ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล
Art Therapy Program in Rajanukul Institute
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ผู้วิจัย
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, พ.บ., ว.ว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
สมจิตร ไกรศรี, ค.ม.
บทคัดย่อ
ศิลปกรรมบำบัด เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วย
สถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาโปแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดเป็นศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด และในปี พ.ศ. 2552 พัฒนาค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว
พบว่าโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล ช่วยให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้เสริมสร้างศักยภาพทางสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม และสังคม รวมถึงช่วยให้ ผู้ดูแล ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ และ เชื่อมโยงการดูแลในรูปแบบเครือข่าย
บทความเรื่องนี้ได้นำเสนอการพัฒนาโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล และผลงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน 23 ปีที่ผ่านมา
คำสำคัญ: ศิลปกรรมบำบัด, สถาบันราชานุกูล, โปแกรม, ศูนย์สาธิต, ค่ายครอบครัว, ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา
บทนำ
ศิลปกรรมบำบัด (art therapy) เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วย
ศิลปกรรมบำบัด มีคำนิยามที่หลากหลายตามแนวคิดต่างๆ โดยทั่วไปมีรากฐานมาจากแนวคิดดั้งเดิม 2 แนวคิดหลัก คือ แนวคิด “art as therapy” ของ Edith Kramer ที่ศิลปะเป็นการบำบัดในตัวมันเอง และแนวคิด “art therapy” ของ แพทย์หญิง Margaret Naumburg ที่ศิลปะเป็นเครื่องมือในการทำจิตบำบัด ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 แนวคิดนี้ก็ได้ถูกนำมาผสมผสานกันอย่างลงตัวพอสมควร
ในแต่ละประเทศจะมีคำนิยามของ “ศิลปกรรมบำบัด” แตกต่างกันไปตามที่สมาคมนักศิลปะบำบัดกำหนด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับของการใช้ศิลปะเพื่อการเยียวยา (therapeutic art) จนถึงการเป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด (psychotherapy) บางประเทศกำหนดว่านักศิลปะบำบัด (art therapist) จะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรเฉพาะที่จัดขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ในขณะที่บางประเทศถือเป็นการบำบัดเชิงสร้างสรรค์ ที่นักบำบัดทั่วไปสามารถฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ เพื่อเสริมทักษะ พัฒนาความเชี่ยวชาญ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์
The British association of art therapists ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด โดยใช้เครื่องมือทางศิลปะเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร เพื่อก่อให้เกิดการแสดงตัวตนออกมา และสะท้อนกลับไป โดยนักศิลปะบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมมา ผู้เข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือทักษะทางด้านศิลปะมาก่อน นักศิลปะบำบัดเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความประณีตและงดงามทางศิลปะ แต่เป้าหมายคือการช่วยเสริมให้ผู้เข้ารับการบำบัดเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโต โดยใช้เครื่องมือทางศิลปะที่หลากหลายภายในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย
The American art therapy association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นการทำงานศิลปะเพื่อการบำบัดรักษา โดยอาศัยสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดรักษา ระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เจ็บป่วยทางกาย ผู้ได้รับบาดแผลทางใจ ผู้มีความยากลำบากในการใช้ชีวิต หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง
The Canadian art therapy association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์และการทำจิตบำบัด เอื้อต่อการสำรวจและเข้าใจตนเอง เปิดโอกาสให้มีแสดงออกทางอารมณ์ และเกิดการเยียวยาผ่านทางสื่ออวัจนะภาษาต่างๆ เช่น ภาพ สี รูปทรง ซึ่งเหมาะสมกับเด็กที่ยังไม่สามารถสื่อภาษาได้ดี หรือผู้ใหญ่ที่มักใช้เหตุผลบิดเบือนอารมณ์ที่เก็บซ่อนไว้ ศิลปกรรมบำบัดช่วยให้ผู้รับการบำบัดสามารถทลายกำแพงที่ขวางกั้นการแสดงออกทางอารมณ์ ผ่านทางเครื่องมือศิลปะแบบง่ายๆ
The Australian Creative Arts Therapies Association ให้คำนิยามของศิลปกรรมบำบัดไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ทางศิลปะ เพื่อเอื้อให้เกิดการแสดงตัวตน การสื่อสาร การตระหนักรู้ในตนเอง และการพัฒนาตนเอง โดยนักศิลปะบำบัดจะทำงานในสายสุขภาพจิต หรือสายสุขภาพที่เกี่ยวข้อง กระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าวรวมถึง ทัศนศิลป์ การปั้น การเต้น ละคร ดนตรี และบทกวี โดยผู้บำบัดมีอิสระในการเลือกใช้ทฤษฎีที่แตกต่างกันตามที่ตนเองถนัดและคุ้นเคย
ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งสมาคมนักศิลปกรรมบำบัดในระดับชาติ แต่เริ่มการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งชมรมศิลปกรรมบำบัดไทย ยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนร่วมกัน แต่จะมีแนวคิดที่หลากหลาย ผสมผสาน และการประยุกต์ใช้แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการบำบัด
ในปัจจุบัน ศิลปกรรมบำบัดเริ่มมีการขยายตัวเป็นทางเลือกใหม่ในการบำบัดรักษา และได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมไทย มีนักวิชาการ นักบำบัด ที่ไปฝึกอบรมหลักสูตรศิลปกรรมบำบัดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น มีการนำมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น และเตรียมพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปกรรมบำบัดในระดับอุดมศึกษา
สถาบันราชานุกูล มีการนำแนวคิดทางศิลปกรรมบำบัดมาประยุกต์ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้วยเช่นกัน พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน โดยอาจารย์สมจิตร ไกรศรี และทีมงาน พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเสริมสร้าง พัฒนาการ และช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรม ดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น
มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จะมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสามารถพัฒนาได้ และช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย โดยศึกษาการใช้โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบเข้มข้น ในเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 8 คน เป็นเวลา 2 ภาคเรียน พบว่าระดับพัฒนาการด้านการขีดเขียด (graphic developmental level) เพิ่มขึ้นจาก 5 เดือน เป็น 33 เดือน
ศิลปะเป็นเสมือนภาษาที่สอง ของกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร และการเรียนรู้ เด็กสามารถเรียนรู้ความคิดรวบยอด ผ่านทางศิลปะได้เร็วกว่าวิธีการสื่อสารหลัก และสามารถใช้งานศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เขารู้และสิ่งที่เขาคิด ดังนั้นศิลปะจึงนำไปสู่เป้าหมายในการบำบัดได้ดี
จุดแข็งที่สำคัญคือ ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เข้าใจง่ายในทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีภาษา พูดไม่ได้ ก็สามารถเรียนรู้ได้ผ่านงานศิลปะ สามารถนำศิลปะมาช่วยในเรื่องการเสริมสร้างสมาธิ การจัดการอารมณ์ เสริมสร้างทักษะทางสังคม เพิ่มความสามารถในการสื่อสาร เรียนรู้การทำงานเป็นขั้นตอน เสริมสร้างความสามารถทางด้านมิติสัมพันธ์ การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยลดความคับข้องใจ ระบายอารมณ์ออกมาในหนทางที่สร้างสรรค์ รวมถึงการลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรงได้อีกด้วย
ในการทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ผู้รับการบำบัดควรได้รับการกระตุ้น ส่งเสริม และแนะนำ ในระหว่างทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดไม่ได้เน้นที่ผลงานทางศิลปะที่เกิดขึ้น แต่เน้นที่กระบวนการทางศิลปะเป็นสำคัญ ความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมายรองลงมา ส่วนผลงานเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น
โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล
ในปี พ.ศ. 2549 ผู้เขียน นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และอาจารย์สมจิตร ไกรศรี ได้ร่วมพัฒนา “โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล” สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา (developmental and intellectual disabilities) ช่วงอายุ 15-25 ปี โดยรวบรวมประสบการณ์การดำเนินงานด้านศิลปกรรมบำบัด จัดทำเป็นหนังสือคู่มือกิจกรรม และแผ่นซีดี
โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด จัดเป็นการบำบัดแบบกลุ่ม รูปแบบโรงพยาบาลกลางวัน สัปดาห์ละ 4 ครั้งๆ ละ 6 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วย ฐานกิจกรรมศิลปะ 6 ฐาน คือ วาดรูป ระบายสี ปั้น ประดิษฐ์ ถักทอ และบาติก เสริมด้วยกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมเสริมประสบการณ์พิเศษ ในรูปแบบบูรณาการ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลง ลดพฤติกรรมก้าวร้าว เสริมสร้างสมาธิ และพัฒนาทักษะสังคม
วัตถุประสงค์ของโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด คือ
1) ทางสติปัญญาและการเรียนรู้
1.1 ให้รู้จักวิธีค้นคว้าและพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาง่ายๆ ตามศักยภาพแต่ละบุคคล
1.2 ให้ได้รับการผ่านการฝึกฝนจนมีทักษะในการรับรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า
1.3 ให้มีความสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นได้
1.4 ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว
2) ทางอารมณ์
2.1 ให้มีเชื่อมั่นในตนเอง
2.2 ให้มีความไว้วางใจต่อผู้อื่น
2.3 ให้สามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสม
3) ทางสังคม
3.1 ให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และข้อตกลง
3.2 ให้เรียนรู้การมีส่วนร่วม การให้ความร่วมมือ และเคารพสิทธิของผู้อื่น
3.3 ให้เรียนรู้การเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่มทั้งในบทบาทการเป็นผู้นำและผู้ตาม
3.4 ให้เรียนรู้ความเป็นเจ้าของ การแบ่งบัน การรอคอย และการแลกเปลี่ยน
4) ทางร่างกาย
4.1 ให้สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดเล็กส่วนต่างๆ
4.2 ให้รู้จักระมัดระวังและสนใจเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของตนเอง
5) ทางด้านสุนทรียศาสตร์
5.1 ให้มีการรับรู้ และเข้าใจถึงความงามทางศิลปะ
5.2 ให้รับรู้ถึงความงามทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.3 ให้สามารถแสดงออก ทางกิจกรรมการเคลื่อนไหว ศิลปะ และการแสดง
5.4 ให้มีความสุข สามารถถ่ายทอดผลงานให้ผู้อื่นเข้าใจ
กิจกรรมกลุ่ม หมายถึง การสนทนาพูดคุย การอภิปรายชักถาม การสาธิต การเล่นบทบาทสมมุติ นอกจากนี้กิจกรรมกลุ่มยังรวมไปถึงกิจกรรมที่ครูผู้ฝึก กับผู้บกพร่องทางสติปัญญาได้ทำงานไปพร้อมๆ กันอีก เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหว เกมต่างๆ
ฐานกิจกรรมศิลปะ 6 ฐาน ประกอบด้วย
ฐานที่ 1 วาดภาพ
ฐานที่ 2 ระบายสี
ฐานที่ 3 ปั้น
ฐานที่ 4 บาติก
ฐานที่ 5 ทอพรม
ฐานที่ 6 ประดิษฐ์
กิจกรรมเสริมประสบการณ์พิเศษ ประกอบด้วย การฝึกเรียนรู้สิ่งแวดล้อม การฝึกเรียนรู้เรื่องชุมชน การฝึกการฟังคำสั่ง และเล่นตามกติกาในกลุ่ม การฝึกการมีส่วนร่วม การช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น
โปรแกรมนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมสุขภาพจิต และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตกรุงเทพฯ และได้เป็นตัวแทนนำเสนอในงาน นวัตกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549
ในปี พ.ศ. 2551 เริ่มพัฒนาโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มสำหรับเด็กอายุ 4-15 ปี โดยเน้นกลุ่มบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ประยุกต์โปรแกรมที่มีอยู่ โดยเลือกเครื่องมือทางศิลปะที่มีความหลากหลายมากขึ้น นำความรู้เรื่องพัฒนาการทางศิลปะ (artistic development) มาใช้ในการประเมิน และพัฒนาโปรแกรมให้เหมาะสมตามช่วงอายุของเด็ก
ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล
ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551 สถาบันราชานุกูลได้จัดพิธีเปิด “ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล” (art therapy demonstration center, Rajanukul institute) เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด โดยได้รับพระราชทานเงินกองทุนสมเด็จย่าเป็นทุนเริ่มต้น เงินบริจาคจากผู้มีกุศลจิตผ่านทางมูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล ในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากทางสถาบันราชานุกูล
ในพิธีเปิดศูนย์สาธิตฯ ได้จัดสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัด” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศิลปกรรมบำบัด และรู้ถึงทิศทางศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย และในต่างประเทศ ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจนในสาระและประเด็นที่ควรสนใจ และนำไปประยุกต์ใช้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวม 120 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสหสาขา และศิลปินจำนวนหนึ่ง
มีการพัฒนาเทคนิคการทำศิลปกรรมบำบัดแบบเดี่ยวควบคู่กันไปด้วย และพัฒนาการใช้เครื่องมือทางศิลปะในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น โดยการเพิ่มพูนความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดสัมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ จากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด จากทั้งในและต่างประเทศ ผู้เข้าร่วมสัมนาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสหสาขา ได้แก่ แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด ครู นักวิชาการ ฯลฯ รวมถึงศิลปินจำนวนหนึ่ง
ค่ายศิลปกรรมบำบัด สำหรับครอบครัว
ในปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียน นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และอาจารย์สมจิตร ไกรศรี ได้ร่วมพัฒนา “ค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำกิจกรรมศิลปกรรมบำบัด ร่วม กัน เสริมสร้างศักยภาพครอบครัวในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยใช้ กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด รวมถึงการพัฒนาเป็นต้นแบบ โปรแกรม สำหรับการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ให้กับเครือข่าย
กิจกรรม ในค่ายศิลปกรรมบำบัด สำหรับครอบครัว แบ่งออกเป็น 6 แผน กิจกรรม ซึ่งออกแบบ ตรงตามหัวข้อเนื้อหาและเป้าหมายของวัตถุประสงค์ได้อย่างชัดเจน โดยที่เนื้อหามีความสอดคล้องกับทฤษฎีและแนวทางการบำบัดผู้บกพร่องพัฒนาการและสติปัญญา สามารถสร้างศักยภาพให้กับผู้รับการบำบัด ซึ่งเป็นชุดกิจกรรมบำบัดที่มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมดี
ได้จัดทำคู่มือกระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยแผนกิจกรรมประกอบด้วย
แผนที่ 1 การเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
แผนที่ 2 การเรียนรู้กระบวนการผ่านสื่อ อุปกรณ์ทางศิลปะ
แผนที่ 3 การเรียนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติงานทางศิลปะ
แผนที่ 4 การแสดงความสามารถตามศักยภาพของแต่ละคนอย่างอิสระ
แผนที่ 5 การประสานสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว
แผนที่ 6 การประเมินผล
จากผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ในโครงการ เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดยใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด ในรูปแบบค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว พบว่าก่อให้เกิดผลต่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้
ผลต่อผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา พบว่า มีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และได้รับการพัฒนาทางด้านอารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา พฤติกรรม รวมถึง ได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และได้ร่วมเรียนรู้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดระหว่างเด็กและผู้ดูแล
ผลต่อผู้ดูแล พบว่าได้มีการแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ในกลุ่มเกี่ยวกับวิธีการดูแล แนวทางปฏิบัติต่อเด็ก เชื่อมโยงการดูแลเด็กในรูปแบบเครือข่าย ระหว่าง ผู้บำบัด ผู้ดูแล และ ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ทั้งด้านความรู้กระบวนการฝึกปฏิบัติในการดูแล โดยใช้กระบวนการทางด้านศิลปกรรมบำบัด เพื่อนำไปปรับใช้ต่อ ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา
ผลต่อผู้ดำเนินโครงการ พบว่า ได้นำรูปแบบกระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดที่ให้บริการเฉพาะผู้บกพร่องทาง พัฒนาการและสติปัญญา มาขยายผลให้ ผู้ดูแลได้รับแนวความรู้เบื้องต้นทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และสามารถ พัฒนารูปแบบการใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัดให้เป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับให้บริการ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา
บทสรุป
ศิลปกรรมบำบัด เป็นการบำบัดรักษาเสริมและทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาเสริมเข้ากับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เริ่มมีการขยายตัวและได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมไทย
ศิลปกรรมบำบัด มีคำนิยามที่หลากหลายตามแนวคิดต่างๆ โดยทั่วไปมีรากฐานมาจากแนวคิดดั้งเดิม 2 แนวคิดหลัก คือ แนวคิด “art as therapy” ของ Edith Kramer และแนวคิด “art therapy” ของ แพทย์หญิง Margaret Naumburg
สถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาโปแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา อย่างต่อเนื่อง เปิดเป็นศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบโปรแกรมต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมบำบัด เป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านศิลปกรรมบำบัด และพัฒนาค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว
พบว่า การนำแนวคิดทางศิลปกรรมบำบัดมาประยุกต์ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถเสริมสร้าง พัฒนาการและสติปัญญา ช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม และสังคม ดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น และค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว ยังช่วยให้ ผู้ดูแล ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ เชื่อมโยงการดูแลในรูปแบบเครือข่าย
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และ สมจิตร ไกรศรี. (2549). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
พริ้มเพรา ดิษยวณิช. (2544). การวาดภาพเพื่อการประเมินและการรักษา. เชียงใหม่: โรงพิมพ์แสงศิลป์.
ราชบัณฑิตยสถาน, สำนัก. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 1101-1102.
ราชานุกูล, สถาบัน. (2551). ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ.
เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2553). ศิลปกรรมบำบัดสังเขป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.
เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2553). เอกสารสรุปผลการประเมินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาโดยใช้กระบวนการทางศิลปกรรมบำบัด. . สมจิตร ไกรศรี. (2549). เล่าเรื่องจากประสบการณ์ สู่งานด้านศิลปกรรมบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี. (2551). ศิลปะบำบัด คืนสมดุลสู่ชีวิต. เอกสารประกอบการเสวนา ศูนย์จิตปัญญาศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล. อัศนี ชูอรุณ, เลิศศิริร์ บวรกิตติ และสมชัย บวรกิตติ. (2548). ศัพท์สับสน: ศิลปะบำบัด หรือ ศิลปกรรมบำบัด. วารสารราชบัณฑิตยสถาน. 30 (3): 875 .อำไพขนิษฐ สมานวงศ์ไทย, เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2549). ศิลปกรรมบำบัด. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 6: 243-7.
Cattanach A, editor. (1999). Process in the arts therapies. London: Jessica Kingsley.
Edwards D. (2004). Art therapy. London: SAGE publications.
Malchiodi CA. (1999). Medical art therapy with children. London: Jessica Kingsley.
Rosal M. (1995). Art therapy with children. Abbeygate Press: Isle of Palms, SC.
The British Association of Art Therapists. (2010, September 2). What is Art Therapy? [online]. Available URL: http://www.baat.org/art_therapy.html
The Canadian Art Therapy Association . (2010 , September 2). What is Art Therapy? [online]. Available URL: www.catainfo.ca/faq.php
The Australian Creative Arts Therapies Association. (2010, September 2). What do arts therapist do? [online]. Available URL: http://http://http://www.acata.org.au/about_us.htm#what
บทความชุดนี้ตีพิมพ์ใน วารสารสถาบันราชานุกูล
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และสมจิตร ไกรศรี. (2553). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. วารสารราชานุกูล. 25 (3): 22.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2553). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt21-arttherapy_rajanukul.htm
บทความเพิ่มเติมเรื่องศิลปะบำบัด
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ