ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ศิลปะบำบัด
Art Therapy
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางศิลปะเพื่อวินิจฉัยหาข้อบกพร่อง ความผิดปกติบางประการของกระบวนการทางจิตใจ และเพื่อใช้กิจกรรมทางศิลปะที่เหมาะสม ช่วยในการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้ดีขึ้น
ศิลปะบำบัด มีประโยชน์ในด้าน การพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วย กระตุ้นการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะสังคมด้วย
นับเป็นทางเลือกในการดูแลรักษารูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยเสริมการดูแลรักษาโดยวิธีอื่นๆ เพื่อ
· ลดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม
· เสริมสร้างศักยภาพในด้านต่าง ๆ
กลุ่มเด็กพิเศษกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือปัญหาด้านพฤติกรรม สามารถนำศิลปะบำบัดมาใช้ช่วยเสริม เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี
แนวคิดศิลปะบำบัด
ศิลปะ คือหนทางแห่งการปลดปล่อย อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ตามความต้องการของแต่ละคน เด็กก็เช่นกัน พวกเขาต้องการ สิทธิ เสรีภาพ ที่จะแสดงออกซึ่ง ความต้องการของเขา อย่างมีความสุข พวกเขาต้องการโอกาสที่จะพัฒนา ศักยภาพของตัวเขาเองในด้าน การเรียน การเล่น และการแสดงออกต่าง ๆ
การประเมินผลการดูแลรักษา ด้วยศิลปะบำบัด เน้นที่ กระบวนการ และกิจกรรมทางศิลปะ แต่ไม่ได้เน้นที่ผลงานทางศิลปะ
ศิลปะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์คือลักษณะของความคิดที่มีหลายมิติ หลายมุมมอง หลายทิศทาง สามารถคิดได้กว้างไกล ไร้กรอบ ไร้ขอบเขต ประกอบด้วย ความคิดริเริ่ม ความคล่องแคล่ว ความยืดหยุ่น และความละเอียดลออ นำไปสู่การคิด ประดิษฐ์ สิ่งแปลกใหม่ และบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้มาจาก ประสบการณ์เดิม เชื่อมโยงกับ สถานการณ์ใหม่ สร้างเป็น องค์ความรู้ใหม่ และเกิดนวัตกรรมตามมา
ศิลปะสามารถช่วยเพิ่มองค์ประกอบต่าง ๆ ของความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง 4 ด้าน ดังนี้
· ความคิดริเริ่ม (Originality) ช่วยให้มีความคิดแปลกใหม่เกิดการนำความรู้เดิมมาคิดดัดแปลง และประยุกต์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่
· ความคล่องแคล่ว (Fluency) ช่วยให้มีความคิดที่ไม่ซ้ำในเรื่องเดียวกันไม่หมกมุ่น คิดวกวน สามารถ คิดได้รวดเร็ว นำมาซึ่ง การพูดที่คล่องแคล่ว และการกระทำที่รวดเร็ว
· ความยืดหยุ่น (Flexibility) ช่วยให้คิดได้หลากหลายมุมมองไม่ซ้ำรูปแบบหรือกรอบคิด แบบเดิม ไม่ยึดติด สามารถเห็นประโยชน์ของสิ่งของอย่างหนึ่งว่า มีอะไรบ้าง ได้หลายอย่าง
· ความละเอียดลออ (Elaboration) ช่วยให้มีความพิถีพิถันในการตกแต่งรายละเอียด ช่างสังเกต ในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือมองข้าม
ศิลปะพัฒนาอารมณ์
การนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาอารมณ์ จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ และจิตใจ ได้ระบายปัญหา ความคับข้องใจ ความรู้สึกที่ซ่อนเร้นในใจ ผ่านออกมาทางงานศิลปะ ระบายอารมณ์ออกมาในหนทางที่สร้างสรรค์ ผ่านการวาดรูป ระบายสี การปั้น และกระบวนการอื่นๆ ทางศิลปะ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความขุ่นมัวในจิตใจ เข้าใจและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ของตนเอง ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ สามารถยับยั้งและควบคุมได้ดีขึ้น มีสมาธิ ลดความตึงเครียด และความวิตกกังวลลงได้ในที่สุด
ศิลปะเสริมสร้างทักษะสังคม
ศิลปะช่วยให้เรียนรู้ทักษะสังคมผ่านการทำกิจกรรมศิลปะร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักการรอคอย ผลัดกันทำ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเรียนรู้ที่จะแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความต้องการของตนเอง และการเข้าใจผู้อื่น โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ
ศิลปะพัฒนากล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว
ศิลปะตอบสนองการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างอิสระ และเป็นธรรมชาติตามระดับพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาของกล้ามเนื้อ และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบจนบรรลุเป้าหมายงานที่กำหนดไว้ได้
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และสมจิตร ไกรศรี. (2550). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
เลิศศิริร์ บวรกิตติ, เทพศักดิ์ ทองนพคุณ, วรรณะ อูนากูล, Longo, J.A., Garcia, B., Tupper, H. (2548). ศิลปกรรมบำบัด: ความสังเขป. วารสารวิชาการสาธารณสุข. 14 (6): 1051-1054.
Edwards, D. (2004). Art therapy. London: SAGE publications.
Malchiodi, C. A. (1999). Medical art therapy with children. London: Jessica Kingsley.
Rosal, M. (1995). Art therapy with children. Abbeygate Press: Isle of Palms, SC.
บทความแก้ไขล่าสุด : มีนาคม 2566
บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). ศิลปะบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/arttherapy.htm
บทความเพิ่มเติมเรื่องศิลปะบำบัด

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ