ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ดนตรีบำบัด
Music Therapy
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ดนตรี (music) คือ ลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยมีแบบแผนและโครงสร้างชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 ด้าน คือ เพื่อความสุนทรีย์ เพื่อการศึกษา และเพื่อการบำบัดรักษา
ดนตรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ สังคม และภูมิปัญญา โดยมีผลต่อการทำงานของสมองในหลายด้าน องค์ประกอบต่าง ๆ ทางดนตรี ก็สามารถให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน
ดนตรีบำบัด คืออะไร
ดนตรีบำบัด (music therapy) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำดนตรี หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยน พัฒนา และคงรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะของร่างกาย จิตใจ สังคม และภูมิปัญญา โดยมีนักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายในทางดนตรีศึกษา ผ่านกิจกรรมทางดนตรีต่าง ๆ อย่างมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์
เป้าหมายของดนตรีบำบัดไม่ได้เน้นที่ทักษะทางดนตรี แต่เน้นในด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สังคม และภูมิปัญญา ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคนที่มารับการบำบัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบท ทั้งที่บ้าน สถานศึกษา สถานพยาบาลและศูนย์สุขภาพต่าง ๆ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ และกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่แตกต่างกันไป เช่น ปัญหาบกพร่องของพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้, โรคซึมเศร้า, โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์, โรคหลอดเลือดสมอง, ความพิการทางร่างกาย, อาการเจ็บปวด และภาวะอื่น ๆ
สำหรับบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดได้เช่นกัน ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียด และประกอบในการออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
1) ปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีความสงบ และมีทัศนคติในเชิงบวกเพิ่มขึ้น
2) ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล (anxiety/ stress management)
3) กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ (cognitive skill)
4) กระตุ้นการรับรู้ (perception)
5) เสริมสร้างสมาธิ (attention span)
6) เสริมสร้างทักษะสังคม (social skill)
7) พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา (communication and language skill)
8) พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill)
9) ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (muscle tension)
10) การจัดการอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ (pain management)
11) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavior modification)
12) สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่าง ๆ (therapeutic alliance)
13) ช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่าง ๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
โดยสรุปดนตรีบำบัด มีประโยชน์หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ โดยบูรณาการเข้ากับการบำบัดรักษาอื่น ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งในโรงพยาบาล ในโรงเรียน และในกลุ่มเด็กพิเศษ
ลักษณะเด่นของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดมีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวหลายด้าน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับอายุ ทุกความหลากหลายของปัญหา สามารถกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการได้ในทุกด้าน
ลักษณะเด่นของดนตรีบำบัด ได้แก่
1) กระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน และช่วยให้มีสมาธิจดจ่อได้ดียิ่งขึ้น
2) ประยุกต์เข้ากับระดับความสามารถของบุคคลได้ง่าย และสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสามารถด้วยเช่นกัน
3) เป็นเสมือนแบบฝึกหัดที่เข้าใจง่าย แม้จะไม่รู้ภาษาก็ตาม
4) เสริมสร้างการรับรู้ที่มีความหมาย และมีความสนุกสนานไปพร้อมกัน
5) เสริมสร้างบริบททางสังคม ให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ให้โครงสร้างหลักเบื้องต้นในการสื่อสาร
6) เป็นเครื่องมือช่วยจำที่มีประสิทธิภาพ
7) สนับสนุนและเสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหว
8) สามารถแทรกซึมเข้าไปในความทรงจำ และอารมณ์ได้
9) เสริมสร้างการตอบสนองต่อข้อมูลป้อนกลับแบบทันทีและไม่มีกำแพงด้านภาษา
10) ประสบความสำเร็จในการบำบัดได้ง่าย เนื่องจากประยุกต์ใช้ได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และ ชุติวรรณ แก้วไสย. (2547). ดนตรีบำบัด (Music Therapy). ในเอกสารพิธีเปิดศูนย์ดนตรีบำบัด. สถาบันราชานุกูล.
บทความแก้ไขล่าสุด : มีนาคม 2566
บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). ดนตรีบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/a06-musictherapy.htm
บทความเพิ่มเติมเรื่องดนตรีบำบัด
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ