HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

มัจฉาบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

“มัจฉาบำบัด” หรือ การนำปลามาช่วยในการบำบัด (fish therapy) ดูเหมือนจะไม่เป็นที่คุ้นหูนัก แต่ก็มีการนำมาใช้ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ เช่น สะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (eczema) เป็นต้น

การเลี้ยงปลาจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ลดความวิตกกังวล และคลายเหงาได้ ยังมีการเลือกใช้ปลาสวยงาม เช่น ปลาเงิน ปลาทอง มาช่วยคลายเครียดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต พบว่า ช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ

มัจฉาบำบัด

ตู้เลี้ยงปลา หรืออะควอเรียม ยังช่วยให้ผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมในสถานพักฟื้นผู้ป่วยสมองเสื่อม (dementia unit) มีอาการดีขึ้นในปัญหาด้านการนอน อารมณ์หงุดหงิด พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และการไม่ร่วมมือ

การมองดูปลาในตู้ปลายังช่วยลดพฤติกรรมก่อกวน (disruptive behavior) ในเด็กพิเศษได้ โดยเฉพาะในห้องเรียนหรือห้องบำบัด ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยให้สงบอารมณ์ได้ง่าย (calming effect)

การไปชมปลาที่อะควอเรียมขนาดใหญ่ ก็สามารถช่วยให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย ลดระดับความวิติกกังวลลงได้ ยิ่งมีปลาหลากหลายชนิด หลากหลายสีสัน ปลาจำนวนมาก ก็ยิ่งช่วยได้มาก พบว่า ช่วยลดพฤติกรรมก่อกวนในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ในประเทศตรุกี มีการทดลองนำเอาปลา "สไตรเกอร์" (Strikers: Cyprinion Macrostomus) และ "ลิกเกอร์" (Lickers: Garra Rufa) มาช่วยบำบัดรักษาอาการโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน (psoriasis) โดยให้ผู้ป่วยลงไปแช่น้ำแร่กลางแจ้งที่มีคุณสมบัติของธาตุเซเลเนียม (selenium) ราว 13 ppm มีความเป็นกรด-ด่าง 7.2 มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส วันละ 2 ครั้ง รวม 8 ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นปล่อยให้ปลาลงแทะบริเวณที่เป็นผื่นให้ค่อย ๆ หลุดออกไป ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวต้องควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน

การทำสปาปลา (fish spa) ที่นิยมกันแพร่หลายตามแหล่งท่องเที่ยว ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของมัจฉาบำบัด ปัจจุบัน ปลาการ์ร่า รูฟา นิยมนำเข้ามาสู่ประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในธุรกิจประเภทนี้

มัจฉาบำบัด

ปลาการ์ร่า รูฟา (Garra rufa) หรือ ด็อกเตอร์ ฟิช (doctor fish) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาพื้นเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลาง แถบประเทศตุรกี ซีเรีย จอร์แดน อิสราเอล ปาเลสไตน์ อิรัก อิหร่าน โดยอาศัยอยู่ในบ่อน้ำร้อนหรือลำธารที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง จะหาอาหารใต้น้ำกิน ซึ่งได้แก่ สาหร่ายและตะไคร่น้ำ แต่ด้วยอุณหภูมิน้ำที่สูงทำให้อาหารอื่น ๆ สำหรับปลาจึงมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อมีผู้ที่ลงไปแช่น้ำในบ่อน้ำร้อนเหล่านี้ ปลาการ์ร่า รูฟา จึงมาแทะเล็มผิวหนังชั้นนอกของผู้ที่ลงแช่เป็นอาหารแทน ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย อันเป็นที่มาของการทำสปาปลา

มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยสถาบันทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนา พบว่า การให้ปลาการ์ร่า รูฟา แทะเล็มผิวหนังช่วยบำบัดโรคผิวหนังบางชนิดได้ที่ไม่มียารักษา โดยพบว่าเมื่อปลากัดกินผิวหนัง ที่เป็นเกล็ด หรือขุย อันเนื่องมาจากอาการของโรคออกไป เป็นการเปิดโอกาสให้ผิวหนังได้สัมผัสกับรังสียูวีในระดับที่ลึกลงไป ทำให้ผิวหนังมีพัฒนาการเติบโตได้ดีขึ้น

ประโยชน์ของการทำสปาปลา นอกจากช่วยกําจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายออกไปแล้ว ยังช่วยลดปัญหากลิ่น เพราะปลาช่วยกําจัดแบคทีเรียและเชื้อรา กระตุ้นประสาทสัมผัสบริเวณเท้าและมือ และทําให้รู้สึกผ่อนคลายด้วย

ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการรักษาโรคผิวหนังด้วยมัจฉาบำบัด คือ ปลาควรอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีองค์ประกอบเหมาะสม เช่น บ่อน้ำพุ บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำแร่ และมีแร่ธาตุสำคัญที่มีส่วนช่วยในการรักษาผิวหนัง เช่น เซเลเนียม เพราะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผิวหนัง ผลัดเปลี่ยนผิวหนัง สร้างเซลล์ใหม่ และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือแหล่งน้ำนั้นต้องมีความเค็มของน้ำที่เหมาะสม มีแสงแดดแสงอัลตราไวโอเลตในระดับที่เหมาะสมเฉพาะกับแหล่งน้ำนั้นด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

Edwards NE, Beck AM & Lim E. (2014). Influence of aquariums on resident behavior and staff satisfaction in dementia units. West J Nurs Res. 36(10):1309-22

Petable. (2021). 15 ways fish reduce stress and improve mental health. [Online]. Available URL: https://petable.care/2017/11/15/fish-reduce-stress-and-mental-health/

Sayili M, Akca H, Duman T & Esengun K. (2007). Psoriasis treatment via doctor fishes as part of health tourism: A case study of Kangal Fish Spring, Turkey. Tourism Management. 28: 625–9

Wikipedia. (2021). ปลาการ์ร่า รูฟา. [Online]. Available URL: https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาการ์ร่า_รูฟา

Robert. (2021). How keeping fish can help children with learning disabilities. [Online]. Available URL: https://sensationalbrain.com/tips/sensory-benefits-of-fish-keeping/

 

บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.

พิมพ์ครั้งที่ 1: 2550
พิมพ์ครั้งที่ 2: 2564

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). มัจฉาบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt15-fishtherapy.htm

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

บทความเพิ่มเติมเรื่องการบำบัดด้วยสัตว์

การบำบัดด้วยสัตว์

 

สุนัขบำบัด

 

อาชาบำบัด

 

โลมาบำบัด

 

มัจฉาบำบัด

 

แมวบำบัด

 

กระบือบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

nutritional therapy

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »