ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี
HEG: hemoencephalography
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เครื่องเอชอีจี (HEG: hemoencephalography) เป็นเครื่องมือตรวจวัดการปรับเปลี่ยนกระแสการไหลเวียนของเลือดที่ผิวสมอง เครื่องมือประกอบไปด้วยสายคาดศีรษะ ซึ่งบรรจุ infrared spectrophotometer เพื่อทำการตรวจสอบการอิ่มตัวของออกซิเจนในเส้นเลือดฝอยที่ผิวสมอง โดยแสงนี้สามารถส่องผ่านเข้าไปบริเวณผิวสมองและสะท้อนกลับมาที่หนังศีรษะ ตรวจวัดได้โดย photoelectric cells ซึ่งส่งไปวิเคราะห์ข้อมูลที่เครื่อง Biocomp เพื่อแปลผลข้อมูล และป้อนกลับไปให้ผู้ฝึกมองเห็นและเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมทางจอคอมพิวเตอร์ เทคนิคข้างต้น เรียกว่า nIR HEG (near infrared HEG) คิดค้นโดย เฮอเชล ทูมิน (Hershel Toomin)
นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า pIR HEG (passive infrared HEG) คิดค้นโดย เจฟฟรี คาร์เมน (Jeffrey A. Carmen) เป็นการประยุกต์ใช้วิธีแบบดั้งเดิมเข้ากับเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermoscope) โดยวัดอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดที่ผิวสมอง
ชุดอุปกรณ์เครื่อง HEG ยุคแรก
ชุดอุปกรณ์เครื่อง HEG ในปัจจุบัน
แนวคิดของการใช้เครื่องเอชอีจี
biofeedback หรือการป้อนกลับข้อมูลทางชีวภาพ เป็นเทคนิคการฝึกฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายและสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้สัญญาณป้อนกลับจากร่างกายของผู้ฝึกเอง แสดงผลในรูแบบที่เข้าใจง่าย เป็นตัวเลข หรือกราฟ เช่น อัตราการเต้นของชีพจร อุณหภูมิของร่างกาย การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง ก็จะเรียกว่า neurofeedback หรือ EEG biofeedback
สัญญาณป้อนกลับที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ต้องการ เป็นเสมือนแรงเสริมที่ได้รับ ตามหลักของการวางเงื่อนไขแบบ operant conditioning ทำให้ผู้ฝึกพยายามควบคุม และปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เป็นการฝึกเพื่อให้เพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มออกซิเจนไปเลี้ยงสมองในบริเวณที่ต้องการ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาท (neuroplasticity) ให้มีประสิทธิภาพขึ้น
เครื่องเอชอีจี (HEG) เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาจากหลักการดังกล่าวข้างต้น โดยข้อมูลป้อนกลับที่ใช้ วัดจากการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของเลือดที่ผิวสมอง ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคลื่นไฟฟ้าสมอง ทำการประมวลผล แล้วป้อนสัญญาณย้อนกลับออกมาเป็นกราฟแท่ง ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงในแต่ละชั่วขณะ และมีเสียงดนตรีที่สัมพันธ์กับความสูงของกราฟด้วย สะท้อนให้เห็นถึงระดับสมาธิในชั่วขณะนั้น ซึ่งระดับสมาธิที่ดีขึ้น ก็เป็นเสมือนแรงเสริมที่ได้รับ
รูปคลื่นสมองระดับต่างๆ
เครื่องเอชอีจี (HEG) จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวนำทางเพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถสร้างสมาธิ ความตั้งใจได้ โดยดูจากกระบวนการป้อนกลับที่ผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ ที่เป็นลักษณะของกราฟแท่ง และอาจจะมีเสียงดนตรีเพื่อความเพลิดเพลิน
เมื่อเด็กได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้ในการนั่ง สร้างความตั้งใจ และสมาธิด้วยเครื่องเอชอีจีแล้ว เด็กก็จะสามารถเรียนรู้ได้ว่าขณะที่ตนเองนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียนควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะฟังคุณครูสอนในชั้นเรียนได้อย่างตั้งใจ และจะเข้าใจในการเรียนการสอนในที่สุด ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น หากเด็กได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้วก็จะสามารถมีสมาธิ และตั้งใจเรียนได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องอีก
เด็กที่จะบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี จึงต้องมีความนิ่งในระดับหนึ่ง สามารถนั่งอยู่กับที่ได้ และมีความสามารถในการดูกราฟที่ป้อนกลับมาอย่างเข้าใจด้วย เนื่องจากใช้กระบวนการป้อนกลับ (feedback) เป็นแรงเสริม ไม่ได้มีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น เด็กที่ยังไม่นิ่งพอ ไม่สนใจดูกราฟที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จะไม่ได้ประโยชน์จากการบำบัดด้วยวิธีนี้
ประโยชน์ของการใช้เครื่องเอชอีจี
เฮอเชล ทูมิน (Hershel Toomin) แห่งสถาบันวิจัย Biocomp สหรัฐอเมริกา ได้ทำการพัฒนาเครื่องเอชอีจี มากว่า 30 ปี และทำการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนประสิทธิผลของการใช้อย่างต่อเนื่อง
การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่อ้างอิงผลจากการใช้ในเครื่องมือ neurofeedback ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สามารถช่วยเสริมในเรื่องสมาธิได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ส่วนในรายที่อยู่ไม่ค่อยนิ่ง พบว่าตอบสนองบ้าง แต่ทั้งนี้ควรให้ยารักษาร่วมด้วย
มีการศึกษาผลการใช้ HEG ในวัยรุ่นที่มีอาการสมาธิสั้น และผลการตรวจคลื่อนสมอง แบบ QEEG มีความผิดปกติ หลังใช้ HEG สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 10 สัปดาห์ พบว่า ผลตรวจคลื่นสมองเป็นปกติ และสมาธิดีขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวคงอยู่ได้นานถึง 18 เดือนเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ยังพบว่าได้ผลในกลุ่มปัญหาอื่น ๆ เช่น กลุ่มเด็กออทิสติก โรคจิตเภท หรือแม้แต่คนปกติทั่วไปก็พบว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดด้วยเช่นกัน สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (แอลดี) และปัญหาพฤติกรรม พบว่าได้ผลน้อยมาก
มีการศึกษานำร่อง ถึงประสิทธิผล (efficacy) ของการใช้ HEG ในเด็กออทิสติก พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ช่วยลดอาการลงได้ โดย nIR HEG มีประสิทธิผลต่อเรื่องสมาธิมากกว่า ในขณะที่ pIR HEG มีประสิทธิผลต่อการควบคุมอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่า
เครื่องเอชอีจี เริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยได้มีการทำการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้เครื่องเอชอีจี ร่วมในการบำบัดเด็กออทิสติกและสมาธิสั้น พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ เด็กมีความตั้งใจเรียนและเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น
สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยนำร่อง เพื่อศึกษาผลการใช้ HEG ในเด็กออทิสติก กลุ่มตัวอย่าง 39 คน พบว่า ทำให้ปัญหาพฤติกรรมเด็กดีขึ้นกว่าเดิมในทุกด้านอย่างชัดเจน (Conduct/ Learning/ Psychosomatic/ Impulsive-Hyperactive/ Hyperactivity/ Anxiety) ดีขึ้นร้อยละ 72.22 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัยในระยะเวลาที่มากขึ้น กลุ่มตัวอย่างมากขึ้น
กระบวนการของการใช้เครื่องเอชอีจี
ก่อนใช้เครื่องเอชอีจี ควรเตรียมความพร้อมโดยฝึกฝนให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้สายคาดศรีษะ (head band) และยินยอมให้คาดเสียก่อน โดยฝึกคาดศีรษะไว้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาในการคาดแต่ละครั้ง สร้างสัมพันธภาพ และนำเด็กมาที่ห้องเอชอีจี ทดลองให้นั่งช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคย
วิธีการบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี จะคาดสายคาดศรีษะโดยตำแหน่งตัววัดแสงอินฟราเรดตรงกับบริเวณจุดที่กำหนด เช่น FP1, FP2 โดยใช้เวลาข้างละไม่เกิน 10 นาที ฝึกเด็กให้นั่งนิ่งๆ โดยนำสิ่งที่เด็กสนใจมาประกอบ เช่น รูปภาพต่างๆ หนังสือต่างๆ การวาดรูป การระบายสี การร้อยลูกปัด การนับเลข เมื่อเด็กเคยชินแล้ว ให้ฝึกเด็กให้ดูกราฟขึ้นลงและฟังเสียงประกอบ จากนั้นลงมือใช้เครื่องเอชอีจี ตามขั้นตอน ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าจากใบบันทึกข้อมูล และจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก
ดังนั้นเด็กที่ยังไม่สามารถอยู่นิ่งพอที่จะสนใจกราฟที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จะไม่ได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้ เนื่องจากตัวเครื่องไม่ได้ไปกระตุ้นหรือปรับเปลี่ยนการทำงานของสมองโดยตรง
การประเมินผล พิจารณาดูจาก
1) ค่าเฉลี่ยในแต่ละครั้ง (ค่าปกติ 60–120)
2) ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
3) รายงานพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก โดย พ่อแม่ ครู และ ตัวเด็ก
4) ผลการเรียน
5) ผลการทดสอบระดับพุทธิปัญญา (cognitive test)
- ความจดจำ
- การควบคุมตัวเองและความตั้งใจ
- เหตุผลและการคิดคำนวณ
- กระบวนการตัดสินใจ
- ระยะเวลาโต้ตอบ
- ความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผลข้อมูล
- ข่าวสาร ความรู้และความเข้าใจทั่วไป
6) ผลจาก TOVA (Test of Variabled Attention) ทดสอบเกี่ยวกับ attention, impulsively และ reaction และ reaction time
7) ผลจากการทำ brain mapping (โดยใช้เครื่องมือ Biocomp วัดอัตราส่วนของสมอง B wave และ O wave)
ข้อควรระวัง ในการใช้เครื่องเอชอีจี
เด็กทุกคนที่จะนำเข้ามาบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้คำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางก่อน เพื่อประเมินความพร้อม และความเหมาะสมในการบำบัด
เนื่องจากมีโรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษในการใช้ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ได้แก่
1) การชักแบบ petit mal seizures
2) วิตกกังวลอย่างรุนแรง (severe anxiety)
3) ซึมเศร้า (depression)
4) ปัญหาการนอน (sleep disorders)
5) ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid dysfunction)
และสิ่งสำคัญที่ควรพึงตระหนักไว้เสมอคือ เครื่องเอชอีจี เป็นการบำบัดทางเลือกที่นำมาเสริมควบคู่ไปกับการบำบัดวิธีอื่นๆ เท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เพียงวิธีเดียว และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้วย
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
วุฒินันท์ นพมงคล. (2549). เครื่องกระตุ้นพัฒนาการเด็ก. [Online]. Available URL: http://gotoknow.org/blog/wutinan/26460
อากร แสนไชย, สุภิญญา พรหมขัติแก้ว และศศิวิมล รัตนธรรม. (2550). การศึกษาผลการรักษาเด็กออทิสติกด้วยเครื่องกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในสมอง (HEG) ในสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่. ใน: เอกสารการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง สุขภาพจิต ชีวิตชาวเมือง. หน้า 79.
Biocomp Research Institute. (2021). HEG neurofeedback. [Online]. Available URL: https://www.biocompresearch.org/heg-neurofeedback
Toomim H. (2006). Hemoendephalogram (HEG): The regional cerebral blood flow rCBF & rCBO2. [Online]. Available URL: http://www.adhd-biofeedback.com/Talk1-1.html
Toomim H, Mize W, Kwong PC, Toomim M, Marsh R, Kozlowski GP, Kimball M & Rémond A (2004). Intentional increase of cerebral blood oxygenation using hemoencephalography (HEG): an efficient brain exercise therapy. Journal of Neurotherapy, 8(3): 5–21. doi:10.1300/J184v08n03_02
Toomim H, Kwong P. (2006). Brain oxygenation exercise proportionally improves variables of attention. [Online]. Available URL: http://www.minderlabs.com/HEG1.htm
Wikipedia. (2021). Hemoencephalography. [Online]. Available URL: https://en.wikipedia.org/wiki/Hemoencephalography
บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt09-heg.htm
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ