HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ผู้วิจัย

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา, พ.บ., ว.ว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
สมจิตร ไกรศรี, ค.ม.

 

บทคัดย่อ

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด จัดโดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 จนถึงครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ.2553

วัตถุประสงค์หลักของการจัดสัมมนา เพื่อรวบรวมแนวคิดและหลักการจากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านศิลปกรรมบำบัด ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นในประเด็นต่างๆ ที่นักศิลปกรรมบำบัด และผู้ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ทั้ง 5 ครั้ง จะมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน เพื่อให้เห็นภาพการขับเคลื่อนงานด้านศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย พัฒนาสู่มาตรฐานสากล
ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2549 เน้นการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ทำงานด้านศิลปกรรมบำบัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การพัฒนางานร่วมกันในอนาคต
ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2550 เน้นแนวคิดทฤษฎีด้านศิลปกรรมบำบัด ซึ่งมีความหลากหลาย
ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2551 เน้นทิศทางของศิลปกรรมบำบัด จากมุมมองผู้เชี่ยวชาญ
ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2552 เน้นการนำเสนอผลงานวิชาการด้านศิลปกรรมบำบัด ที่นำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มปัญหาต่างๆ ที่หลากหลาย
ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ.2553 เน้นการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อร่างหลักสูตรศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย

พบว่าเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด มีการนำศิลปกรรมบำบัดไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิ กลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา กลุ่มผู้ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติ กลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มผู้ติดสุรา และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น การสัมมนาก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นในประเด็นต่าง ๆ

คำสำคัญ: สัมมนา, ผู้เชี่ยวชาญ, ศิลปกรรมบำบัด, นักศิลปะบำบัด, สถาบันราชานุกูล, เครือข่าย

 

บทนำ

สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาโปแกรมศิลปกรรมบำบัด อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ.2548 ได้สรุปบทเรียน พัฒนาเป็นโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ช่วงวัย 15-25 ปี, ปี พ.ศ.2549 ได้ริเริ่มการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด, ปี พ.ศ.2551 ได้เปิดเป็นศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด และเริ่มพัฒนาโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มสำหรับเด็กอายุ 4-15 ปี, ปี พ.ศ.2552 พัฒนาค่ายศิลปกรรมบำบัดสำหรับครอบครัว และปี พ.ศ.2554 จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ด้านศิลปกรรมบำบัด

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด จัดโดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 จนถึงครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ.2553

วัตถุประสงค์หลักของการจัดสัมมนา เพื่อรวบรวมแนวคิดและหลักการจากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านศิลปกรรมบำบัด ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ที่นักศิลปกรรมบำบัด และผู้ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักวิชาการแขนงต่างๆ ศิลปิน และผู้สนใจทั่วไป

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ทั้ง 5 ครั้ง จะมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน เพื่อให้เห็นภาพการขับเคลื่อนงานด้านศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย พัฒนาสู่มาตรฐานสากล ซึ่งสรุปประเด็นการสัมมนา ทั้ง 5 ครั้ง จะกล่าวถึงถัดไป

ในปี พ.ศ.2554 งดจัดสัมมนาผู้เชี่ยวชาญฯ เนื่องจาก มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น ด้านศิลปกรรมบำบัด รวม 2 หลักสูตร

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 1

จัดขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2549 ณ โรงแรมแม็กซ์ กรุงเทพมหานครโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 100 คน เป็นการสัมมนาครั้งแรก เน้นการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ทำงานด้านศิลปกรรมบำบัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การพัฒนางานร่วมกันในอนาคต

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการบรรยายนำในหัวข้อ “ประวัติความเป็นมาของศิลปกรรมบำบัด” โดย พญ.อำไพขนิษฐ สมานวงศ์ไทย จิตแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวถึง ศิลปกรรมบำบัด เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาผู้ป่วยทางจิตวิทยา โดยนำศิลปกรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำจิตบำบัด แก้ไขผู้ป่วยทางจิต ภาพวาด คือ สัญลักษณ์ (symbol) ที่ใช้แทนคำพูดของสิ่งที่อยู่ในส่วนลึกหรือก้นบึ้งของจิตใจของผู้วาด อ้างอิงถึง Piaget ซึ่งกล่าวว่า การวาดภาพเป็นความพยายามที่จะนำเสนอโลกที่แท้จริง (real world) ซึ่งตั้งอยู่บนจินตภาพทางจิตใจ (mental image) ให้ผู้อื่นได้เห็น สิ่งสำคัญคือให้ผู้วาดได้พูดขณะ/หลังวาดภาพ

การบรรยายและสาธิต ในหัวข้อ “การใช้ศิลปกรรมบำบัดในกลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศ” โดย Ms. Lucille Proulx, MA, ATR. นักศิลปะบำบัด จากมหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา ซึ่งช่วยให้เห็นภาพกระบวนการและรูปแบบกิจกรรม ทางศิลปกรรมบำบัดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านกรณีศึกษา ทั้งเด็กไทยและต่างประเทศ

การนำเสนอผลงาน “โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดสำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ช่วงวัย 15-25 ปี ของสถาบันราชานุกูล” โดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ อาจารย์สมจิตร ไกรศรี หัวหน้างานศิลปกรรมบำบัด ผู้พัฒนาโปรแกรม ซึ่งโปรแกรมประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมเสริมทักษะ และกิจกรรมศิลปะ 6 ฐาน โปรแกรมนี้ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตกรุงเทพมหานคร ในการนำเสนอนวตกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ.2549

ปิดท้ายการสัมมนาด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การใช้ศิลปกรรมบำบัดในกลุ่มปัญหาต่างๆ ซึ่งดำเนินการอภิปราย โดย นพ. ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และวิทยากรรับเชิญ 3 ท่าน คือ อาจารย์สายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัด จากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, อาจารย์อินทิรา อะตะมะ นักกิจกรรมบำบัด จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ และ ผศ.ธนา เหมวงษา อาจารย์จากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

อาจารย์สายใจ ศรีลิ้ม อธิบายถึงแนวคิด “open studio therapeutic art” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และแสดงออกถึงตัวตน, สร้างเสริมความมั่นใจและคุณค่าในตนเอง, สนับสนุนช่วยเหลือพัฒนาการและทักษะต่างๆ, เพื่อเสริมสร้างการกำหนดขอบเขตแห่งตนด้านความปลอดภัย ในการดูแลตนจากปัจจัยเสี่ยง, เพื่อช่วยในการจัดการและรับมือกับความเจ็บป่วย และระบบดูแลสุขภาพจิตของผู้ประกอบวิชาชีพ, เพื่อช่วยให้เกิดเสถียรภาพในการสร้างความเข้มแข็งแห่งตน และประคับประคองดูแลตนให้อยู่ในสภาวะที่ดี พร้อมกันนี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดค่ายศิลปะสัญจร สำหรับกลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรมหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ และนำเสนอกรณีศึกษาของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

อาจารย์อินทิรา อะตะมะ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ศิลปะบำบัดในผู้ป่วยจิตเวช การให้ผู้ป่วยจิตเวชวาดภาพระบายสี เป็นวิธีการสื่อสารเพื่อเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยอย่างหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการออกมาเป็นรูปภาพที่มีสีสันต่างๆ อย่างอิสระ เนื้อหาของภาพที่วาดสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความสนใจ ความต้องการ หรือเรื่องราวในชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนั้นแล้ว การวาดภาพยังเป็นกิจกรรมการประเมินความสามารถ ในทักษะทางร่างกาย ทักษะทางจิตสังคม การผสมผสานการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช

ผศ.ธนา เหมวงษา ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดในเด็กที่ประสบภัย คลื่นยักษ์สึนามิ ณ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ซึ่งคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับองค์กร Lentern of the East – Los Angeles (LELA) จัดกิจกรรมรวม 10 วัน และปิดท้ายด้วยการจัดนิทรรศการศิลปกรรมมีชีวิต (art alive) แสดงผลงานจากกิจกรรมศิลปกรรมบำบัด และกิจกรรมศิลปะการเคลื่อนไหว เรื่อง การกลับคืนของนกในนิทาน

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 2

จัดขึ้นในวันที่ 18-19 มิถุนายน พ.ศ.2550 ณ สถาบันราชานุกูล โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 120 คน เน้นแนวคิดทฤษฎีด้านศิลปกรรมบำบัด ซึ่งมีความหลากหลาย

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการบรรยายนำในหัวข้อเรื่อง “พัฒนาการทางศิลปะ” (artistic development) โดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล ซึ่งเป็นการศึกษาต่อยอดความรู้ที่ได้จากการสัมมนาฯ ครั้งแรก ร่วมกับการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง พัฒนาการทางศิลปะ ตามแนวคิดของ Viktor Lowenfeld ที่กล่าวถึงการวาด เป็นดัชนีที่สะท้อนให้เราเห็นถึงการเจริญเติบโตของเด็ก พัฒนาจากมุมมองของตนเองอันคับแคบ สู่การตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมอันกว้างใหญ่ไพศาล

เชื่อมโยงให้เห็นถึงการนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ ในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการประเมิน การวางแผน และติดตามความก้าวหน้าในการบำบัดรักษา

การบรรยายเรื่อง “ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา” โดย อาจารย์อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นักศิลปะบำบัด จากสถาบันศิลปะบำบัด ในแนวมนุษยปรัชญา กล่าวถึง ศิลปะบำบัด คือ การนำศาสตร์ 7 แขนง คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม การวาด ดนตรี ภาษา การเคลื่อนไหว และศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม เรียกว่า “ศิลปะ 7 อย่าง” (seven art) มาทำงานในเชิงบำบัดกับผู้ที่เสียสมดุล โดยนักศิลปะบำบัดในแต่ละแขนงเป็นผู้บำบัด

อาจารย์ได้เน้นถึงความเข้าใจของการระบายสีเพื่อการบำบัด (therapeutic painting) ซึ่งเป็นแขนงเฉพาะรูปแบบหนึ่ง มุ่งเน้นสารัตถะต่างๆ คือ สี รูปทรง เส้น และบทเรียนในการบำบัด มองศิลปะเป็นทั้งการแสดงออก (expression) และความประทับใจ (impression)

การบรรยายเรื่อง “ศิลปะบำบัดแบบองค์รวม” โดย อาจารย์อดิศร จันทรสุข สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งศิลปะบำบัดแบบองค์รวม อิงแนวคิดพื้นฐานสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ มีรูปแบบหลากหลาย ครอบคลุมถึง ทัศนศิลป์ (วาด, ปั้น, ถัก, ทอ ฯลฯ), ดนตรีและการร้องเพลง, ละคร (รวมทั้งหน้ากาก), การเต้นและการเคลื่อนไหวร่างกาย, การเขียนสร้างสรรค์และบทกวี

อาจารย์ได้เน้นถึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การเล่น จินตนาการ การด้นสด การใช้อุปมาอุปไมยการ สร้างพื้นที่เฉพาะกิจ การทดลอง และการพินิจใคร่ครวญ

การบรรยายเรื่อง “การประยุกต์ใช้สื่อต่างๆ ในศิลปกรรมบำบัด” โดย อาจารย์แสงอุษณีย์ นวะมะรัตน นักศิลปะบำบัดอิสระกล่าวถึงการนำสื่อทางศิลปะมาใช้ในการบำบัดเยียวยา มุ่งเน้นที่ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และการกระทำทุกขั้นตอน รวมถึงจังหวะและเวลา โดยคำนึงถึงปัจจุบันเป็นสำคัญ

สื่อทางศิลปะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ สีและอุปกรณ์สร้างสรรค์งานศิลปะทุกชนิด ในแขนงจิตรกรรม, ดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ในแขนงประติมากรรม, การแสดง การเคลื่อนไหว การประดิษฐ์และเล่นหุ่นมือ ในแขนงนาฏศิลป์, การเขียน บันทึก และกลอนเปล่า ในแขนงวรรณศิลป์, การร้อง ในแขนงดนตรี เป็นต้น

การถอดบทเรียน “การทดลองเรียนร่วมด้านอาชีวศึกษา ของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา” จากประสบการณ์ อาจารย์บุญธรรม รัตนวงกต ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่างสถาบันราชานุกูล และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา เพื่อพัฒนาต่อยอดผู้บกพร่องฯ ที่มีความสามารถด้านศิลปะให้สามารถเรียนร่วมในสถาบันการศึกษาได้

โดยงานศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล ส่งผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ทดลองเข้าเรียนร่วมด้านประติมากรรม กับกลุ่มนักเรียนปกติ  ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา มีการติดตามและประเมินคู่ขนานระหว่างผู้ปกครอง และทีมงานศิลปกรรมบำบัด

พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีการพัฒนาความสามารถด้านศิลปะ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนดีขึ้น  ผู้ปกครองมีเจคติที่ดี เกิดความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้นที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและดูแลบุตรต่อไป

ปิดท้ายการสัมมนาด้วย การสาธิตการจัดโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล โดยอาจารย์สมจิตร ไกรศรี หัวหน้างานศิลปกรรมบำบัด

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 3

จัดขึ้นในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2551 พร้อมกับพิธีเปิดศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล (art therapy demonstration center) อย่างเป็นทางการ โดยพลเอกวันชัย เรืองตระกูล ประธานมูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล เป็นประธาน เพื่อให้การศึกษาค้นคว้าและวิจัยด้านศิลปกรรมบำบัด หลังจากที่หน่วยศิลปกรรมบำบัด ของสถาบันราชานุกูล ได้ให้บริการในการดูแลผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี

การสัมมนาเน้นทิศทางของศิลปกรรมบำบัด จากมุมมองผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยหัวข้อหลัก 2 เรื่อง คือ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย” และ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัดในต่างประเทศ” ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 120 คน

หัวข้อ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย” โดยวิทยากร นพ.อุดม เพชรสังหาร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล, ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, อาจารย์ปัญญา วิจิตรธนสาร คณะบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์สมาน สรรพศรี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

นพ.อุดม เพชรสังหาร กล่าวถึง มุมมองที่มีต่อศิลปกรรมบำบัด ว่าเป็นแบบ adjunct therapy (treatment of choice) หรือ essential adjunct therapy และให้แนวคิดว่า ศิลปะมีพลังในการพัฒนาจิตใจมนุษย์ และทำให้เกิดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (empathy)

อาจารย์ปัญญา วิจิตรธนสาร กล่าวถึง วิวัฒนาการทางศิลปะ ประเภททัศนศิลป์ ที่มีจินตนาการและส่วนร่วมของจิตใต้สำนึกของศิลปิน สื่อโดยการวาดและระบายสี

อาจารย์สมาน สรรพศรี กล่าวถึง สาระการศึกษาทางศิลปะ ซึ่งประกอบด้วย ปรัชญาศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ศิลปะนิยม และสุนทรียศาสตร์ที่สร้างความเข้าใจทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้

ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ กล่าวถึง บทบาทและข้อดีของศิลปกรรมบำบัด สามารถใช้ได้กับทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม ทุกเพศทุกวัย จะปฏิบัติโดยลำพัง หรือร่วมกับฝ่ายจิตบำบัดก็ได้ พร้อมทั้งให้แนวทางในการขับเคลื่อนงานศิลปกรรมบำบัดสำหรับอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับเครือข่ายความร่วมมือ และมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพการรักษา

โดยสรุปมีความเห็นว่า ในประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ระดับ art therapist registry (ATR) แต่มีผู้ที่สนใจนำศิลปะบำบัดไปใช้อยู่มาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ผู้ที่สนใจงานด้านนี้ควรร่วมกันสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ต่อไป และควรจัดสัมมนาวิชาการเป็นประจำเพื่อพัฒนางานศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

หัวข้อ “ทิศทางศิลปกรรมบำบัดในต่างประเทศ” โดยวิทยากร Ms. Debra Kalmanowitz นักศิลปะบำบัดชาวอังกฤษ และ Mr. Jordan Potash นักศิลปะบำบัดชาวอเมริกัน ได้สรุปประวัติความเป็นมาของศิลปกรรมบำบัดในตะวันตก ตั้งแต่การใช้ศิลปกรรมในการแพทย์สมัยโบราณ อ้างอิงถึงศิลปกรรมบำบัดทั้ง 2 แนว คือ “clinical art therapy” โดย Margaret Naumberg และ “art as therapy” โดย Edith Kramer และรากฐานที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ art, psychology และ therapy ซึ่งจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง การประเมินเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้รับการบำบัด รูปแบบและวิธีบำบัด การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินศักยภาพของการบำบัด

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 4

จัดขึ้นในวันที่ 20-21 เมษายน พ.ศ.2552 ณ สถาบันราชานุกูล โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 100 คน เน้นการนำเสนอผลงานวิชาการด้านศิลปกรรมบำบัด ที่นำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มปัญหาต่างๆ ที่หลากหลาย

การสัมมนาประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ศิลปะกับมนุษย์และสังคม” โดย ผศ.อำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฉายภาพการประยุกต์ใช้ศิลปะในชุมชน เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านศิลปะ

อาจารย์อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นักศิลปะบำบัด จากสถาบันศิลปะบำบัด ในแนวมนุษยปรัชญา บรรยายในหัวข้อ “ศิลปะบำบัด คืนความสมดุลสู่ชีวิต: ความเข้าใจของการวาดภาพระบายสี เพื่อการบำบัดบนพื้นฐานแนวคิดมนุษยปรัชญา” กล่าวถึง ศิลปะบำบัดบนพื้นฐานศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ ที่อธิบายศิลปะบำบัดบนพื้นฐานความรู้ที่เป็นองค์รวมของศิลปะ การแพทย์ การบำบัด การศึกษา ความเข้าใจต่อการวาดภาพระบายสีเพื่อการบำบัด อธิบายถึงสีที่มีผลต่อสภาพจิตใจ ตามแนวทางของ Dr. Rudolf Steiner การใช้สีบำบัด (colour therapy) และการวาดภาพระบายสีเพื่อการบำบัด (therapeutic painting)

ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บรรยายให้ฟังในหัวข้อ “ศิลปะเป็นการบำบัดรักษาได้อย่างไร” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวคิดของศิลปกรรมบำบัด และการนำมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษา

การสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการด้านศิลปกรรมบำบัด ที่นำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มปัญหาต่างๆ ที่หลากหลาย ได้แก่

การนำเสนอกรณีศึกษา “การประยุกต์ใช้ศิลปะบำบัด ในการดูแลช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัย พายุไซโคลนนาร์กีส ประเทศพม่า” โดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล

การนำเสนอกรณีศึกษา “การประยุกต์ใช้ศิลปะบำบัด ในการดูแลช่วยเหลือผู้บกพร่องทางสติปัญญา ที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง สถาบันราชานุกูล” โดย อาจารย์สมจิตร ไกรศรี หัวหน้างานศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

การนำเสนอผลงานเรื่อง “คู่มือโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดสำหรับผู้ติดสุรา” โดย คุณนรัญชญา ศรีบูรพา นักจิตวิทยา จากศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด เชียงใหม่

ร่วมส่งเอกสารเสนอผลงานเรื่อง “ผลของการใช้ศิลปกรรมบำบัดที่มีต่อภาวะซึมเศร้า ในผู้สูงอายุของชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า” โดย ดร.ชูวิทย์ รัตนพลแสนย์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

การสัมมนาเน้นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศิลปกรรมบำบัด จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีความสนใจในศาสตร์แขนงนี้ โดยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 4 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ,  ผศ.ดร.จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า, อาจารย์สิทธิเดช โรหิตะสุข และอาจารย์ตรีวิทย์ พิจิตรพลากาศ ซึ่งทำให้เห็นภาพการประยุกต์ใช้ศิลปกรรมบำบัดในกลุ่มปัญหาต่างๆ ที่หลากหลาย

ปิดท้ายการสัมมนาด้วย การฝึกปฏิบัติโปรแกรมศิลปกรรมบำบัด ณ ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของผู้เข้าร่วมสัมมนา

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 5

จัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน พ.ศ.2553 ในงานครบรอบ 50 ปี สถาบันราชานุกูล โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 120 คน เน้นการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อร่างหลักสูตรศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย การสัมมนาประกอบด้วย

การอภิปรายสรุปผลการพัฒนางานด้านศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกุล โดยวิทยากร 3 ท่าน ดังนี้ นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, อาจารย์สมจิตร ไกรศรี หัวหน้างานศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล และ ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการอภิปรายโดย คุณจารุวรรณ ประดา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ได้สรุปผลการพัฒนางาน แบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก คือ โครงการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 5 และผลผลิตต่างๆ จากศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด ซึ่งประกอบด้วย โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา, ค่ายครอบครัวศิลปกรรมบำบัด, โครงการทดลองเรียนร่วมอาชีวศึกษาเสาวภา, ร่วมแสดงผลงานศิลปะ asia para art, Tokyo และการผลิตหนังสือ คู่มือต่างๆ ทางศิลปกรรมบำบัด

อาจารย์สมจิตร ไกรศรี ได้สรุปถึงการพัฒนาโปรแกรมบริการของศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล ซึ่งประกอบด้วย โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ช่วงวัย 15-25 ปี, โปรแกรมศิลปกรรมบำบัดแบบกลุ่มสำหรับเด็กอายุ 4-15 ปี, โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด แผนกผู้ป่วยนอก ฯลฯ

ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ ได้เสริมในเรื่อง รูปแบบงานศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย และทิศทางที่จะก้าวไปในอนาคต ว่ามีความชัดเจน มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมถึงมุมองที่มีต่อศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด ว่ามีความพร้อมในการพัฒนาโปรแกรม และหลักสูตรต่างๆ ต่อไป

ในการสัมมนาครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ งานด้านศิลปกรรมบำบัด จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนี้

กลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศ โดยอาจารย์ สายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัด และคณะจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยอาจารย์ตรีวิทย์ พิจิตรพลากาศ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, การใช้สื่อศิลปะเพื่อการบำบัด โดย ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, การสอนศิลปะในเด็กพิเศษ โดยอาจารย์ผดุง ไกรศรี (เอ๊าะ ขายหัวเราะ) ศิลปิน และกลุ่มเด็กพิเศษที่เข้าศึกษาทางสายวิชาชีพ โดยอาจารย์บุญธรรม รัตนวงกต จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา

 

บทสรุป

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ทั้ง 5 ครั้ง ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึง พ.ศ.2553 จัดโดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักตามที่ตั้งไว้ สามารถรวบรวมแนวคิดและหลักการจากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัดทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง

สามารถสร้างเครือข่ายการทำงานด้านศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย ที่เป็นรูปธรรม รู้ว่ามีเครือข่ายการทำงานที่ใดบ้าง มีความเชี่ยวชาญด้านใด และทิศทางการพัฒนาเป็นอย่างไร มีการนำศิลปกรรมบำบัดไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิ กลุ่มผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา กลุ่มผู้ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติ กลุ่มเด็กที่ถูกทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มผู้ติดสุรา และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น ก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ที่นักศิลปกรรมบำบัด และผู้ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และสมจิตร ไกรศรี. (2553). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. วารสารราชานุกูล. 25 (3): 22-31.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และ สมจิตร ไกรศรี. (2549). โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

นรัญชญา ศรีบูรพา. (2552). คู่มือโปรแกรมศิลปกรรมบำบัดสำหรับผู้ติดสุรา. เอกสารประกอบการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สถาบันราชานุกูล.

มาลิยา กองสุข. (2549). ศิลปกรรมบำบัด ณ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 6 (2): 275-6.

สมจิตร ไกรศรี และ เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2550). ศิลปกรรมบำบัดในประเทศไทย: กำเนิดศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัด และสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 3. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. 2 (2): 319-24.

อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี. (2552). ศิลปะบำบัด....คืนความสมดุลสู่ชีวิต: ความเข้าใจของการวาดภาพระบายสีเพิ่มการบำบัดบนพื้นฐานแนวคิดมนุษย์ปรัชญา. เอกสารประกอบการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สถาบันราชานุกูล.

อำไพขนิษฐ สมานวงศ์ไทย, เลิศศิริร์ บวรกิตติ. (2549). ศิลปกรรมบำบัด. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 6: 243-7.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2555). การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt22-arttherapy_seminar.htm

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

บทความเพิ่มเติมเรื่องศิลปะบำบัด

ศิลปะบำบัด

 

ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด

 

ศิลปะบำบัดในเด็กพิเศษ

 

ประวัติศิลปะบำบัด

 

โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล

 

การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

nutritional therapy

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »