
แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ
The Strengths and Difficulties Questionnaire
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ (The Strengths and Difficulties Questionnaire) เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในเด็ก เป็นแบบคัดกรองที่ใช้ง่าย สั้น กระชับ ครอบคลุมปัญหาหลัก มีจุดเด่นคือ มีการประเมินถึงผลกระทบต่อพฤติกรรม ใช้ติดตามความก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงของอาการได้อีกด้วย
ผู้พัฒนา
พัฒนาจากต้นฉบับเดิมของ นายแพทย์โรเบิร์ต กู๊ดแมน (Robert Goodman) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ.1994 แปลและศึกษาความถูกต้องโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ฉบับแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 และฉบับปรับปรุงในปี พ.ศ.2546 โดยเพิ่มการตรวจสอบความตรงด้านภาษา
ข้อบ่งชี้ในการใช้
1. ใช้คัดกรองปัญหาพฤติกรรม ในเด็กอายุ 4-16 ปี ในโรงเรียน หรือสถานบริการสาธารณสุข
2. ใช้ประเมินระดับความรุนแรงของปัญหาพฤติกรรม
3. ใช้ติดตามความก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงของอาการ
คุณสมบัติ
ฉบับปรับปรุงในปี พ.ศ.2546 ได้เพิ่มขั้นตอนการแปลและแปลย้อนกลับเป็นภาษาอังกฤษ ตรวจสอบความตรงของการแปลโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศไทย สหพันธรัฐเยอรมัน และสหราชอาณาจักร และมีการศึกษาหาค่าเกณฑ์เฉลี่ยในเด็กไทย ในปี พ.ศ.2547
จากการประเมินค่าเกณฑ์เฉลี่ยของระดับคะแนนมีปัญหา ในฉบับภาษาไทย พบว่าสูงกว่าฉบับที่มีการศึกษาในประเทศแถบตะวันตกเล็กน้อย ดังนั้น จึงควรมีการใช้จุดตัดคะแนนเพื่อคัดแยกเด็กกลุ่มมีปัญหาออกจากเด็กกลุ่มอื่น ๆ โดยใช้เกณฑ์เฉลี่ยของไทย
การหาค่าความเชื่อถือได้ (reliability) พบว่า ข้อคำถามทุกข้อมีค่าความสอดคล้องภายใน (internal consistency) ระดับสูง โดยมีค่า Cronbach’s alpha ฉบับครู เท่ากับ 0.76 ฉบับผู้ปกครอง เท่ากับ 0.81 และฉบับประเมินตนเอง เท่ากับ 0.70 ปัจจัยด้านอายุ เพศ มีลักษณะความสัมพันธ์สอดคล้องกับฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลอื่น ๆ
ข้อจำกัด
แบบประเมินนี้ไม่สามารถประเมินปัญหาการเรียน ในเรื่อง ความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือความบกพร่องทางสติปัญญาได้ และปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ในเด็กโต เข่น สารเสพติด เล่นการพนัน พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น การใช้ในโรงเรียนจึงควรมีระบบคัดกรองและการช่วยเหลืออื่นร่วมด้วย ในกรณีที่ต้องการค้นหาปัญหาที่ครอบคลุมมากขึ้น
วิธีการใช้
แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ ประกอบด้วยแบบประเมิน 3 ฉบับ คือ
1. ฉบับครูประเมิน
2. ฉบับผู้ปกครองประเมิน
3. ฉบับนักเรียนประเมินตนเอง (เฉพาะเด็กโต อายุ 11-16 ปี)
ซึ่งอาจเลือกใช้เพียงบางฉบับ หรือใช้ร่วมกันก็ได้ โดยทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะข้อคำถามคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างกันในเกณฑ์ที่ใช้แปลผลเล็กน้อย โดยมีการกำหนดจุดตัดที่เหมาะสมในการสืบค้นปัญหาแต่ละด้านของแบบประเมินแต่ละฉบับแตกต่างกัน
แบบประเมินประกอบด้วยข้อคำถาม ฉบับละ 25 ข้อ ซึ่งมีลักษณะของพฤติกรรมด้านบวกและด้านลบ
จัดเป็นกลุ่มพฤติกรรม 5 ด้าน ๆ ละ 5 ข้อ คือ
1. พฤติกรรมเกเร (Conduct problems) ข้อ 5, 7, 12, 18, 22
2. พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ข้อ 2, 10, 15, 21, 25
3. ปัญหาทางอารมณ์ (Emotional problems) ข้อ 3, 8, 13, 16, 24
4. ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน (Peer problems) ข้อ 6, 11, 14, 19, 23
5. พฤติกรรมสัมพันธภาพทางสังคม (Pro-social behavior) ข้อ 1, 4, 9, 17, 20
คะแนนรวมของกลุ่มที่ 1-4 เป็นคะแนนที่แสดงถึงปัญหาพฤติกรรมของเด็กในด้านนั้น ๆ (Total Difficulties Score) ส่วนคะแนนในด้านที่ 5 เป็นคะแนนที่แสดงถึงจุดแข็งของเด็ก (Strength score) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณานำจุดแข็งมาใช้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ปัญหาในด้านอื่น ๆ ให้กับเด็กต่อไป ในขณะเดียวกัน คะแนนด้านสัมพันธภาพทางสังคมก็เป็นตัวบ่งชี้ ให้ครูได้ทราบถึงความยากง่ายในการแก้ปัญหา ถ้าเด็กมีจุดแข็ง (คะแนนด้านสัมพันธภาพทางสังคมสูง) การให้ความช่วยเหลือปัญหาพฤติกรรมจะง่ายกว่าเด็กที่ไม่มีจุดแข็ง (คะแนนด้านสัมพันธภาพทางสังคมต่ำ) เป็นต้น
แต่ละมีข้อ 3 ตัวเลือก คือ “ไม่จริง” “จริงบ้าง” และ “จริงแน่นอน” ให้เลือกตอบเพียงตัวเลือกเดียว ในแต่ละข้อคำถาม โดยตอบให้ครบทุกข้อ ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงกับพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยกเว้นการใช้เพื่อติดตามลักษณะพฤติกรรมของนักเรียน การประเมินซ้ำสามารถทำได้ทุกปีการศึกษา
คำถามเพิ่มเติมในด้านหลังของแบบประเมิน เป็นการประเมินผลกระทบของพฤติกรรมว่ามีความเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง ตัวเด็กเอง มีผลต่อสัมพันธภาพทางสังคม ชีวิตประจำวันของเด็ก มากน้อยอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ใช้คำลงสรุปว่า “เป็นระดับความรุนแรงของปัญหา”
อาจใช้การสัมภาษณ์หรือเครื่องมืออื่นช่วยในการพิจารณาเพิ่มเติม กรณีที่เห็นว่าผลที่ได้ขัดแย้งกับความเป็นจริง อย่าลืมว่าไม่มีเครื่องมือชนิดใดสมบูรณ์แบบ ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของผู้ตอบแบบประเมินเป็นสำคัญ แบบประเมินชุดนี้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือในการคัดกรองปัญหานักเรียนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวชี้นำครูในการตัดสินปัญหาของนักเรียน
ผู้ประเมินโดยเฉพาะครู ผู้ปกครอง ควรรู้จักเด็กและมีความใกล้ชิดกับเด็กมาระยะเวลาหนึ่ง และควรประเมินทั้ง 25 ข้อ ในครั้งเดียวกัน ระยะเวลาที่นักเรียนประเมินตนเอง ครูเป็นผู้ประเมินนักเรียน หรือผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินนักเรียน ควรเป็นระยะเวลาที่ใกล้กัน
การให้คะแนน
การให้คะแนน แบ่งเป็น 5 ด้าน ด้านละ 5 ข้อ คะแนนแต่ละด้านจะอยู่ระหว่าง 0 - 10 คะแนน คะแนนรวม 0 - 40 คะแนน (รวม 4 ด้าน ยกเว้นด้านสัมพันธภาพทางสังคม)
ข้อคำถามส่วนใหญ่ ถ้าตอบ
“ไม่จริง” ให้ 0 คะแนน
“จริงบ้าง” ให้ 1 คะแนน
“จริงแน่นอน” ให้ 2 คะแนน
ในขณะที่บางข้อ การให้คะแนนจะตรงกันข้าม
ข้อคำถามที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 8, 9, 10, 12, 13, 15, 16, 17, 18, 19, 20, 22, 23 และ 24 ตอบ
“ไม่จริง” ให้ 0 คะแนน
“จริงบ้าง” ให้ 1 คะแนน
“จริงแน่นอน” ให้ 2 คะแนน
ข้อคำถามที่ 7, 11, 14, 21 และ 25 ตอบ
“ไม่จริง” ให้ 2 คะแนน
“จริงบ้าง” ให้ 1 คะแนน
“จริงแน่นอน” ให้ 0 คะแนน
ให้คิดคะแนนรวม 4 ด้าน ยกเว้นด้านสัมพันธภาพทางสังคม จากข้อคำถามทั้งหมด 20 ข้อ และคิดคะแนนรวมในแต่ละด้าน ๆ ละ 5 ข้อ
การแปลผล
ในแบบแบบประเมินแต่ละฉบับจะมีจุดตัดของคะแนน ที่แบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ “กลุ่มปกติ” “กลุ่มเสี่ยง” และ “กลุ่มมีปัญหา” ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีระบบการดูแลช่วยเหลือตามลำดับขั้น
การแปลผลแบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน ฉบับภาษาไทย จากการศึกษาหาค่าเกณฑ์เฉลี่ยในเด็กไทย สำหรับฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.2546 เป็นดังนี้
SDQ ฉบับครูประเมิน
รายการประเมิน | ปกติ | เสี่ยง | มีปัญหา |
---|---|---|---|
คะแนนรวม | 0–13 | 14–16 | 17–40 |
คะแนนปัญหาทางอารมณ์ | 0–3 | 4 | 5–10 |
คะแนนพฤติกรรมเกเร | 0–3 | 4 | 5–10 |
คะแนนพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง | 0–5 | 6 | 7–10 |
คะแนนปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพทางสังคม | 5–10 (มีจุดแข็ง) |
- | 0–4 (ไม่มีจุดแข็ง) |
SDQ ฉบับผู้ปกครองประเมิน
รายการประเมิน | ปกติ | เสี่ยง | มีปัญหา |
---|---|---|---|
คะแนนรวม | 0–15 | 16–18 | 19–40 |
คะแนนปัญหาทางอารมณ์ | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมเกเร | 0–3 | 4 | 5–10 |
คะแนนพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง | 0–5 | 6 | 7–10 |
คะแนนปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพทางสังคม | 5–10 (มีจุดแข็ง) |
- | 0–4 (ไม่มีจุดแข็ง) |
SDQ ฉบับนักเรียนประเมินตนเอง
รายการประเมิน | ปกติ | เสี่ยง | มีปัญหา |
---|---|---|---|
คะแนนรวม | 0–15 | 16–18 | 19–40 |
คะแนนปัญหาทางอารมณ์ | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมเกเร | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง | 0–5 | 6 | 7–10 |
คะแนนปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน | 0–4 | 5 | 6–10 |
คะแนนพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพทางสังคม | 5–10 (มีจุดแข็ง) |
- | 0–4 (ไม่มีจุดแข็ง) |
ตัวอย่าง
แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ (The Strengths and Difficulties Questionnaire)
SDQ ฉบับครูประเมิน


SDQ ฉบับผู้ปกครองประเมิน


SDQ ฉบับนักเรียนประเมินตนเอง


เอกสารอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต, สถาบันราชานุกูล. (2551). คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, พรรณพิมล วิปุลากร, สุภาวดี นวลมณี, โวฟกัง เวิร์นเนอร์ และ อภิชัย มงคล. (2554). การ ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน (SDQ ฉบับภาษาไทย): การเปลี่ยนแปลงและแนวทางการใช้. วารสารสุขภาพจิตแห่ง ประเทศไทย, 19(2): 128-34.
Dowdy, E., Ritchey, K. & Kamphaus, R. W. (2010). School-based screening: a population-based approach to inform and monitor children’s mental health need. School Mental Health, 2: 166–76.
Goodman, R. (2001). Psychometric properties of the strengths and difficulties questionnaires. J Am Acad Child Psy, 40: 1337-45.
Woerner, W., Nuanmanee, S., Becker, A., Wongpiromsarn, Y. & Mongkol, A. (2011). Normative data and psychometric properties of Thai version of the Strengths and Difficulties Questionnaire (SDQ). J Ment Health Thai, 19(1): 42-57.
Youthinmind. (2020). SDQ: Thai. [Online]. from https://www.sdqinfo.org/py/sdqinfo/b3.py?language=Thai
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน SDQ. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/screen21-sdq.html
(บทความต้นฉบับ: การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ปี 2560)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)





กลับศูนย์วิชาการ »