ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
คนพิการกับโอกาสทางสังคม
Disability Person with Opportunity
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
มุมมองต่อคนพิการในสังคมไทยควรเปลี่ยนแปลง
จากสังคมเวทนานิยม กลายเป็นสังคมฐานสิทธิ
จากสังคมเวทนานิยม ที่มองความพิการเป็นเรื่องส่วนตัว อยู่ที่เวรกรรมของแต่ละคน
และจะอยู่ได้ด้วยความสงสาร ความเห็นใจ
กลายเป็นสังคมฐานสิทธิ ที่ให้คนพิการได้รับประโยชน์ตามสิทธิ
มีเสรีภาพในการเลือกกระทำการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรก ที่องค์การสหประชาชาติประกาศขึ้นเพื่อให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ช่วยให้คนพิการกว่า 650 ล้านคน ทั่วโลก มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกกระทำการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
สำหรับประเทศไทยก็ร่วมให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ซึ่งมีผลทำให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งสาระหลัก คือ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของคนพิการ โดยเน้นที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอก และการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 2 ประการ ได้แก่
1) การพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นการกำหนดมาตรการที่มุ่งพัฒนาบริการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
2) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการ ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในทุกมิติ (Non-Discrimination and Equality)
นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ยังกล่าวถึงหลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (Accessibility) ซึ่งประกอบด้วย
1. การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ฯลฯ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม หรือที่เรียกว่า “อารยะสถาปัตยกรรม” (Universal Design) ต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างส้วมให้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนพิการที่ใช้เก้าอี้เข็นสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การออกแบบบริการข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคน รวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น
2. การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น
3. การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล (Reasonable Accommodation) เพื่อลดการเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อันไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
สิทธิของคนพิการตามอนุสัญญาฉบับนี้ ได้แก่
· ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ
· สิทธิการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคล
· สิทธิที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถตามกฎหมายบนพื้นฐานอันเท่าเทียมกัน
· เสรีภาพจากการถูกทรมาน
· เสรีภาพจากการแสวงหาประโยชน์ การใช้ความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิด
· สิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อศักดิ์ศรี ทางร่างกายและจิตใจ
· เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานและการถือสัญชาติ
· สิทธิในการอาศัยอยู่ในชุมชน
· เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น
· การเคารพการเป็นส่วนตัว
· การเคารพในการสร้างครอบครัวและสถาบันครอบครัว
· สิทธิด้านสุขภาพ
· สิทธิทางการศึกษา
· สิทธิด้านการทำงาน
· สิทธิสำหรับมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอ
· สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง และสาธารณกิจ
· สิทธิการมีส่วนร่วมด้านวัฒนธรรม นันทนาการการผ่อนคลายยามว่าง และกีฬา
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนคนพิการ กล่าวว่า “หากประเทศไทยทำตามอนุสัญญาฉบับนี้อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้มุมมองต่อคนพิการของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่มองความพิการเป็นเรื่องส่วนตัว อยู่ที่เวรกรรมของแต่ละคน และจะอยู่ได้ด้วยความสงสาร ความเห็นใจ เป็นสังคมเวทนานิยม กลายเป็นสังคมฐานสิทธิ ที่ให้คนพิการได้รับประโยชน์ตามสิทธิ มีเสรีภาพในการเลือกกระทำการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ”
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากฎหมายต่างๆ ของไทย ที่สอดคล้องกับหลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำรับคนพิการ พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 ฉบับ ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทย
“คนพิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ ออทิสติก หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป
ปัจจุบันได้กำหนดประเภทความพิการ ออกเป็น 7 ประเภท ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ดังนี้
· ความพิการทางการเห็น
· ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
· ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
· ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
· ความพิการทางสติปัญญา
· ความพิการทางการเรียนรู้
· ความพิการทางออทิสติก
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ รวมทั้งให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ สนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป และมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
กำหนดให้มีการลดหย่อนภาษี แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ องค์กรเอกชนที่จัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ มีการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ทุกวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันคนพิการสากล เพื่อย้ำเตือนความสำคัญของคนพิการอีกด้วย เป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆ
สุดท้ายปลายทางของโอกาสต่างๆ ที่มีอยู่ คือ การนำมาทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เกิดความเสมอภาคในสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ใจที่เปิดกว้างของผู้คนในสังคม
เอกสารอ้างอิง
ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555. (9 กรกฎาคม 2555). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 (ตอนพิเศษ 119 ง); หน้า 22-3.
พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (ตอนที่ 61 ก); หน้า 8-24.
พัฒนาคนพิการไทย, มูลนิธิ. (2551). สิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [Online]. Available from URL: http://www.tddf.or.th/tddf/newsroom
มณเฑียร บุญตัน. (2551). ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“คนพิการไทยได้อะไรจาก CRPD: อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [คมชัดลึกออนไลน์ 3 ธันวาคม 2551]
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ, สำนักงาน. (2554). สรุปสาระสำคัญอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [Online]. Available from URL: http://www.nep.go.th
บทความแก้ไขล่าสุด: พฤศจิกายน 2560
บทความต้นฉบับ: มกราคม 2557
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2560). คนพิการกับโอกาสทางสังคม. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/dp01-opportunity.html
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ชุดความรู้ เด็กพิเศษ