ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
แมวบำบัด
Cat Therapy
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แมวบำบัด หรือการนำแมวมาช่วยในการบำบัด (cat therapy/ feline-assisted therapy) ดูเหมือนจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ก็มีการนำมาใช้ในโปรแกรมการบำบัดเช่นเดียวกัน สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี นำมาใช้เป็นทางเลือกในผู้ที่กลัวสุนัข หรือไม่สามารถไปบำบัดด้วยสัตว์ใหญ่ได้ และที่สำคัญคือ เป็นการบำบัดที่เหมาะสมกับเหล่าทาสแมวเป็นอย่างดี
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก และยังเป็นสัตว์ที่มีจิตวิทยาสูงอีกด้วย รับรู้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ดี รู้ว่าเจ้าของต้องการขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ สามารถเตือนภัยแผนดินไหวและภัยธรรมชาติต่าง ๆ และกล่าวกันว่าสามารถเตือนภัยให้กับเจ้าของได้อีกด้วย
แมวที่นำมาใช้บำบัดต้องคัดเลือกกันพอสมควร นอกจากความน่ารัก ขนสวย มีเสน่ห์ดึงดูดได้ดีแล้ว ควรเป็นแมวที่มีลักษณะ ดังนี้
• ท่าทีเป็นมิตร เข้ากับคนแปลกหน้าได้ง่าย ยอมให้อุ้มกอดได้
• ทนต่อสิ่งกระตุ้นที่ผิดแปลกได้ดีทั้งสิ่งที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน
• เชื่อง เลี้ยงง่าย มีลักษณะนิสัยที่สงบ ไม่ตกใจง่าย
• ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในบ้าน
• ไม่มีประวัติดุร้าย ทำร้ายคนอื่น หรือสัตว์ตัวอื่น
• ยอมให้สวมใส่ปลอกคอ กระพรวน หรือสายจูงได้
• มีการทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ
• ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถใช้แมวบำบัด มีหลายกลุ่ม ได้แก่ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล กลัว โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความบกพร่องทางการเห็นหรือการได้ยิน ความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก สมาธิสั้น และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ
แมวบำบัดสามารถนำไปใช้ได้ในหลายบริบท ทั้งในโรงพยาบาล และที่อื่น ๆ เช่น บ้าน โรงเรียน เนอซเชอรี่ ศูนย์ฟื้นฟูฯ สถานบริบาล และเรือนจำ เป็นต้น
ประสิทธิผล (Efficacy)
ในปัจจุบัน มีการนำแมวมาช่วยในการบำบัดรักษากลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องด้านการพัฒนาระบบประสาท พบว่ามีประโยชน์ทั้งต่อผู้ปกครองและเด็ก ช่วยให้ผู้ปกครองรู้สึกความผ่อนคลาย
และลดความตึงเครียดลงได้ ในขณะเดียวกัน สามารถช่วยเด็กในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) กระตุ้นการเข้าสังคม (social engagement) ช่วยให้เด็กเข้าไปคลุกคลีอยู่กับคนอื่นได้ง่ายขึ้น
2) ช่วยให้สงบอารมณ์ (calming) ช่วยลดความรู้สึกคับข้องใจได้เร็วขึ้น ลดความรุนแรง
3) พัฒนาด้านอารมณ์ (emotional growth) ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่ดี ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ รู้จักดูแลผู้อื่น การกอด การสัมผัส
4) กระตุ้นระบบรับสัมผัส (sensory support) ช่วยผ่านกิจกรรม เกม และการละเล่นต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ชักกะเย่อ ซ่อนแอบ การนวด
5) สร้างความมั่นใจในช่วงที่วิตกกังวล (anxiety relief) ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล เพิ่มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
6) เสริมสร้างมิตรภาพ (companionship) ช่วยสร้างประสบการณ์การมีเพื่อน มีความผูกพัน ช่วยให้รู้สึกสบายใจ เวลาอยู่กับคนอื่นมากขึ้น
ในเด็กออทิสติก พบว่า สัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กกับแมวที่เลี้ยงไว้ จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กมากขึ้น เพิ่มความผูกพัน เพิ่มความสนใจ ช่วยให้สงบอารมณ์ได้ นอกจากนี้แมวยังช่วยเรื่องระบบรับสัมผัสให้สมดุลขึ้น โดยในกลุ่มที่ระดับความรุนแรงน้อยจะมีแสดงความรักความผูกพันกับแมวสูงกว่ากลุ่มที่ระดับความรุนแรงมาก แมวที่เลี้ยงตั้งแต่เล็กจะแสดงความรักความผูกพันได้สูงกว่าแมวที่เพิ่งนำมาเลี้ยงตอนที่โตแล้ว
ในกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ และข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ มีการนำแมวมาช่วยนวด แต่ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนในเรื่องนี้ชัดเจน
ความปลอดภัย (Safety)
แมวบำบัด เป็นการบำบัดรักษาด้วยสัตว์ที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความคุ้นเคยกับมนุษย์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแมวที่นำมาบำบัด ดังนี้
• ได้รับการคัดเลือกมาอย่างเหมาะสม
• ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
• ได้กับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นครบถ้วน
ข้อควรระวังคือ ไม่ควรนำมาใช้กับเด็กที่กลัวแมว และเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้จากขนแมว รวมถึงโรคติดต่อจากสัตว์ซึ่งอาจพบได้
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
Litter-robot blog. (2021). The making of therapy cat. From https://www.litter-robot.com/blog/2018/ 10/15/the-making-of-a-therapy-cat
Morrison, M. L. (2007). Health Benefits of Animal-Assisted Interventions. Complementary health practice review. 12(1): 51-62
Palika, L. (2006). Your cat's mind: feline relationships the special love of therapy cats. From http://www.catsplay.com
Tomaszewska, K., Bomert, I. & Wilkiewicz-Wawro, E. (2017). Feline-assisted therapy: Integrating contact with cats into treatment plans. Polish Annals of Medicine. 24(2): 283-6.
UCLA health. (2021). Animal-Assisted Therapy Research. from https://www.uclahealth.org/pac/animal-assisted-therapy/
บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.
พิมพ์ครั้งที่ 1: 2550
พิมพ์ครั้งที่ 2: 2564
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2567). แมวบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt16-cattherapy.htm
บทความเพิ่มเติมเรื่องการบำบัดด้วยสัตว์
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ