
ดรรชนีชี้วัดสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก WHO-5
The World Health Organization - Five Well-Being Index
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ดรรชนีชี้วัดสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก WHO-5 หรือ “The World Health Organization- Five Well-Being Index” เป็นแบบรายงานสภาวะสุขภาพจิตในปัจจุบัน ด้วยตนเอง แบบสั้น (short self-report)
การใช้แบบวัดสภาวะสุขภาพจิตดังกล่าวเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.1998 โดยสำนักงานภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกในยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DEPCARE ในการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ
ผู้พัฒนา
พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1998 โดยสำนักงานภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกในยุโรป และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 30 ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทยด้วย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉบับแปล ดูได้ในเว็บไซต์ของ WHO-5 ที่ https://www.psykiatri-regionh.dk/who-5/Pages/default.aspx
ฉบับภาษาไทย แปลและศึกษาคุณสมบัติของเครื่องมือ โดย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงรัตนา สายพานิชย์ ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล และแพทย์หญิงสุธิดา สัมฤทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ข้อบ่งชี้ในการใช้
1. ใช้ตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้า ตั้งแต่อายุ 9 ปี ขึ้นไป
2. ใช้การวัดผลลัพธ์ในการทดลองทางคลินิก
คุณสมบัติ
เครื่องมือชุดนี้มีความถูกต้อง (validity) เพียงพอในการตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้า และในการวัดผลลัพธ์ในการทดลองทางคลินิก ประสบความสำเร็จในการนำไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยทางการแพทย์หลากหลายสาขา
จากการวิเคราะห์การตอบสนองต่อข้อคำถาม พบว่ามีความเหมาะสมทั้งในผู้ที่อายุน้อย และผู้สูงอายุ จึงถือได้ว่ามีความถูกต้องเชิงโครงสร้าง (construct validity) ที่ดี และจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) รวม 18 เรื่อง พบว่า WHO-5 มีค่าความไว (sensitivity) เท่ากับ 0.86 และมีค่าความจำเพาะ (specificity) เท่ากับ 0.81 (Topp et al., 2015)
ฉบับภาษาไทย (WHO-5-T) แปลโดยมีการปรับคำให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย มีค่าความเชื่อมั่น (internal consistency) Cronbach’s alpha เท่ากับ 0.87 และมีความถูกต้อง (validity) เมื่อเทียบกับ the Hamilton Rating Scale for Depression เบนเข้าหากันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับปานกลาง จุดตัดค่าคะแนนในการคัดกรองภาวะซึมเศร้า ในระบบบริการระดับปฐมภูมิ น้อยกว่า 12 คะแนน
มีค่าความไว (sensitivity) เท่ากับ 0.89 และมีค่าความจำเพาะ (specificity) เท่ากับ 0.71 ในการค้นหาภาวะซึมเศร้า มีค่า AUC เท่ากับ 0.86
ข้อจำกัด
เหมาะสำหรับเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป เป็นแบบรายงานด้วยตนเอง เด็กต้องสามารถอ่านหนังสือได้เอง
วิธีการใช้
เป็นแบบสอบถามสั้น ๆ ที่เด็กและเยาวชนสามารถรายงานได้ด้วยตนเอง และดำเนินการได้ในบริบทต่าง ๆ แบบสอบถามประกอบด้วยข้อคำถามรวมทั้งหมด 5 ข้อ
แต่ละมีข้อ 6 ตัวเลือก คือ “ตลอดเวลา” “เป็นส่วนใหญ่” “มากกว่าครึ่งหนึ่ง” “น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง” “มีบ้างบางเวลา” “ไม่เคยเลย” ให้เลือกตอบเพียงตัวเลือกเดียว ในแต่ละข้อคำถาม โดยตอบให้ครบทุกข้อ
การให้คะแนน
การให้คะแนนแต่ละข้อ คิดคะแนนเป็น 6 ระดับ ดังนี้
• ตลอดเวลา = 5 คะแนน
• เป็นส่วนใหญ่ = 4 คะแนน
• มากกว่าครึ่งหนึ่ง = 3 คะแนน
• น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง = 2 คะแนน
• มีบ้างบางเวลา = 1 คะแนน
• ไม่เคยเลย = 0 คะแนน
คะแนนดิบคำนวณจากการรวมคะแนนของคำตอบทั้ง 5 ข้อ คะแนนดิบนี้มีช่วงคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 25, 0 หมายถึง มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 25 หมายถึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เพื่อให้ได้คะแนนเป็นร้อยละ จาก 0 ถึง 100, เอาคะแนนดิบที่ได้คูณด้วย 4 คะแนนร้อยละที่เป็น 0 หมายถึง มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี, ในขณะที่คะแนนเป็น 100 หมายถึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การแปลผล
แนะนำให้ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า (ICD-10) ถ้าคะแนนดิบต่ำกว่า 13 (คะแนนร้อยละต่ำกว่า 50) หรือถ้าผู้ป่วยตอบ 0 ถึง 1 ในหัวข้อใด ๆ ใน 5 หัวข้อนั้น
คะแนนที่ต่ำกว่า 13 บ่งชี้ถึงสุขภาวะที่ไม่ดี และเป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการทดสอบภาวะซึมเศร้าโดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า (ICD-10)
ตัวอย่าง
ดรรชนีชี้วัดสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก หรือ “The World Health Organization- Five Well-Being Index” (WHO-5)

เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
Psykiatric Center North Zealand, Psychiatric Research Unit. (2022). WHO-5 Questionnaires. [Online]. from https://www.psykiatri-regionh.dk/who-5/who-5-questionnaires/Pages/default.aspx
Saipanish, R., Lotrakul, M. & Sumrithe, S. (2009). Reliability and validity of the Thai version of the WHO-five well-being Index in primary care patients. Psychiatry Clin. Neurosci, 63: 141–6.
Topp, C.W., Ostergaard, S.D., Sondergaard, S., & Bech, P. (2015). The WHO-5 well-being index: A systematic review of the literature. Psychotherapy and Psychosomatics, 84: 167-76.
Wilson, J. M. G. & Jungner, G. (1968). Principles and practice of screening for disease. WHO Chronicle. Geneva: World Health Organization. 22(11): 473.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). ดรรชนีชี้วัดสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก WHO-5. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen16-who5.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »