ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
กระบือบำบัด
Buffalo Therapy
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
“กระบือบำบัด” หรือ “ควายบำบัด” (Buffalo Therapy) ชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก ได้ยินครั้งแรกก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มีใครทำด้วยหรือ หลังจากมีอาชาบำบัด และช้างบำบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปบ้างแล้ว จากการค้นคว้าพบว่าเป็นการบำบัดทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว เป็นการนำสัตว์มาช่วยในการบำบัดรักษาอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำ ต่างประเทศก็ไม่มี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับคนไทยก็ว่าได้ จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง
“กระบือ” หรือ “ควาย” เป็นสัตว์ที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีชีวิตชนบท ควายว่านอนสอนง่าย ช่วยทำงานได้ดี เข้าใจภาษา เป็นสัตว์ที่ฉลาด ควายไม่ได้โง่เหมือนที่ใช้เป็นคำว่ากล่าวแต่อย่างไร ควายเป็นสัตว์ใหญ่ จึงกระตุ้นความสนใจของเด็กได้มาก เช่นเดียวกับการบำบัดด้วยช้างและม้า สิ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะสำคัญที่สามารถนำมาช่วยในการบำบัดรักษาเด็กพิเศษได้ โดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก และความบกพร่องทางพัฒนาการอื่น ๆ
“กระบือบำบัด” เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยนำควายเข้ามาใช้ในการบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะและฝึกพัฒนาการของเด็กพิเศษ โดยประสานความร่วมมือกับกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเขาพระงาม โรงพยาบาลอานันทมหิดล และโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล เริ่มเปิดโครงการตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป มีรูปแบบการบำบัดที่ชัดเจน และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
เริ่มต้นจากการคัดเลือกควายที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จำนวน 10 ตัว จากศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย ศูนย์การทหารปืนใหญ่ มีครูฝึกที่เป็นทหาร 3 คน ต่อเด็ก 1 คน จึงมั่นใจได้ในความเชื่องของควาย และความปลอดภัยของเด็ก
โครงการกระบือบำบัด
กระบือบำบัด จัดเป็นโปรแกรมต่อเนื่องจำนวน 20 ครั้ง โดยทำการบำบัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีกระบวนการ ดังนี้
1) ครูฝึกทำความคุ้นเคยกับเด็ก โดยใช้ควายเป็นโครงเรื่องหลักในกิจกรรม ให้เด็กทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและสร้างสมาธิโดย การวาดรูปควายตามจินตนาการของเด็กแต่ละคน การระบายสีควาย การต่อจิ๊กซอว์รูปควาย ชวนเด็กคุยเพื่อกระตุ้นการสื่อสาร ฝึกการออกเสียง และครูฝึกจะคอยบันทึกพฤติกรรมเด็กเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
2) ให้เด็กทำความคุ้นเคยกับควาย โดยพาเด็กไปให้อาหาร เดินเล่น ขึ้นขี่หลังควาย ฝึกความจำด้วยการให้วางของไว้ แล้วนั่งบนหลังควายจนครบ 1 รอบ จากนั้นให้ลงมาหาของที่วางไว้ และมีการออกกำลังกายเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนการบำบัด
3) ฝึกทักษะต่าง ๆ บนหลังควาย ฝึกการควบคุมควายด้วยการใช้มือและเท้า ฝึกการทรงตัวบนหลังควายด้วยท่าทางต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน เหยียดลำตัว เป็นต้น เพื่อบูรณาการระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว รวมถึงระบบการทรงตัว คล้ายกับการฝึกกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) แต่แทนที่จะทำในห้องฝึกเฉพาะทาง ก็มาทำบนหลังควายแทน เปลี่ยนจากห้องเรียนหรือโรงพยาบาล มาอยู่กลางทุ่งนา ก็สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น
4) เมื่อจบการบำบัดในแต่ละครั้ง ครูฝึกก็จะสอนให้เด็กขอบคุณครูฝึก และขอบคุณควายด้วยการให้หญ้า
5) เด็กทั้งหมดจะรับประทานขนมร่วมกันก่อนแยกย้ายกันกลับ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะสังคมให้กับเด็กได้ดียิ่งขึ้น
กระบือบำบัด
หลังจากเข้าร่วมโครงการกระบือบำบัด พบว่าเด็กทุกคนมีการพัฒนาที่ดีขึ้น สามารถสื่อสารกับครูฝึกเข้าใจมากขึ้น มีความเป็นกันเอง กล้าพูด กล้าแสดงออก ให้ความร่วมมือดี มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ต่อเนื่องนานขึ้น มีการตอบสนองความรู้สึกกับควายและครูฝึกดีขึ้น เด็ก ๆ มีความสุข ผู้ปกครองก็พลอยมีความสุขไปด้วย
ในปัจจุบันยังมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ได้รับความนิยม และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันผลของกระบือบำบัดอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ถ้ามีการวิจัยและพัฒนารูปแบบของกระบือบำบัดต่อไป จะยิ่งเป็นประโยชน์กับเด็กมากยิ่งขึ้น
การบำบัดรักษามีทางเลือกที่หลากหลาย แต่ละแนวทางย่อมตอบสนองต่อความจำเป็นในการบำบัดของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน ยิ่งมีทางเลือกมากก็ยิ่งสามารถทลายข้อจำกัดที่มีได้ดียิ่งขึ้น กระบือบำบัด ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดในการบำบัดรักษาเด็กพิเศษ ไม่ใช่การเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการบูรณาการ โดยการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ปกครองกับแพทย์ที่ดูแลรักษา
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์การทหารปืนใหญ่, ค่ายพหลโยธิน. (2564). โครงการกระบือบำบัด. [Online]. Available URL: https://www.facebook.com/BuffaloTherapy103/
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา, สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน, กระทรวงศึกษาธิการ. (2553). กระบือบำบัด ช่วยพัฒนาทักษะและฝึกพัฒนาการของเด็กพิเศษ. [Online]. Available URL: http://www.braille-cet.in.th
บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
พิมพ์ครั้งที่ 1: 2550
พิมพ์ครั้งที่ 2: 2564
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). กระบือบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt18-buffalotherapy.htm
บทความเพิ่มเติมเรื่องการบำบัดด้วยสัตว์
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ