ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
เครือข่ายสร้างปัญญา พัฒนาเด็กพิเศษ
Special Child
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ทุกวันที่ผ่านพ้นไป เด็กพิเศษก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ
พร้อมกับโอกาสที่สูญเสียไป ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือเต็มที่
เพียงเพราะว่าไม่มีใครเข้าใจเขา และยังไม่พร้อมจะช่วยเหลือเขา
เด็กพิเศษ คือ เด็กที่ต้องการความดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งเรียกย่อมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “เด็กพิเศษ” ในที่สุด คำนี้มีความหมายกว้าง ครอบคลุมเด็กที่มีความบกพร่องหรือพิการทุกกลุ่มปัญหา เด็กที่เป็นอัจฉริยะหรือมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน รวมถึงเด็กยากจนหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเด็กพิเศษ มักนึกถึงกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา บกพร่องด้านการเรียนรู้ และออทิสติก เป็นหลัก
ในการพัฒนาเด็กพิเศษ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการดูแลช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเด็กเอง เรื่องของเด็กพิเศษไม่ใช่ภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของสังคมที่จะต้องดูแล และให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง คุณหมอ คุณครู เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมชั้น องค์กรท้องถิ่น อาสาสมัคร หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ถ้ามีการรวมตัวกันพัฒนาเป็นเครือข่ายสร้างปัญญาเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเด็กพิเศษได้ไม่ยาก
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กตลอดเวลา แต่การมีลูกเป็นเด็กพิเศษไม่ได้หมายความว่าจะต้องแบกภาระความรับผิดชอบไว้แต่เพียงลำพังผู้เดียว ผู้คนในสังคมรอบข้างก็ควรมีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระ ให้กำลังใจ และหยิบยื่นโอกาสต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการที่เด็กจะสามารถพัฒนาต่อไปได้จนเต็มศักยภาพ แต่จะอย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองก็ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับเด็กพิเศษ รู้แนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม ถูกต้อง ไม่ใช่นึกคิดเอาเองว่าอยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร เพราะชีวิตไม่ใช่การเล่นเกม ที่พลาดโอกาสไปแล้วจะย้อนกลับมาเริ่มต้นแก้ไขใหม่ได้
คุณหมอที่ดูแลก็สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นคนที่วินิจฉัย บอกว่าเด็กเป็นอะไร ควรช่วยเหลือในแนวทางไหน และเมื่อช่วยเหลือแล้วเด็กมีการพัฒนาก้าวหน้าหรือไม่ ถ้าไม่ก้าวหน้าจะทำอย่างไร ถ้าก้าวหน้าแล้ว จะต่อยอดอย่างไร รวมถึงทีมงานต่างๆ ด้านสาธารณสุขที่ดูแลเด็กพิเศษด้วย ที่จะคอยเป็นผู้ฝึกฝน แนะนำ และให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้ปกครอง ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยา พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักแก้ไขการพูด และอื่นๆ คุณครูก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นผู้สอนให้เด็กสามารถเรียนรู้เข้าใจในวิชาความรู้แขนงต่างๆ และเรียนรู้ทักษะชีวิตอีกด้วย ครูที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องให้สามารถรู้เรื่องได้ นับเป็นครูที่เก่ง มีความสามารถสูง สามารถสร้างและพัฒนาคนให้เป็นคนได้จริงๆ
ถ้ามีครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียนก็สามารถช่วยเหลือเด็กได้รวดเร็วเต็มที่ เพราะเรียนจบมาโดยตรงด้านนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ปัญหา เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เพียงเรียนรู้และเข้าใจปัญหาเด็กมากขึ้น รู้ว่าเด็กมีจุดเด่นและจุดด้อยอะไร ก็สามารถสอนได้แล้ว ถ้าอะไรที่ดูหนักหนาเกินไปก็ส่งมาไปให้คุณหมอช่วยเหลืออีกทาง เพราะว่าถ้ารอให้ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยดูแล เด็กก็โตเสียแล้ว ทุกวันที่ผ่านไป เด็กโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับโอกาสที่สูญเสียไป ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือเต็มที่ ครู หมอ พ่อแม่ เป็นเสมือนเสาเข็มแห่งปัญญา สำหรับการพัฒนาเด็กพิเศษเลยก็ว่าได้ ถ้าขาดเสาใดเสาหนึ่งไป เด็กก็จะเซล้มลง หรือไม่มีโอกาสได้ลุกขึ้นยืนเสียด้วยซ้ำ ถ้ามีเสาไหนสั่นคลอน เด็กก็เกิดความไม่มั่นคง และพัฒนาได้ไม่เต็มที่
เพื่อนบ้านใช่อื่นไกล ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญมาก เป็นคนที่สามารถสอนให้เด็กรู้จักความหลากหลาย ความแตกต่าง รู้จักว่าในสังคมไม่ใช่มีแค่ตัวเด็กและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีผู้คนอื่นมากมายที่เด็กต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อนบ้านสามารถช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ คอยสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัยให้ เมื่อเด็กมาเล่นนอกบ้าน เพื่อให้เด็กมีโอกาสออกมาเรียนรู้นอกบ้านมากขึ้น บางครั้งเด็กอาจร้องส่งเสียงดัง ก่อความรำคาญให้ ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด บางเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุม เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ก็จะไม่ทำให้โกรธ หรือหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้าเป็นร้านค้าขายของก็สามารถสอนให้เด็กเรียนรู้การมาซื้อของ จ่ายเงิน ทอนเงินได้ ให้เด็กเรียนรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ ว่าอะไรเรียกว่าอะไร ก็เป็นการช่วยสอนเด็กเพิ่มอีกทาง
เพื่อนร่วมชั้นเรียนยิ่งสำคัญมาก ถ้ามีบั๊ดดี้หรือคู่หูคอยประกบ แนะนำ และพาเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษไปเล่นด้วย ไปทานข้าวด้วย ก็จะยิ่งทำให้เด็กพัฒนาได้เร็ว องค์กรท้องถิ่นก็ยิ่งสำคัญ ที่จะสามารถกำหนดทิศทางของชุมชนให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กพิเศษได้ ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องข้างต้นสามารถทำหน้าที่ในการดูแลเด็กพิเศษได้เต็มที่มากที่สุด สามารถสนับสนุนงบประมาณและจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อการพัฒนาเด็กพิเศษ เพราะการพัฒนาคนเป็นรากฐานของการพัฒนาทุกสิ่ง เมื่อเด็กพิเศษได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ เขาก็จะไม่เป็นภาระต่อชุมชนและสังคมด้วยเช่นกัน
อาสาสมัคร หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่างๆ ล้วนเป็นฟันเฟือนที่ขาดไม่ได้ในระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กพิเศษ เพราะจะเป็นผู้ประสานงานที่ดี เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูล กระจายข่าวสารที่ดี และเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเข้าใจเด็กพิเศษเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในเครือข่ายสร้างปัญญาเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษ มีความสำคัญมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเสาหลักหรือผู้สนับสนุนล้วนสำคัญทั้งสิ้น ค้นหาบทบาทของตนเองแล้วเข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็กพิเศษกันเถอะ อย่าเป็นผู้เฝ้ามองอยู่ห่างๆ เลย
บทความแก้ไขล่าสุด: พฤศจิกายน 2560
บทความต้นฉบับ: เมษายน 2554
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2560). เครือข่ายสร้างปัญญา พัฒนาเด็กพิเศษ. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/sc05-special-child-network.html
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ชุดความรู้ เด็กพิเศษ