HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

อาชาบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

อาชาบำบัด หรือการนำม้ามาช่วยในการบำบัด เรียกว่า Hippotherapy ซึ่งคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า “ม้า” ส่วนคำว่า therapy แปลว่า “การบำบัด” เป็นการบำบัดทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ที่มีเป้าหมายและกระบวนการในการบำบัดชัดเจน เป็นการบูรณาการการบำบัดโดยสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการดูแล

อาชาบำบัดไม่เน้นทักษะการขี่ม้า แต่จะเน้นการเสริมสร้างทักษะที่บกพร่องหรือขาดหายไป แก้ไขปัญหาหรืออาการบางอย่างที่ขัดขวางพัฒนาการและการเรียนรู้ เช่น ปัญหาด้านสมาธิ การเคลื่อนไหว การเดินไม่มั่นคง การทรงตัว การทรงท่า และการเข้าสังคม เป็นต้น

อาชาบำบัด มี 2 ลักษณะ คือ Equine-assisted therapy และ Hippotherapy ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

Equine-assisted therapy หมายถึง การขี่ม้าเพื่อทำภารกิจตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีกิจกรรมเกม หรือของเล่นประกอบ เน้นการพัฒนาด้านสมาธิ และการเข้าสังคม

Hippotherapy หมายถึง การทำกายภาพบำบัด หรือท่าทางต่าง ๆ บนหลังม้า เน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างร่างกาย

เนื่องจากอาชาบำบัดในประเทศไทย เป็นลักษณะรูปแบบผสมผสาน บูรณาการหลายเรื่องเข้าด้วยกัน และไม่ได้ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น นักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัด จึงไม่ได้แยกความแตกต่าง 2 ลักษณะ ออกจากกัน เรียกรวมว่า “อาชาบำบัด” หรือ “Hippotherapy” ตามที่มีการเรียกมาตั้งแต่แรก

อาชาบำบัด เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ โดยการขี่อยู่บนหลังม้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และลดความกลัว และเริ่มแพร่หลายในยุโรป และอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยเน้นในเชิงของกายภาพบำบัดเป็นส่วนใหญ่

สำหรับในประเทศไทย มีการนำม้ามาช่วยในการบำบัดกลุ่มเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยกองกำกับการตำรวจม้า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยดำเนินการสอนคุณพุ่ม เจนเซ่น ขี่ม้าและบำบัด ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง หลังจากนั้น อาชาบำบัดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดเป็นโปรแกรมบำบัดชัดเจน หรือเป็นเพียงการขี่ม้าเท่านั้น ยังไม่ใช่อาชาบำบัด

อาชาบำบัด

ม้าโพนี่

ม้าที่นำมาใช้ในการบำบัดมักเป็นม้าโพนี่ (pony) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากนัก ความสูงไม่เกิน 14 แฮนด์ (1 แฮนด์ สูงประมาณ 10 เซนติเมตร) เหมาะสำหรับเด็กเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการฝึกฝนม้าเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้วย

การอยู่บนหลังม้าได้ดี จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ

จังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง นอกจากนี้การนั่งบนหลังม้า ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้เด็กยังได้ฝึกฝนการปรับตัวของสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการประคองตัวให้สามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้นั่นเอง โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเสมือนกลไกอัตโนมัติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามจะรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้านั่นเอง

มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของอาชาบำบัดมากพอสมควร โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ซีพี (C.P. ย่อมาจาก cerebral palsy) นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัดกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

อาชาบำบัดในกลุ่มเด็กสมองพิการ (cerebral palsy) พบว่า เมื่อเด็กขึ้นขี่บนหลังม้าก็สามารถช่วยบำบัดได้แล้ว เนื่องจากลักษณะการเดินของม้าคล้ายกับลักษณะการเดินของคน สะโพกของเด็กที่นั่งอยู่บนหลังม้าจะเคลื่อนที่คล้ายกับที่เด็กเดินบนพื้นด้วยตนเอง มีผลช่วยกระตุ้นกระแสประสาทรับรู้ไปที่สมองให้มีการจดจำรูปแบบการเดิน ช่วยให้การเดินพัฒนาขึ้น และระหว่างที่ม้าเดิน เด็กจะพยายามรักษาสมดุลไม่ให้ตกม้าโดยใช้กล้ามเนื้อมากขึ้น เป็นการออกกำลังกาย ลดอาการเกร็ง และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควรบูรณาการกิจกรรมร่วมกับแผนการบำบัดรักษาของแพทย์ และนักกายภาพบำบัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อาชาบำบัดในกลุ่มเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability) พบว่า ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในทุกด้านได้ ควรเน้นกิจกรรมพัฒนาด้านสติปัญญา ด้านภาษา และด้านสังคม ส่วนด้านกล้ามเนื้อได้ประโยชน์จากการอยู่บนหลังม้าอยู่แล้วช่วยลดการเกร็งและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทรงตัวและทรงท่าได้ดีขึ้น ควรบูรณาการกิจกรรมร่วมกับแผนการบำบัดรักษาของแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมำบัด และนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อาชาบำบัดในกลุ่มเด็กออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) พบว่า ในการขี่ม้าครั้งแรก ส่วนใหญ่เด็กจะร้องไห้ กลัว หรือพยายามจะลงจากหลังม้า เนื่องจากเด็กไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทั้ง คน ม้า สถานที่ และสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากเด็กเริ่มคุ้นเคย จะให้ความร่วมมือมากขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเด็กก่อนขึ้นขี่บนหลังม้า จึงเป็นเรื่องสำคัญ

อาชาบำบัด

กิจกรรมที่ใช้จะเลือกให้เหมาะสมตามอาการเป้าหมายที่จะบำบัด หรือทักษะที่ต้องการเสริมสร้าง ใช้ของเล่นหรือเกมกิจกรรม เพื่อดึงความสนใจ บูรณาการกิจกรรมร่วมกับแผนการบำบัดรักษาของแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อาชาบำบัดในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder) พบว่า เด็กจะกลัวตกม้า และพยายามรักษาสมดุลบนหลังม้าไว้ ซึ่งช่วยเสริมสร้างสมาธิและความสนใจของเด็กให้ดีขึ้น การเลือกกิจกรรมบนหลังม้าควรเน้นการเสริมสร้างสมาธิเป็นหลัก ในเด็กที่มียารับประทานเพื่อรักษาอาการอยู่แล้ว ไม่ควรงดยาระหว่างการบำบัด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ควรบูรณาการกิจกรรมร่วมกับแผนการบำบัดรักษาของแพทย์ นักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อาชาบำบัด

อาชาบำบัด

อาชาบำบัด จำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบด้วย เด็กไม่สามารถเข้าโปรแกรมการบำบัดได้ทุกราย ในเด็กบางรายที่มีอาการกระตุกมาก ๆ ก็ไม่ควรใช้อาชาบำบัด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ขณะทำการขี่ม้าในโปรแกรมการบำบัด ควรมีการประเมินความเสี่ยงและลดปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุให้มากที่สุด เช่น เด็กควรสวมหมวกกันน็อค ที่ วางเท้ามีการสวมใส่ตะกร้อเท้า และของเล่นที่นำมาใช้ในกิจกรรม ควรทดสอบกับม้าก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และลดอาการตกใจระหว่างทำอาชาบำบัด

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2555). คู่มือออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

ปัทมา ฤทธิ์ฤๅชัย, ณัฐวุฒิ นุชประยูร และวสุนันท์ ชุ่มเชื้อ (2564). อาชาบำบัด : การบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อเด็กพิเศษ. [Online]. Available URL: http://nicfd.rf.gd/article.html?i=1

วาทตะวัน สุพรรณเภษัช. อาชาบำบัด เพื่อเด็กออติสติก. (2007). หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. [Online]. Available URL: http://www.thaiday.com

_______. (2549). อาชาบำบัด สัญชาตญาณอยู่รอดบนหลังม้า. [Online]. Available URL: http://www.blogth.com

 

บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.

พิมพ์ครั้งที่ 1: 2550
พิมพ์ครั้งที่ 2: 2564

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). อาชาบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt13-hippotherapy.htm

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

บทความเพิ่มเติมเรื่องการบำบัดด้วยสัตว์

การบำบัดด้วยสัตว์

 

สุนัขบำบัด

 

อาชาบำบัด

 

โลมาบำบัด

 

มัจฉาบำบัด

 

แมวบำบัด

 

กระบือบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

nutritional therapy

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »