HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Cyberbullying

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การดำเนินชีวิตของผู้คนยึดติดอยู่กับโลกไซเบอร์ มิตรภาพ ความรู้ ความบันเทิง การจับจ่ายใช้สอย ความสะดวกสบายต่าง ๆ ล้วนผูกอยู่บนระบบอินเตอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริงก็ตามมาอยู่บนโลกไซเบอร์เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ การบูลลี่ทางไซเบอร์ ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากกระทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และกระทำได้ซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน

“การบูลลี่ทางไซเบอร์” (cyberbullying) หรือที่สำนักงานราชบัณฑิตสภาใช้คำว่า “การระรานทางไซเบอร์” หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

การบูลลี่ทางไซเบอร์ อาจเกิดขึ้นได้ผ่านโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความ แพลตฟอร์มเกม และโทรศัพท์มือถือ เป็นพฤติกรรมที่ทำโดยตั้งใจ เพื่อให้เหยื่อเกิดความรู้สึกอึดอัด โกรธ กลัว หรือเสียใจ เกิดขึ้นซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีก แตกต่างจากการหยอกล้อเล่นกันทั่วไปตรงที่ผู้ถูกกระทำไม่มีความรู้สึกร่วม ไม่สนุก หรืออยากเล่นด้วย

การบูลลี่ทางไซเบอร์ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1) การก่อกวน ข่มขู่คุกคาม
2) การให้ร้ายใส่ความ
3) การเผยแพร่ความลับ ข้อมูลส่วนตัว
4) การกีดกัน หรือไล่ออกจากกลุ่มออนไลน์
5) การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม
6) การขโมยอัตลักษณ์
7) การล่อลวง

 

ผลกระทบจากการบูลลี่ทางไซเบอร์

การถูกบูลลี่ ส่งผลกระทบได้ทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และการเรียน ดังนี้
1) ทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มวนท้อง เหน็ดเหนื่อยจากการอดนอน อ่อนเพลีย สุขภาพไม่แข็งแรง
2) ทางจิตใจ เช่น หงุดหงิด โมโห อับอาย ละอายใจ สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยรัก รู้สึกถูกคนอื่นหัวเราะเยาะ รู้สึกไร้ค่า
3) ทางสังคมและการเรียน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนในครอบครัว แยกตัว ผลการเรียนถดถอย ขาดเรียนบ่อย ออกจากโรงเรียนกลางคัน

ความรู้สึกอับอาย รู้สึกถูกคนอื่นหัวเราะเยาะ เป็นสิ่งที่ปิดกั้นเหยื่อ ทำให้ไม่กล้าพูดออกมา ไม่ร้องขอความช่วยเหลือ และไม่หาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมา เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และอาจถึงกับพยายามฆ่าตัวตาย

จากการสำรวจวัยรุ่นที่เป็นเหยื่อการบูลลี่ พบว่า เกินครึ่งจะรู้สึกโกรธเมื่อถูกบูลลี่ อีกประมาณ 1 ใน 3 จะรู้สึกเจ็บใจ และเกือบร้อยละ 15 จะรู้สึกกลัว และผลกระทบที่ตามมา พบว่า 2 ใน 3 เกิดความรู้สึกด้านลบที่มีต่อตนเอง เกือบ 1 ใน 3 มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อน และร้อยละ 13 มีผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย

 

การรับมือการบูลลี่ทางไซเบอร์

องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ให้คำแนะนำเมื่อถูกบูลลี่ทางไซเบอร์ ดังนี้
1) บอกได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการบูลลี่ ซึ่งแยกออกจากการหยอกล้อกันทั่วไป ด้วยความรู้สึกที่อึดอัด ไม่สบายใจ อับอาย เสียใจ โกรธ หรือทำให้กลัว
2) ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัวที่สนิท หรือครูที่โรงเรียน
3) ในกรณีที่มีรุนแรง อาจเป็นอันตราย ให้แจ้งตำรวจ หรือศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ
4) บล็อก (block) และรายงาน (report) ไปยังแพลตฟอร์มที่ใช้งาน เพื่อให้ช่วยหยุดการบูลลี่ทางไซเบอร์
5) เก็บหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ข้อความ รูปภาพ หน้าจอที่บันทึกไว้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำแนะนำในการรับมือกับการบูลลี่ทางไซเบอร์ ด้วยหลักการ 5 ข้อ ดังนี้
1) Stop หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
2) Block ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
3) Tell บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
4) Remove ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
5) Be strong เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ

จากการสำรวจในวัยรุ่นอเมริกัน ในปี 2020 พบว่าวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันการบูลลี่ คือการบล็อก หรือปิดกั้นทุกช่องทางการเข้าถึงของผู้ที่มาบูลลี่ แต่มีเพียงร้อยละ 11 ที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ส่วนใหญ่ยังคุยกับผู้ที่มาบูลลี่เพื่อขอร้องให้หยุด อีกส่วนก็ไม่ทำอะไรเลย

ทุกคนล้วนมีบทบาทในการรับมือกับการบูลลี่ทางไซเบอร์ ไม่ใช่เฉพาะผู้ถูกรังแกเท่านั้น ทั้งพ่อแม่ ครู และผู้ให้บริการทางไซเบอร์ สามารถช่วยป้องกันหรือรับมือกับการบูลลี่ทางไซเบอร์ ดังนี้

 

บทบาทของพ่อแม่

พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทำได้โดย
1) คอยสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรมของลูกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฝันร้าย ปวดหัว ปวดท้อง ไม่อยากไปโรงเรียน การเรียนถดถอย พูดคุยน้อยลง ซึมลง แยกตัว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีบาดแผลหรือรอยฟกซ้ำตามร่างกาย ฯลฯ
2) ให้ความสนใจ พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องที่ลูกชอบทำอะไรบนโลกไซเบอร์ เมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ เขาก็อยากมาคุยกับด้วย
3) มีข้อตกลงร่วมกัน หรือกฎของบ้าน ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตหรือเครื่องมือสื่อสารภายในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะก่อนหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก
4) สอนให้เข้าใจถึงภัยอันตรายบนโลกไซเบอร์ เช่น การรับเพื่อนใหม่ การโพสต์ข้อมูลหรือรูปภาพส่วนตัว
5) สอนให้ตั้งค่าความปลอดภัย เช่น ตั้งค่าว่าจะให้ใครเห็นโพสต์ของเรา หรือให้ใครมาโพสต์อะไรบนพื้นที่ของเราได้ จำกัดเฉพาะเพื่อนบางคน หรือเปิดเป็นสาธารณะ

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ ดังนี้
1) ให้ตั้งสติ
2) รับฟังปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
3) ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิ บอกลูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พร้อมบอกให้เขาเข้มแข็ง อดทน และไม่ให้ความสนใจมาก เพราะจะยิ่งทำให้ผู้แกล้งสนุกและทำต่อไป
4) ช่วยแก้ไขปัญหา เช่น บล็อกเพื่อนที่แกล้ง ลบข้อความหรือภาพที่โดนตัดต่อ
5) ขอความช่วยเหลือจากครูหรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
6) หากมีอาการเครียดมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ เป็นเรื้อรัง หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
7) ควรเก็บหลักฐานการกลั่นแกล้งต่าง ๆ ไว้เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายถ้าจำเป็น

 

บทบาทของครู

ครูก็สามารถให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพียงไม่เพิกเฉยต่อปัญหาเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและครอบครัวในการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ สิ่งสำคัญคือการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทำได้ ดังนี้
1) มีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีแนวโน้มจะถูกกลั่นแกล้งรังแก หรือเด็กที่มีพฤติกรรมส่อเค้าว่าชอบกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นบนโลกไซเบอร์
2) แจ้งผู้ปกครองเมื่อพบว่ามีการบูลลี่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
3) สอนทักษะดิจิทัล และการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย
4) สอนทักษะรู้เท่าทันสื่อ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ข่าวสารข้อมูลที่รับมา
5) สอนให้รู้จักฉุกคิด หากไม่ใช่เรื่องจริงแล้วส่งต่อ อาจเป็นการให้ร้ายหรือละเมิดซ้ำได้
6) สอนให้เข้าใจถึงบทบาทของเพื่อนในชั้นเรียน ที่ต้องช่วยกันเป็นกำลังใจและปลอบใจเพื่อนที่ถูกบูลลี่ มิใช่ซ้ำเติม หรือหากพบเห็นเพื่อนที่ชอบบูลลี่คนอื่น ต้องช่วยกันแจ้งเตือน หรือช่วยเก็บหลักฐาน

 

บทบาทของผู้ให้บริการทางไซเบอร์

ควรมีกฎกติกาเพื่อต่อต้านการบูลลี่ทางไซเบอร์บนพื้นที่ให้บริการของตน ดังนี้
1) มีประกาศห้ามอย่างชัดเจน และมีมาตรการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน
2) มีปุ่มรับแจ้งหรือรายงานกรณีมีการบูลลี่ทางไซเบอร์ เพื่อให้เด็กขอความช่วยเหลือในการลบเนื้อหาที่ทำให้อับอายหรือเสื่อมเสีย
3) มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจและความเสียหายของเหยื่อ พร้อมประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาล
4) ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2022). Cyberbully คืออะไร? ส่งผลอย่างไร? และเราควรรับมือกับมันอย่างไรดี? [Online]. Available URL: https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/cyberbully

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2022). Cyberbullying: ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว. [Online]. Available URL: https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Cyberbullying-in-IFBL.asp

Hinduja S & Patchin JW. (2021). Cyberbullying: identification, prevention, and response. [Online]. Available URL: https://cyberbullying.org/Cyberbullying-Identification-Prevention-Response-2021.pdf

Sittichai R & Smith PK. (2013). Bullying and cyberbullying in Thailand: A review. International Journal of Cyber Society and Education, 6(1): 31-44.

Statista. (2021). U.S. internet users who have experienced cyber bullying 2020. [Online]. Available URL: statista.com/statistics/333942/us-internet-online-harassment-severity/

Unicef. (2022). Cyberbullying: What is it and how to stop it. [Online]. Available URL: https://www.unicef.org/end-violence/how-to-stop-cyberbullying

Zhu C, Huang S, Richard Evans R & Zhang W. (2021). Cyberbullying Among Adolescents and Children: A Comprehensive Review of the Global Situation, Risk Factors, and Preventive Measures. Front Public Health. 9:634909. doi: 10.3389/fpubh.2021.634909

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบูลลี่ทางไซเบอร์. [Online]. จาก https://www.happyhomeclinic.com/mh12-cyberbullying.html

(บทความต้นฉบับ: พฤษภาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »