
แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ
Pervasive Developmental Disorders Screening Questionnaire
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ (Pervasive Developmental Disorders Screening Questionnaire) นำมาใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้นในการค้นหาเด็กที่เป็นออทิสติก พบว่าสามารถนำมาใช้แยกเด็กออทิสติก ออกจากเด็กที่มีปัญหาอื่น ๆ และเด็กปกติได้เป็นอย่างดี
ผู้พัฒนา
สร้างและพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2544 โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นางสาวอำไพ ทองเงิน และคณะ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต
แบบคัดกรองนี้พัฒนาจากแบบคัดกรองออทิสติกชนิดต่าง ๆ ได้แก่ CHAT (Checklist for Autism in Toddlers), CARS (Childhood Autism Rating Scale), ASQ (Autism Screening Questionnaire), ASSQ (Autism Spectrum Screening Questionnaire), PDDST (Pervasive Developmental Disorders Screening Test) และ SRS (Social Responsiveness Scale)
ข้อบ่งชี้ในการใช้
ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้นในการค้นหาเด็กที่เป็น “ออทิสติก” (Autism Spectrum Disorder: ASD) หรือในชื่อตามเกณฑ์การวินิจฉัยเดิม ที่เรียกว่า “Pervasive Developmental Disorders: PDDs”
คุณสมบัติ
แบบคัดกรองฉบับสำหรับเด็กอายุ 4-18 ปี ฉบับย่อ 25 ข้อ ที่จุดตัด 13 คะแนน พบว่ามีความไว (sensitivity) เท่ากับร้อยละ 77 ความจำเพาะ (specificity) เท่ากับร้อยละ 94 ค่าการทำนายเมื่อผลเป็นบวก (positive predictive value) เท่ากับร้อยละ 96 และค่าการทำนายเมื่อผลเป็นลบ (negative predictive value) เท่ากับร้อยละ 69
ข้อจำกัด
ข้อจำกัดของแบบคัดกรอง คือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยเป็นผู้ที่อยู่ในเขตเมืองหลวง และปริมณฑล ผลการวิจัยอาจประยุกต์ใช้ได้เฉพาะกับประชากรเขตเมืองเท่านั้น และอาจใช้ได้ดีเฉพาะการคัดกรองเด็กปกติออกจากเด็กที่เป็นออทิสติกเท่านั้น ซึ่งอาจใช้ได้ไม่ดีนักใน PDDs อื่น ๆ เช่น แอสเพอร์เกอร์ (Asperger Disorder) และพีดีดี เอ็นโอเอส (PDD NOS) ตามเกณฑ์การวินิจฉัยเดิม เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่วินิจฉัยออทิสติก
วิธีการใช้
แบบคัดกรองประกอบด้วยแบบประเมินสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมี 2 ฉบับ แบ่งตามช่วงอายุ คือ
1) ฉบับสำหรับเด็กอายุ 1-4 ปี (12-47 เดือน)
2) ฉบับสำหรับเด็กอายุ 4-18 ปี
ข้อคำถามจะชี้วัดความผิดปกติใน 3 ด้าน คือ พัฒนาการทางสังคมผิดปกติ พัฒนาการทางภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมซ้ำซาก สนใจจำกัด และปรับตัวยาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัย ตามเกณฑ์การวินิจฉัยเดิม (DSM-IV)
การนำมาใช้คัดกรองในช่วงเด็กวัยเรียนจะใช้ฉบับสำหรับเด็กอายุ 4-18 ปี ซึ่งแบบประเมินฉบับย่อ ประกอบด้วยข้อคำถาม 25 ข้อ (ฉบับเต็มมี 40 ข้อ) ใช้ประเมินลักษณะหรือพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกบ่อย ๆ ทำเครื่องหมายลงในช่อง “ใช่/ทำบ่อย ๆ” หรือ “ไม่ใช่/ไม่ค่อยทำ” โดยผู้ตอบเลือกคำตอบที่ใกล้เคียงพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด
การให้คะแนน
แบบคัดกรองฉบับสำหรับเด็กอายุ 4-18 ปี (ฉบับย่อ) การให้คะแนน เป็นดังนี้
ข้อ 1-17
• ให้ 1 คะแนน สำหรับคำตอบว่า ใช่/ทำบ่อย ๆ
• ให้ 0 คะแนน สำหรับคำตอบว่า ไม่ใช่/ไม่ค่อยทำ
ข้อ 18-25 ต้องกลับค่าคะแนน คือ
• ให้ 0 คะแนน สำหรับคำตอบว่า ใช่/ทำบ่อย ๆ
• ให้ 1 คะแนน สำหรับคำตอบว่า ไม่ใช่/ไม่ค่อยทำ
คะแนนเต็มทั้งฉบับ 25 คะแนน
การแปลผล
คะแนนเต็มทั้งฉบับ 25 คะแนน หากได้คะแนนรวมตั้งแต่ 13 คะแนนขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นออทิสติก
สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ คือ แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ ใช้ค้นหาเด็กที่สงสัยว่าจะเป็นออทิสติก แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่จะนำมาใช้วินิจฉัย เมื่อพบว่ามีความเสี่ยง ให้ส่งต่อแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม วินิจฉัย และให้การช่วยเหลือต่อไป
ตัวอย่าง
แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก (PDDSQ) ช่วงอายุ 4-18 ปี (ฉบับย่อ)

เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen11-pddsq.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »