HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

World Autism Awareness Day

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของโรคออทิสติก ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับ สร้างความเท่าเทียม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศจัดเป็นสัปดาห์ตระหนักรู้ออทิสติก (World Autism Awareness Day) ช่วงสัปดาห์เดียวกับวันที่ 2 เมษายน เช่น สหราชอาณาจักร และในบางประเทศจัดเป็นเดือนตระหนักรู้ออทิสติก ตลอดเดือนเมษายน เช่น สหรัฐอเมริกา

องค์กรออทิสติกแห่งอเมริกา กำหนดให้ใช้ริบบิ้นรูปจิ๊กซอร์ (puzzle ribbon) เป็นสัญลักษณ์สากลของการตระหนักรู้ออทิสติก ซึ่งอาจทำเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ แม่เหล็ก หรือสติกเกอร์ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์โดยใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย เช่น ใส่เสื้อผ้าสีฟ้า หรือตกแต่งสถานที่เป็นสีฟ้า

World Autism Awareness Day

puzzle ribbon

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดธีมเฉพาะเจาะจงของวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในแต่ละปี ดังนี้

พ.ศ. 2555 “Awareness Raising”
พ.ศ. 2556 “Celebrating the ability within the disability of autism”
พ.ศ. 2557 “Opening Doors to Inclusive Education”
พ.ศ. 2558 “Employment: The Autism Advantage”
พ.ศ. 2559 “Autism and the 2030 Agenda: Inclusion and Neurodiversity”
พ.ศ. 2560 “Toward Autonomy and Self-Determination”
พ.ศ. 2561 “Empowering Women and Girls with Autism”
พ.ศ. 2562 “Assistive Technologies, Active Participation”
พ.ศ. 2563 “The Transition to Adulthood”
พ.ศ. 2564 “Inclusion in the Workplace”
พ.ศ. 2565 “Inclusion Education”
พ.ศ. 2566 “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All”

แนวคิด “Transformation” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งกำหนดเป็นธีมในปีล่าสุด ได้ขยายความว่า “Toward a Neuro-Inclusive World for All” คือ การก้าวสู่โลกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ยอมรับ สนับสนุน และอยู่ร่วมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง ร่วมตอกย้ำเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมของบุคคลออทิสติก ช่วยให้มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ เป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของครอบครัวและสังคมได้อย่างสมบูรณ์

ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต

ออทิสติกเป็นโรคที่รู้จักมาเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว มีชื่อเรียกหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเป็นระยะ มีทั้ง ออทิสติก (Autistic Disorder) ออทิสซึม (Autism) ออทิสติก สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders) พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD Not Otherwise Specified) และแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) จนในปัจจุบันนักวิชาการตกลงใช้คำว่า “Autism Spectrum Disorder” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุด DSM-5 สำหรับในภาษาไทย ควรจะเรียก “ออทิสติก” เหมือนกันในทุกกลุ่มย่อย เนื่องจากเป็นคำที่ใช้มานานแล้ว และระบุอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการด้วย

หากสังเกตพบอาการที่สงสัยว่าลูกจะเป็นออทิสติก ควรรีบนำเด็กไปตรวจประเมินเพิ่มเติมกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อให้เขาได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษาในแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่อายุน้อย และรักษาต่อเนื่อง

หากสังเกตพบอาการที่สงสัยว่าลูกจะเป็นออทิสติก ควรรีบนำเด็กไปตรวจประเมินเพิ่มเติมกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อให้เขาได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษาในแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่อายุน้อย และรักษาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บุคคลออทิสติกยังคงเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ และความท้าทายต่าง ๆ มักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว ซึ่งระดับการรับรู้และการยอมรับยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศด้วย

นอกจากนี้ เราควรตระหนักด้วยว่าบุคคลออทิสติกเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่พบเห็นได้รอบตัว เช่น โรคระบาด สงคราม และภัยธรรมชาติ

ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไปในสถานที่ต่าง ๆ มีประสบการณ์ในชีวิตที่สนุกสนาน มีความสุข ไม่แตกต่างกัน ไม่ควรมีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงผู้ที่เป็นออทิสติก หากได้รับการดูแลที่ถูกวิธี การยอมรับ การสนับสนุน พวกเขาก็จะเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

World Autism Awareness Day

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555. (9 กรกฎาคม 2555). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 (ตอนพิเศษ 119 ง); หน้า 22-3.

American Psychiatric Association. (2013). Neurodevelopmental Disorders. In: Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.

United Nations. (2023). World Autism Awareness Day. from https://www.un.org/en/observances/autism-day

Wikipadia. (2023). World Autism Awareness Day. from https://en.wikipedia.org/wiki/World_Autism_Awareness_Day

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/dp11-autism-awareness-day.html

(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

special child

special child who

special child screen

special child care

special child network

disability

World Autism Awareness Day

World Down Syndrome Day

Down syndrome in animal

ข้อมูลเพิ่มเติม »