ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
Move to Heaven
สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
“ขอให้ไปสู่สุคติ” ข้อความสั้น ๆ บนกล่องสี่เหลี่ยมสีเหลืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายของผู้ที่จากไป ในละครซีรีย์เกาหลีที่บีบคั้นน้ำตาของผู้ชม “Move to Heaven” ฉายทาง Netflix ปี พ.ศ. 2564 นี้ นอกจากให้ความหมายของการมีอยู่และการจากไปแล้ว อีกมุมหนึ่งที่จะขอนำมากล่าวถึง คือ ความเป็น “แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม” (Asperger Syndrome) ของฮันกือรู ตัวเอกในเรื่อง เพื่อนำสู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์มากยิ่งขึ้น
“ผมเป็นแอสเพอร์เกอร์ครับ ผมมีปัญหาในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคน และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมครับ” เป็นคำแนะนำตัวของฮันกือรู ซึ่งเปิดโลกของแอสเพอร์เกอร์ให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จัก อยากรู้จักมากขึ้น
ฮันกือรู เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ทำงานที่ Move To Heaven กับพ่อ เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัว เดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่อบอวลไปด้วยโศกนาฏกรรม เพื่อทำภารกิจครั้งสุดท้ายให้กับผู้ที่จากไป คือ งานเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุ (trauma cleaning service) และนำส่ง “สารสุดท้าย” ของผู้เสียชีวิตสู่ครอบครัวของพวกเขาอย่างเคารพและให้เกียรติ นับเป็นการส่งดวงวิญญาณในการเดินทางครั้งสุดท้ายของชีวิตไปสู่สุคติ ทำให้ได้พบกับเรื่องราวชีวิต ความหวัง ความฝัน ความรัก ความสุข และความทุกข์ของผู้ที่จากไปเหล่านั้น ช่วยให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิต และการใส่ใจผู้คนที่รายล้อมรอบตัว
ฮันกือรูเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม ซึ่งก็คือออทิสติกรูปแบบหนึ่ง เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำ ๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ใช้ชีวิตในสังคมได้ลำบากกว่าคนอื่น ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลก มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดี มักมีปัญหาในการประยุกต์ใช้
ปัจจุบันไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกแล้ว จะเรียกรวมกันว่า “ออทิสติก” ซึ่งตรงกับคำว่า “Autism Spectrum Disorder” พบว่ามีแอสเพอร์เกอร์เดิมบางคนที่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยออทิสติกในปัจจุบัน ก็อาจจัดอยู่ในอีกกลุ่มการวินิจฉัยที่เรียกว่า “Social (Pragmatic) Communication Disorder”
ยังพบอีกว่าภาพยนตร์หรือละครซีรีย์ที่มีออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ เป็นตัวเอกในการเดินเรื่อง มักจะดูแล้วแยกไม่ออกว่า คนที่ว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติก มีความแตกต่างกันอย่างไร หมอพัคชีอน หรือหมอฌอน ในเรื่อง Good Doctor ที่ว่าเป็นออทิสติก กับ ฮันกือรู ในเรื่อง Move to Heaven ที่ว่าเป็นแอสเพอร์ ก็แยกไม่ออกว่ามีอาการแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องแยก เรียกรวมกันเป็นออทิสติกได้เลย แต่ก็มีบางคนที่ยังชอบเรียกว่าแอสเพอร์เกอร์เหมือนเดิม
พบว่ามีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เป็นออทิสติก แม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเสียทีเดียว ปัจจุบันเพบว่าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู
โจซังกู คุณอาเลือดร้อนที่เป็นนักมวย ประเภทศิลปะการต่อสู้แบบผสม (mixed martial art: MMA) และเพิ่งออกจากคุก ต้องมาทำงานเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุที่ Move to Heaven พร้อมไปกับการเป็นผู้ปกครองของกือรูตามพินัยกรรม หลังจากที่พ่อของกือรูเสียชีวิตไปอย่างกระทันหันจากหัวใจวายเฉียบพลัน ถึงจะเริ่มต้นด้วยเหตุผลในเรื่องทรัพย์สมบัติ แต่การใช้ชีวิตร่วมกันทำให้จิตใจของเขาอ่อนโยนขึ้น คลายปมในอดีตที่ยังค้างคาใจ มีมุมมองชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้นึกถึงภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ที่อยากให้ย้อนกลับไปหาชมเช่นเดียวกัน
เรื่องแรกคือ เรื่องราวของอดีตนักมวยตกอับ ที่คอยดูแลน้องชายที่เป็นออทิสติก ผู้ซึ่งมีความสามารถพิเศษด้านเปียโน ได้อย่างน่าประทับใจ คือเรื่อง “Keys to the Heart” (2018) หรือชื่อไทยว่า “พี่หมัดหนักกับน้องอัจฉริยะสุดป่วน”
อีกเรื่อง คือ เรื่องราวของน้องชายที่ต้องมาตามหาว่าใครคือคนที่ได้รับมรดกจากพ่อไป จนได้เจอกับพี่ชายที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน พี่ชายที่เป็นออทิสติก ผู้ซึ่งมีความอัจฉริยะจนน่าทึ่ง คือเรื่อง “Rain Man” (1988) ซึ่งนับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักออทิสติก
“Move to Heaven” กำกับโดย คิมซองโฮ เป็นบทละครที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ “Things Left Behind” โดยคิมแชบยอล ซึ่งเป็น ชาวเกาหลีคนแรกที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุหลังความตาย ที่ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย การฆาตกรรม หรือการเสียชีวิตตามลำพังก็ตาม
กือรูไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะถูกให้ออกจากโรงเรียน แต่เขาสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นหรืออ่านเพียงครั้งเดียวได้อย่างแม่นยำ เหมือนถ่ายภาพบันทึกไว้ (photographic memory) ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษที่พบได้ไม่บ่อยนักในออทิสติก เรียกว่า “ออทิสติก ซาวองก์” (autistic savant) หรือ “อัจฉริยะออทิสติก” เขาสามารถจดจำรายการสินค้าและราคาต่าง ๆ บนใบเสร็จรับเงินหลาย ๆ ใบ จากการดูผ่านตาเพียงครั้งเดียวได้ จำเหตุการณ์ที่อ่านจากบันทึกได้ทุกตัวอักษร และจำรายละเอียดบนนามบัตรได้ทุกตัวอักษรจากการมองเพียงครู่เดียวเมื่อรับมา แล้วคืนนามบัตรเจ้าของไปเพราะไม่มีความจำเป็นต้องรับไว้ จำได้หมดแล้ว
ในเรื่องยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมในการเรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่นอีกด้วย ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แม้แต่ในสังคมไทย ถึงแม้ว่าโอกาสจะเปิดมากขึ้น แต่ความเข้าใจของโรงเรียนที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้ยังไม่มากนัก ยังมีปัญหาถูกออกจากโรงเรียนให้พบเจอเป็นระยะ
เวลาพูดคุยด้วย กือรูจะสีหน้าเฉย นิ่ง ๆ ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ ไม่ค่อยมองหน้าสบตา เป็นเพราะเขามีปัญหาในการใช้อวัจนภาษาเพื่อการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และแววตา และยังไม่ค่อยเข้าใจภาษาที่แสดงออกทางสีหน้า ท่าทางของคนอื่นด้วย นอกจากนี้ยังขาดอารมณ์ร่วมกับผู้คนรอบข้าง (emotional reciprocity) ซึ่งเป็นอาการหลักของแอสเพอร์เกอร์หรือออทิสติก
กือรูไม่ค่อยสนใจใคร และไม่ค่อยรู้กาลเทศะ แสดงออกไม่เหมาะสมเป็นประจำ คิดอะไรก็พูดออกมา โดยไม่เกริ่นนำ หรือประเมินว่าผู้ฟังจะพอใจหรืออยากฟังไหม กือรูมักจะพูดแต่เรื่องที่ตนสนใจ คือเรื่องของปลา พูดเหมือนท่องจากสารานุกรมทุกบรรทัดเลยทีเดียว ซึ่งความบกพร่องในทักษะด้านสังคมเหล่านี้ ก็เป็นอาการหลักอีกอย่างหนึ่ง ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะมักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่บอก ทำให้เด็กไม่รู้กาลเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอนเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ
ฉากที่กือรูเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนวัยรุ่นสูบบุหรี่ในห้องน้ำ และเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ จึงเข้าไปเตือนด้วยความหวังดี ว่าสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร และน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ควรเปิดทิ้งไว้ จึงถูกรุมทำร้ายร่างกายด้วยความไม่พอใจ ปัญหาเหล่านี้ก็พบได้บ่อยในเด็กกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน เด็กที่หมอดูแลรักษาอยู่ ก็มีที่ชอบไปเตือนคนที่ไม่รู้จักเวลาเห็นเขาสูบบุหรี่ แม่ต้องคอยระวังและคอยห้ามเพราะกลัวเขาจะไม่พอใจและทำร้ายเอา ถึงเด็กจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ เด็กอีกคนก็คล้ายกันเดินผ่านร้านอาหารแถวบ้านก็จะพูดออกมาดัง ๆ ว่า อาหารร้านนี้ไม่อร่อย จนแม่ต้องพาเดินอ้อมไปอีกทางทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ถ้าอยู่กับผู้ปกครองยังพอจัดการได้ แต่ถ้าอยู่ตามลำพัง หรืออยู่ที่โรงเรียนแล้วเพื่อนไม่เข้าใจก็จะเป็นปัญหาได้ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ว่าต้องตามแก้ไขปัญหาไปตลอด สามารถแก้ไขด้วยการฝึกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavior modification) และเสริมสร้างทักษะสังคม (social skill training)
ด้วยความเป็นแอสเพอร์หรืออทิสติก มักมีปัญหาเรื่องระบบประสาทรับสัมผัสที่ไม่สมดุล จึงมักไม่ชอบให้ใครกอดหรือแตะตัว กือรูก็ไม่ชอบให้ใครมากอดเช่นกัน ขนาดพ่อจะกอดยังต้องต่อรองและพูดกล่อมพอสมควร เมื่อถูกกอดก็จะแสดงท่าทีแข็ง ๆ เกร็ง ๆ ประมาณว่าเมื่อไหร่จะปล่อยสักที ไม่มีความรู้สึกอบอุ่นจากสัมผัสกอดที่ได้รับ แต่ฉากที่สุสานแสดงให้เห็นว่ากือรูเริ่มรู้จักกอดต้นไม้ซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนพ่อที่จากไป เริ่มมีพัฒนาการการแสดงออกซึ่งความรัก จนเอาชนะการรับสัมผัสที่ไม่สมดุลได้ การแก้ไขปัญหาในเรื่องระบบประสาทรับสัมผัสที่ไม่สมดุล ทำได้โดยการฝึกกิจกรรมบำบัด (occupational therapy)
กือรูมีความสนใจหมกมุ่นกับบางเรื่องที่มากเกินพอดี ซึ่งเป็นอีกอาการที่สำคัญของกลุ่มแอสเพอร์เกอร์หรือออทิสติก เช่น เขาสนใจเกี่ยวกับพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ มาก ชอบมองดูอะควอเรียมขนาดใหญ่ ซึ่งเขาจะไปเป็นประจำตั้งแต่เด็กจนโต มีความรู้เชิงลึกมากตั้งแต่ระดับ ไฟลัม คลาส ไปจนถึงชื่อทางวิทยาศาสตร์ และบรรยายลักษณะต่าง ๆ ของปลาอย่างละเอียด โดยเฉพาะปลากระเบนและผองเพื่อนในเรื่อง ปลากระเบนเป็นเสมือนคู่หูของกือรูเลยก็ว่าได้ เขาดูจนสามารถบอกถึงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสัตว์น้ำในอะควอเรียมได้ทุกตัว ตัวไหนหายไปเพราะถูกฉลามกิน ตัวไหนบาดเจ็บบอกได้หมด จนผู้ดูแลสถานที่ทึ่งและยอมรับในความสามารถ ซึ่งความสนใจหมกมุ่นแบบนี้ ถ้าขยายความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ หมกมุ่นเกินพอดี ไม่มีประโยชน์ และมากจนไม่สนใจเรื่องอื่นหรือทำกิจกรรมอื่นเลย
ฉากที่กือรูมีอาการแพนิคหรือวิตกกังวลมาก คือ หลังจากรับสายพ่อที่กำลังจะเสียชีวิต หรือตอนอยู่ที่สถานีตำรวจโดนจับข้อหาลวนลาม เขาทั้งโยกตัว อุดหู และท่องลักษณะต่าง ๆ ของปลา เพื่อช่วยสงบสติอารมณ์ของตนเอง ซึ่งก็เป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับกือรู แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผลเช่นกัน จนมีอาการทำร้ายตนเองด้วยการเอาหัวกระแทกกับผนังแรง ๆ ซ้ำ ๆ หลายครั้ง ซึ่งอาการลักษณะนี้บ่งบอกถึงความรุนแรงด้วย ถ้ามีอาการทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของรุนแรงขึ้น ความถี่มากขึ้น หรือเกิดการบาดเจ็บ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาร่วมด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำ
กือรูยังยืดติดกับกิจวัตรประจำวันรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไม่ค่อยได้ รองเท้าต้องวางตำแหน่งเดิมและจัดวางเป็นระเบียบมาก ของในตู้เย็นจัดเป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เหตุการณ์ใดที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเป็น เขาจะรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ไข่ดาวพอไข่แดงแตกเล็กน้อยก็แสดงความไม่สบายใจออกมาจนพ่อต้องสลับจานให้ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกตั้งไว้ จะยึดถืออย่างตายตัว ไม่ยืดหยุ่น
แอสเพอร์เกอร์หรือออทิสติกไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือโรคติดต่อ แต่เป็นโรคทางจิตเวชเด็กอย่างหนึ่ง ที่สามารถพัฒนาได้ถ้าได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่อายุน้อย และดูแลรักษาต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เขาอาจดูแตกต่างจากคนอื่น แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนก็แตกต่างกัน พยายามเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่าง เพื่อช่วยให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข
สารสำคัญที่สื่อออกมาอีกเรื่อง คือ ฉากที่กือรูบอกกับอาซังกูว่า “พ่อบอกว่าผมแค่แตกต่าง มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด” “พ่อไม่เคยอายเรื่องผม เวลาที่ผมโดนเพื่อนล้อที่ไม่พูด หรือถูกให้ออกจากโรงเรียนเพราะพูดมากไปในชั้นเรียน มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด” คำพูดเหล่านี้เป็นสิ่งย้ำเตือนสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ได้เป็นอย่างดี และเป็นการสื่อสารสู่ผู้คนในสังคม ในกรอบคิดที่มีต่อบุคคลที่มีความพิเศษกลุ่มนี้ด้วย
ละครซีรีย์เรื่องนี้ อาจทำให้พ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ต้องสะเทือนใจอีกครั้ง เพราะมักมีปมคำถามกับตนเองเสมอว่า “เมื่อตายไปแล้ว ใครจะดูแลลูกให้” อาจไม่มีคำตอบสำหรับทุกคน แต่ Move to Heaven ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป ทุกอย่างมีทางออกเสมอ ในชีวิตจริง อาซังกูก็อาจจะโผล่ออกมาเป็นคำตอบให้กับกือรูได้ในที่สุด
เกณฑ์การวินิจฉัย แอสเพอร์เกอร์ อ่านเพิ่มเติมใน “แอสเพอร์เกอร์” ในเว็บเพจ
https://happyhomeclinic.com/au03-asperger.htm
แนวทางการดูแลรักษา อ่านเพิ่มเติมใน “เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” ในเว็บเพจ
https://happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์ จาก https://www.happyhomeclinic.com/au52-movetoheaven.html
(บทความต้นฉบับ: พฤษภาคม 2564)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)