HAPPY HOME CLINIC

M   E   N   T   A   L         H   E   A   L   T   H         S   C   R   E   E   N   I   N   G

 

School Health HERO

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ลงนามความร่วมมือ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ในการพัฒนา “ระบบการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ด้วย School Health HERO (Health and Educational Reintegrating Operation)”

 

วัตถุประสงค์

ระบบการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ด้วย School Health HERO มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อให้นักเรียนได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

2. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการจัดกิจกรรม แนะแนวด้านส่วนตัวและสังคม

3. เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานสาธารณสุข

ในพื้นที่บนระบบดิจิทัลและเป็นการลดภาระครู บุคลากรสาธารณสุข ในการกรอกข้อมูลและประมวลผลภาพรวมในการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน

4. เพื่อเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศที่สนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียน โดยที่สามารถนำข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ ไปพัฒนางานสุขภาพจิตในโรงเรียน ในการดำเนินงานเชิงนโยบาย

5. เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้ครูมีทักษะที่จำเป็นในการสร้างเสริมความปลอดภัยในมิติส่วนตัว สังคมและสุขภาพจิตของนักเรียนบนระบบดิจิทัลได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นในการสังเกต เฝ้าระวัง และคัดกรองตลอดจนสามารถดูแล ติดตาม การดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในชั้นเรียน โดยใช้แอปพลิเคชัน School Health Hero เป็นเครื่องมือ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมแนะแนว เพื่อสร้างความปลอดภัยในมิติส่วนตัวและสัง คมในสถานศึกษา โดยจัดตั้งศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา และมีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อช่วยกันดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ เพื่อดูแลนักเรียนให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการดำเนินงานผ่านระบบ School Health HERO

นับว่าเป็นกระบวนการที่ให้การคัดกรอง ดูแล ส่งเสริม ป้องกัน และดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นตั้งแต่การสังเกต เฝ้าระวังและคัดกรองนักเรียนในชั้นเรียน โดยมีพื้นฐานแนวความคิดมาจากความต้องการให้นักเรียนได้รับการดูแลที่เหมาะสม ตามบริบทและความแตกต่างของปัญหาที่ต่างกัน นักเรียนคนใดที่มีข้อจำกัดต้องได้รับการดูแลโดยบุคลาการทางสาธารณสุข ให้นำเข้ากระบวนการรักษาดังเดิม แต่ในกรณีที่นักเรียนมีปัญหาในเชิงพฤติกรรม อารมณ์และสังคมที่ไม่ซับซ้อน ครูสามารถที่จะจัดการแก้ไขได้อย่างเหมาะทั้งยังสามารถดูแลติดตาม และ ประเมินผลได้ตลอดจนนักเรียนสำเร็จการศึกษา

หน้าที่สำคัญของ School Health HERO คือ การเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระหว่างครูที่ปรึกษากับหมอ ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องนำนักเรียนไปโรงพยาบาล ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อต่าง ๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระงานของครูในการคัดกรองและประเมินผลอีกด้วย

 

แนวทางการดำเนินงาน

School Health Hero คือ ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ เพื่อเฝ้าระวัง เรียนรู้ ดูแล รับการปรึกษา และส่งต่อ เพื่อดูแลนักเรียนที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม บนระบบดิจิทัล ซึ่งมีแนวทางการการดำเนินงาน ในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนด้วย School Health HERO ดังนี้

 

การเฝ้าระวัง

School Health HERO ได้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม ของเด็กและวัยรุ่น ด้วยแบบสังเกตอาการ 9S Plus ซึ่ง Plus คือ Red Flag

เครื่องมือ 9S คือ เครื่องมือสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม เด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี เป็นการประเมินความเสี่ยงใน 3 กลุ่มอาการที่เด็กนักเรียนอาจมีปัญหา ได้แก่

1) กลุ่มพฤติกรรม ได้แก่ ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้

2) กลุ่มอารมณ์ ได้แก่ เครียดหงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน

3) กลุ่มทักษะสังคม ได้แก่ ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อน ไม่มีเพื่อน

แต่ละกลุ่มอาการจะประกอบด้วยคำถามจริง/เท็จ 3 ข้อ รวม 9 ข้อ หากเด็กไม่มีความเสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ชัดเจน ครูจะต้องทำแบบสังเกตอาการ 9 ข้อนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงทุกคน

Plus เป็นช่องทางพิเศษ (Red Flag) สำหรับการส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาหรือสภาวะที่ต้องการดูแลทันที โดยไม่ต้องผ่านการเฝ้าระวัง 9S ได้แก่ นักเรียนที่ผ่านการคัดกรองหรือเครื่องมืออื่นใดและพบความเสี่ยง นักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงที่ครูเห็นชัดเจน เช่น เสี่ยงทางเพศ สารเสพติด ติดเกม หรือปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ

หากสังเกตอาการแล้วมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม อย่างน้อยหนึ่งด้านเป็นบวก แนะนำให้ครูใช้แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ ต่อเพื่อประเมินปัญหาให้ละเอียดยิ่งขึ้นก่อนการดูแล และประเมินซ้ำเพื่อติดตามผลการดูแลในแต่ละด้าน โดยครูจะต้องตอบคำถามให้ครบทั้ง 25 ข้อ จากนั้นระบบจะประเมินความเสี่ยงในแต่ละด้านให้โดยอัตโนมัติ และจะประเมินผลความเสี่ยงโดยรวมให้อีกด้วย

 

การเรียนรู้

ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และเทคนิคการพัฒนา ป้องกัน แก้ไขปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม รวมถึงทักษะการให้การปรึกษาขั้นพื้นฐาน

ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ฝึกเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่น รวมถึงสามารถให้การปรึกษาเบื้องต้นแก่เด็กและวัยรุ่นได้

 

การดูแล

จากแนวทางที่ช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้ข้างต้น เป็นส่วนที่ช่วยให้แนวทางการดูแลสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลเด็กและวัยรุ่น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ปรับพฤติกรรม (SAFE B–MOD)

2. พัฒนาทักษะชีวิต

3. ให้คำปรึกษาแก่เด็ก/ ผู้ปกครอง และการฟังเชิงลึก

4. ส่งต่อ

เมื่อครูดำเนินการดูแลนักเรียนที่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถบันทึกลงใน School Health HERO ได้

เพื่อเป็นประวัติการดูแลช่วยเหลือ โดยประเมินผลก่อนและหลังการดูแลช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นด้วย แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ เพื่อเป็นข้อมูลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการดูแลหรือประเมินผลอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเยี่ยมบ้าน การทำ Case conference ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุข วางแผนการดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ตรงตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

 

การปรึกษาและส่งต่อ

เมื่อพบความซับซ้อนเกินความสามารถในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถขอรับการปรึกษาและส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต กับบุคลากรสาธารณสุขหรือ HERO Consultant ในพื้นที่ผ่าน School Health HERO ได้ทันท่วงที เพื่อลดปัญหาเรื่องความล่าช้าในการให้บริการด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

โดยคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถรับส่งต่อข้อมูลการดูแลช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงผลประเมินด้านสุขภาพจิตของนักเรียนได้ กรณีที่นักเรียนต้องเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาล สามารถส่งเอกสารสำคัญสำหรับการนัดหมายเข้าพบแพทย์ ผ่านทางช่องทางแชทของ School Health HERO ได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

สำหรับการปรึกษาและส่งต่อ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภายใน และภายนอก

1. ภายใน เป็นการปรึกษาและส่งต่อในระบบการศึกษาที่มีครูแนะแนว และนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ให้คำแนะนำในการดูแล และให้การปรึกษานักเรียน

2. ภายนอก เป็นการการปรึกษาและส่งต่อจากระบบของการศึกษาสู่ระบบของสาธารณสุข โดยจะมี HERO Consultant ในพื้นที่คอยให้การปรึกษา และร่วมวางแผนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับครู หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล HERO Consultant จะเป็นผู้ส่งต่อเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต, สถาบันราชานุกูล. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2558). ประกอบกุล กล่อมอารมย์ (บรรณาธิการ). คู่มือแนวทาง การสร้างระบบดูแลสุขภาวะทางใจ ของนักเรียนและครู. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

รัตนาวดี ณ นคร. (2556). คุณประโยชน์และข้อพึงระวังของการคัดกรองทางสุขภาพ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 7(3): 325-330.

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2557). การคัดกรองโรคระดับประชากร. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.hsri.or.th/researcher/classroom/detail/4813

สุจิตรา อู่รัตนมณี. (ม.ป.ป.). เครื่องมือและการใช้เครื่องมือคัดกรองและประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต. (เอกสาร ประกอบการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา).

Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2022). Mental health surveillance among children - United States, 2013-2019. MMWR, (Suppl). 71(2): 1-42.

Dowdy, E., Ritchey, K. & Kamphaus, R. W. (2010). School-based screening: a population-based approach to inform and monitor children’s mental health need. School Mental Health, 2: 166–176.

Hoff, N., Peterson, R. L., Strawhun, J. & Fluke, S. (2015). School-wide Behavior Screening, Topic Brief. Lincoln, NE: Student Engagement Project, University of Nebraska-Lincoln and the Nebraska, Department of Education. [Online]. Available URL: http://k12engagement.unl.edu/school-wide-behavior-screening

Maulik, P. K. & Darmstadt, G. L. (2007). Childhood disability in low- and middle-income countries: overview of screening, prevention, services, legislation, and epidemiology. J Pediatr, 120(Sup. 1): S1-55.

National Research Council and Institute of Medicine. (2009). Preventing mental, emotional, and behavioral disorders among young people: progress and possibilities. O’Connell, M. E., Boat, T. & Warner, K. E. (Eds). Washington, DC: The National Academies Press.

Wilson, J. M. G. & Jungner, G. (1968). Principles and practice of screening for disease. WHO Chronicle. Geneva: World Health Organization. 22(11): 473.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). ระบบการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ด้วย School Health HERO. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen07-hero.html

(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ศูนย์วิชาการ การบำบัดทางเลือก

ALTERNATIVE ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

การคัดกรองสุขภาพจิต

การคัดกรองสุขภาพจิต

Mental Health Screening

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

กลับศูนย์วิชาการ »