นำมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มได้อย่างลงตัว เก็บเกี่ยวรายละเอียดต่าง ๆ ของบุคคลออทิสติกมานำเสนอ เพื่อให้โลกรู้จักพวกเขามากขึ้น แม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึง 30 กว่าปีแล้ว สำหรับเรนแมน แต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคนเป็นอย่างดีดี
ภาพยนตร์เรื่องเรนแมน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับรางวัลออสการ์ ในปี พ.ศ.2531 ถึง 4 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือ แบร์รี่ เลวินสัน บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และที่สำคัญคือ ดารานำชายยอดเยี่ยม ซึ่ง ดัชติน ฮอฟแมน สวมบทบาทบุคคลออทิสติก ได้อย่างแนบเนียน
เรื่องราวในภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วย ชาร์ลี แบ๊บบิท (แสดงบทโดย ทอม ครูซ) ทราบข่าวการเสียชีวิตของพ่อ จึงเดินทางกลับบ้านเพื่อร่วมพิธีศพ หลังจากนั้นได้พบว่า พ่อได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินต่าง ๆ มูลค่ากว่า 3 ล้านดอลลาร์ ให้กับสถาบันแห่งหนึ่ง เหลือเพียงรถยนต์เก่า ๆ คันเดียว ที่เขาได้รับเป็นมรดก ซึ่งรถยนต์คันนี้ เป็นคันที่เขาเคยขโมยไปขับเล่นกับเพื่อนตอนอายุ 16 ปี แล้วถูกพ่อแจ้งจับข้อหาขโมยรถ ติดคุกอยู่ 2 วัน เป็นสาเหตุให้เขาโกรธแค้นพ่อ และหนีออกจากบ้านไป ไม่ยอมติดต่อกลับมาอีกเลย
ชาร์ลีรู้สึกประหลาดใจว่าทำไมมรดกกว่า 3 ล้านดอลลาร์ จึงถูกยกให้กับสถาบันแห่งหนึ่ง เขาจึงเดินทางไปค้นหาคำตอบ จนทำให้เขาทราบว่า เขายังมีพี่ชายอยู่คนหนึ่งซึ่งอยู่ในความดูแลของสถาบัน ตั้งแต่แม่ของเขาเสียชีวิต ซึ่งเขาไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย แพทย์ประจำสถาบันได้เล่าให้เขาฟังว่า พี่ชายเขาชื่อ เรย์มอน แบ๊บบิท (แสดงโดย ดัชติน ฮอฟแมน) เป็นโรคออทิสติกที่มีศักยภาพสูง อยู่ในความดูแลของสถาบันมาตั้งแต่เด็ก แต่ชาร์ลีเองก็ยังไม่เข้าใจดีว่า โรคออทิสติกคืออะไร
ชาร์ลีกำลังเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่ เกิดความคิดไม่ดีขึ้นมาว่าถ้าเขาได้เป็นผู้ดูแลเรย์มอน เขาก็จะได้รับมรดกทั้งหมด เขาจึงเตรียมดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเป็นผู้ดูแลพี่ชาย และได้แอบพาพี่ชายออกจากสถาบันแห่งนั้น เพื่อกลับไปอยู่ด้วยที่แคลิฟอร์เนีย และเตรียมดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
ในขณะเดินทางเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายอย่าง ทำให้ชาร์ลีได้เรียนรู้พฤติกรรมของพี่ชายซึ่งเป็นโรคออทิสติกว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนหลายครั้งเขาสะกดกั้นอารมณ์ไม่อยู่ แต่ในที่สุดเวลา 7 วันที่ได้อยู่ด้วยกันทำให้เขาทั้งสองเกิดความผูกพันมากขึ้น ทำให้ชาร์ลีเปลี่ยนความคิดจากเดิม เขาอยากได้มีสิทธิในการดูแลเรย์มอนด้วยความผูกพันจริง ๆ ไม่ได้สนใจในเรื่องมรดกแล้ว
ชาร์ลีได้รับรู้ว่าเรย์มอนคือพี่ชายแท้ ๆ ที่เคยอยู่กับเขาตอนเด็ก เคยช่วยเลี้ยงดูเขาจนถึงอายุ 2 ขวบ ร้องเพลงให้เขาฟัง ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของชาร์ลีตลอดมา แต่เขานึกอยู่เสมอว่า เป็นเพื่อนในจินตนาการที่ชื่อ เรนแมน แต่จริง ๆ แล้วคือพี่ชายเขาเอง ซึ่งเขาเรียกชื่อเพี้ยนตามภาษาของเด็ก ๆ จาก “เรย์มอน” เป็น “เรนแมน” สาเหตุที่พี่ชายเขาต้องไปอยู่ในความดูแลของสถาบัน เนื่องจากเกือบทำน้ำร้อนลวกเขานั่นเอง
เมื่อชาร์ลีได้รู้ความจริงว่า ที่แท้เรย์มอนคือเรนแมน ชาร์ลีรู้สึกสงสารพี่ชายมาก และเสียใจที่คิดไม่ดีต่อพี่ชาย เขาได้พาเรย์มอนมานอนบนเตียง ช่วยถอดรองเท้าให้ และช่วยห่มผ้าห่ม ปฏิบัติต่อพี่ชายเป็นอย่างดี เกิดความผูกพันกันอย่างแท้จริง จนในช่วงท้าย เรย์มอนสะกดชื่อ “ชาร์ลี” ได้ถูกต้องเหมือนที่เคยสะกดชื่อ “เวิร์น” เพื่อนสนิทที่เขาจำไว้ในใจเสมอมาว่าเป็นคนที่ดีต่อเขามาก และจากจุดนี้ภาพยนตร์ยังสื่อให้เห็นได้ชัดเจนว่า ถึงแม้ออทิสติกจะมีปัญหาในเรื่อง การเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น แต่เขาก็มีความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ และมีความผูกพันกับคนอื่นได้เหมือนคนทั่วไป และเมื่อเกิดความผูกพันกันแล้ว ก็สามารถเรียนรู้ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้เช่นกัน
ภาพยนตร์ได้สื่อสิ่งที่เป็นอาการของออทิสติก ออกมาได้ครบถ้วน ชัดเจน โดยเฉพาะด้านพฤติกรรม ที่มักยึดติดในกิจกรรมรูปแบบเดิม ไม่มียืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เวลานอน เตียงจะต้องชิดหน้าต่าง อ่านหนังสือก่อนนอน และนอนเวลา 5 ทุ่มตรง รายการอาหารก็ต้องแบบเดิมตายตัวในแต่วันของสัปดาห์ เวลาทานแพนเค้ก ต้องมีขวดน้ำเชื่อม พร้อมกับไม้จิ้มฟันตั้งไว้ข้างๆ แม้กระทั่งกางเกงในก็ต้องเป็นแบบที่เคยใส่เป็นประจำเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เคยทำก็จะอารมณ์เสียรุนแรง มักยึดถือในกฎที่เคยถูกสอนมาอย่างตายตัว ไม่ยืดหยุ่น เช่น เวลาฝนตกห้ามออกไปไหน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทำซ้ำ ๆ เช่น การโยกตัวเล่นทั้งเวลานั่งและยืน ชอบทำคอเอียง ๆ เหมือนกำลังฟังอะไรอยู่ในโลกส่วนตัว เดินชอยเท้าเร็ว ๆ เป็นก้าวสั้น ๆ และเอามืออุดหูเมื่อมีเสียงดัง
เวลาคุยกันจะไม่สบตา มองเอียง ๆ เฉียง ๆ มองด้วยหางตา เหมือนกำลังจดจ้องบางอย่างในระยะใกล้ ประมาณ 2-3 นิ้ว จากสายตา ไม่ค่อยแสดงสีหน้า และอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ จะมีสีหน้าเฉยตลอด บรรยายความรู้สึกไม่เป็น เช่น ฉากที่อยู่ลิฟท์ ซูซานน่า แฟนสาวของชาร์ลี จูบเรย์มอน แล้วถามว่า “รู้สึกอย่างไร” เรย์มอนก็ตอบว่า “เปียก” นอกจากนี้ยังไม่สามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ดีนัก ไม่สามารถเข้าใจมุขตลก เอามุขตลกที่ได้ฟังจากทีวีไปคิดตลอดว่าทำไม ขบปัญหาไม่แตก ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร
มีคำอุทาน หรือเสียงที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น “เอ๊าะ ออ” พูดเป็นวลีสั้น ๆ ซ้ำ ๆ ใช้ระดับเสียงเดียวกันตลอด ไม่มีจังหวะสูงต่ำ แต่ในภาพยนตร์ก็ไม่ได้สื่อถึงปัญหาด้านภาษาให้เห็นเด่นชัดนัก
ในด้านความสามารถในการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เรย์มอนทำได้ดี สามารถสื่อสาร และเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ อ่านออกเขียนได้ และปรับตัวอยู่ในสังคมได้ดีพอสมควร ถือว่าเป็นกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้เขายังถูกสอนในเรื่องการพิทักษ์สิทธิของตนเองเป็นอย่างดี เช่น ฉากที่เขาถูกชาร์ลีกระชากเสื้อ เขาก็เอาสมุดมาจดบันทึกไว้ว่า ถูกคุกคามอย่างไร โดยใคร เมื่อไหร่ เป็นต้น
เรย์มอนมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับตัวเลข และมีความจำแบบคล้ายการถ่ายภาพ เวลาเห็นหรืออ่านอะไรจะจำได้หมด คล้ายถ่ายภาพเข้าเก็บไว้ในสมองเป็นฉาก ๆ และดึงมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
พบว่าบุคคลออทิสติกประมาณร้อยละ 10 มีความสามารถพิเศษคล้ายแบบนี้ แต่จะมีความหลากหลายเฉพาะทางในแต่ละคน อาจเป็นความสามารถพิเศษในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ด้านความจำที่จำรายละเอียดได้ทุกอย่าง ด้านศิลปะ หรือดนตรี เรียกกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้ว่า “ออทิสติก ซาวองก์” (Autistic Savant)
ภาพยนตร์ได้สื่อถึงความสามารถพิเศษต่าง ๆ ออกมาได้ชัดเจนมาก จากหลายฉาก เช่น เรย์มอน ทำกล่องไม้จิ้มฟันหล่น มองแว๊บเดียวก็รู้ว่าหล่นไป 246 อัน ซึ่งถูกต้องพอดี ไม่มีขาดไม่มีเกิน สามารถคูณเลขหลายหลักได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง สามารถจดจำรายละเอียดของเครื่องบินตกได้ทุกลำว่าเป็นของสายการบินไหน ตกปีไหน เสียชีวิตเท่าไหร่ จนเป็นสาเหตุให้เรย์มอนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน ทำให้ชาร์ลีต้องพาเดินทางโดยรถยนต์แทน และสามารถจำหมายเลขโทรศัพท์ได้ทั้งหมดจากการอ่านสมุดโทรศัพท์เพียงครั้งเดียว พอเห็นชื่อพนักงานโรงแรมก็บอกได้ว่าเบอร์โทรศัพท์อะไร
ฉากเด่นของภาพยนตร์อีกฉาก คือ ชาร์ลี พาเรย์มอน ไปเล่นการพนันที่นครลาสเวกัส เรย์มอนจำไพ่ได้แม่นยำ ทำให้ชนะพนันมาประมาณ 8 หมื่นดอลลาร์ จนเจ้าของบ่อนต้องใช้กล้องวงจรปิดจับผิดดูว่ามีกลโกงอะไร แต่ก็ไม่พบและประหลาดใจมาก ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนจะมีความสามารถการจำไพ่ได้ถึง 6 สำรับ ในที่สุดก็ไม่ยอมให้เล่นพนันต่อไป บังคับให้กลับ ซึ่งฉากนี้มาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงที่นครลาสเวกัส และเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมการจัดประชุมออทิสติกระดับนานาชาติ เคยไปจัดที่นครลาสเวกัส
ในตอนจบ เรย์มอนต้องกลับไปอยู่ในความดูแลของสถาบันต่อไป ตามที่จิตแพทย์ 2 ท่านได้ลงความเห็น (ตามกฏหมายสุขภาพจิตของสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจให้บุคคลที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ในความดูแลของใคร ต้องมีจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน ประเมินและลงความเห็นตรงกัน)
ภาพยนตร์ ได้สะท้อนมุมมองและแนวคิดด้านสุขภาพจิต ในสมัยเมื่อ 3-4 ทศวรรษก่อน ที่เชื่อว่า การดูแลโดยสถาบันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง ได้ทำงานโรงงานในอารักษ์ ภายใต้การดูแลของสถาบันทั้งหมด แต่ในปัจจุบัน แนวคิดเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based Rehabilitation) เป็นคำตอบที่เริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้น การคืนบุคคลเหล่านี้ให้กับครอบครัวและชุมชน เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพน่าจะเหมาะสมที่สุด ที่จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง (Independent Living) โดยความเกื้อกูลของชุมชนและสังคม ภายใต้แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่ใช่การสงสารหรือสงเคราะห์ คาดว่าถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างใหม่ คงจะมีตอนจบที่เปลี่ยนแปลงไป ตามแนวคิดในปัจจุบัน
เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เป็นช่วงที่ชาวอเมริกันเริ่มรู้จักโรคออทิสติกพร้อมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในภาพยนตร์ก็สะท้อนภาพได้ชัดเจนว่ายังไม่ค่อยรู้จักกันเลย ชาร์ลียังบอกหมอที่ดูแลเลยว่าขอให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ได้ไหม เพราะว่าไม่รู้จักออทิสติก บุคลากรสาธารณสุขก็ยังไม่รู้จักเหมือนกัน ยังสงสัยและตื่นเต้นกับความสามารถพิเศษ จะเห็นได้ชัดจากฉากในภาพยนตร์ ตอนที่ชาร์ลีพาเรย์มอนไปพบแพทย์
เมื่อย้อนมองจากภาพยนตร์ จะคล้ายกับสถานการณ์ของไทยไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ที่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับออทิสติก แต่ในปัจจุบัน พวกเขาสามารถเรียนรวมอยู่ในโรงเรียนปกติทั่วไป เรียนในมหาวิทยาลัยได้เหมือนกัน สามารถทำงานร่วมกับพวกเราตามความสามารถที่เขามี พวกเขาบางคนก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมสังคม กลายเป็นพวกเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา
ดัชติน ฮอฟแมน
ผู้สวมบทบาท เรย์มอน แบ๊บบิท
คิมพีค (Kim Peek)
ต้นแบบเรนแมนตัวจริง
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติ. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (ตอนที่ 61 ก); หน้า 8-24.
American Psychiatric Association, (2022). Neurodevelopmental Disorders. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed, text revision (DSM-5-TR). Washington, DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
Wikipedia. (2024). Rain Man. from https://en.wikipedia.org/wiki/Rain_Man
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2567). Rain Man จากเรนแมนสู่ออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au23-rainman.htm
(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)