ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

บุหรี่ไฟฟ้า ภัยเงียบสารเสพติด
E-cigarette addiction
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย (2566)
ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า (2567)
เป็นประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่
บทนำ
บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic cigarettes หรือ E-cigarettes) คืออะไร อันตรายหรือไม่ เสพติดหรือไม่ ดีกว่าบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ มีหลายประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องในปัจจุบัน มีความคลุมเครือ ข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความสับสน หลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย
บุหรี่ไฟฟ้า เริ่มเข้าสู่ตลาดราวปี พ.ศ. 2546 และมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2567 พบนักเรียนมัธยม ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 5.9 ส่วนผลสำรวจในสหราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2565 พบเยาวชนอายุ 11-18 ปี ใช้บุหรี่ฟ้า ร้อยละ 8.6
จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2564 มีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 24,050 คน ขณะที่ผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารรสุข และกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี พ.ศ. 2558 เป็น ร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2564
ถึงเวลาแล้วที่เยาวชนและผู้ปกครองควรได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในเชิงวิชาการ ใช้เป็นแนวทางในการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป
บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร
บุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette) คือ อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดละอองไอน้ำ ในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใด ซึ่งใช้สำหรับสูบในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่ เพื่อนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้แบบเดิม
บุหรี่ไฟฟ้า ยังมีชื่อเรียกอีกหลายอย่างภายใต้ชื่อ ผลิตภัณฑ์ส่งผ่านนิโคตินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic nicotine delivery systems; ENDS) เช่น Vaping, Vape pen, E-cigs, Hookah sticks, Mod, Pod เป็นต้น
พอต (Pod) คือ บุหรี่ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ออกแบบมาเพื่อให้พกพาง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน โดยมีลักษณะคล้ายกับไดรฟ์ USB หรือปากกา มีการใช้งานคล้าย ๆ บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ
1. แหล่งพลังงาน (power source) ซึ่งมักใช้แบตเตอรี่
2. ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (atomizer)
3. ภาชนะสำหรับใส่ของเหลว (e-liquid container) ใช้บรรจุพวกสารเคมีในรูปแบบ cartridge หรือ tank
สารเคมีที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าในรูปของเหลว จะถูกทำให้เป็นไอและนำเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ มักเรียกว่า “e-liquid” ประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ
• นิโคติน (nicotine) ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
• โพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol) เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ
• กลีเซอรีน (glycerin) เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล
• สารปรุงแต่ง (flavorings) เป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่ว ๆ ไป
บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่
บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีชนิดต่าง ๆ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนี้
นิโคติน
เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด
โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และในระดับที่รุนแรงคือการได้รับนิโคตินในระดับที่สูงเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ในหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ ในเด็กและวัยรุ่นส่งผลเสียต่อสมองที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ผู้ที่อายุไม่ถึง 25 ปี ซึ่งสมองยังเติบโตพัฒนาได้ดี หากมีสารพิษเข้าไปก็จะหยุดการเจริญเติบโตของสมอง
โพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน
เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
ทั้งโพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยาเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย
สารปรุงแต่ง
สารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสบางชนิดผสมอาหารได้และรับประทานได้ แต่ไม่มีการรับรองด้านความปลอดภัยเมื่อนำมาสูดดม อาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ และถึงขั้นเสียชีวิตได้
สารประกอบอื่น ๆ
ไอสเปรย์ที่เป็นสารเคมี โลหะหนัก รวมไปถึง PM 2.5 หรืออนุภาคขนาดเล็กกว่านั้น ก็จะอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ตรวจพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง (carcinogens) กลุ่ม acetaldehyde และ formaldehyde โลหะหนัก สารหนู และสารกลุ่มเบนซีน (benzene) เป็นต้น
อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต ดังนี้
• ความเสี่ยงจากการระเบิดของอุปกรณ์ พบว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในบุหรี่ไฟฟ้าอาจระเบิดได้ ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและไฟไหม้
• ภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน (EVALI - E-cigarette or Vaping Use-Associated Lung Injury)
• โรค Bronchiolitis obliterans (popcorn lung) เกิดการอักเสบและตีบตันของหลอดลมฝอยในปอด ทำให้มีอาการไอ หายใจเหนื่อยง่าย
• เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
• เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
• ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ วิงเวียน ปวดศีรษะ
• ส่งผลกระทบต่อสมาธิ ความคิด ความจำ และความผิดปกติทางอารมณ์
• ปัญหาการนอน
• อันตรายต่อทารกในครรภ์ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ ปอด และสมองได้รับความเสียหาย
• อันตรายต่อเด็กและวัยรุ่น ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามวัย และผลเสียต่อการพัฒนาของสมอง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ และการควบคุมตนเอง
• อาการอยากยา อาการถอนยา จากภาวะเสพติด
บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดหรือไม่
บุหรี่ไฟฟ้ามี “นิโคติน” ซึ่งเป็นสารเคมีหลักที่ทำให้เกิดการเสพติด จึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม นอกจากนี้รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมมาก ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนเดิม
นิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าคาเฟอีนหลายพันเท่า และขึ้นสู่สมองเร็วมากในเวลาไม่เกิน 7 นาที ทำให้เสพติดง่าย และเลิกยาก บุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม บางยี่ห้อสูงเทียบเท่า 50 มวน
เนื่องจากพฤติกรรมการสูบมักจะเป็นการผลัดเปลี่ยน และหมุนเวียนกับผู้เข้าร่วมสูบภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง และอาจนําไปสู่การเสพร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ เช่น ยาอี ยาเค ยาบ้า กัญชา หรือผงขาว
บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดง่ายและเลิกยาก จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนเลิกบุหรี่ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่จะเกิดขึ้น ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
บุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมหรือไม่
โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะการใช้ข้อความจูงใจหรือจุดขายไม่ต่างไปจากเดิม เช่น การเพิ่มเสน่ห์ในทางเพศ ทำให้อารมณ์ดี ซึ่งส่งผลในทางจิตวิทยาให้ผู้สูบมีความเชื่อ ฝังใจในคุณสมบัติเหล่านั้น และดำรงพฤติกรรมการสูบมาเรื่อย ๆ ที่แตกต่างจากเดิมคือ โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ายังเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าเดิม เช่น การมีรสชาติที่หลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า มีรูปรสกลิ่นสีที่ดึงดูดใจมากกว่า เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้นด้วย และยังเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง และเด็กได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
จุดขายอย่างหนึ่งของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า คือ การพยายามนำเสนอว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม โดยหยิบยกงานวิจัยต่าง ๆ ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า และทำให้ผู้สูบลดการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมลงได้ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ภายหลังพบว่า เป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ทำตามระเบียบวิธีการวิจัยอย่างถูกต้อง มีอคติ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ทำการวิจัยที่ชัดเจน จึงไม่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการอีกต่อไป
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากกว่าและทำอย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย ให้ผลสรุปตรงกันข้าม คือ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยลดการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมลง และยังทำให้อัตราการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม และแบบไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีนิโคตินเหมือน ๆ กัน และกลุ่มที่สูบบุหรี่จะมีการแลกเปลี่ยน ทดลองกันภายในกลุ่มจนคุ้นเคยกับทุก ๆ รูปแบบ เพราะเป็นสิ่งที่ทดแทนกันได้
จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) จากงานวิจัยทั่วโลก ระบุว่าเด็กและเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าคนที่ไม่สูบถึงกว่า 2 เท่า
ยังมีผู้เชี่ยวชาญอธิบายไว้ว่า การสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม จะต้องสูบทีละมวน หมดมวนแล้วต้องเปลี่ยนมวน ใช้เวลาจุดไฟสูบใหม่ จึงมีช่วงพักตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดปริมาณนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย แต่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีช่วงหยุดแบบนี้ ผู้สูบสามารถสูบต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรขัดจังหวะ จึงมีโอกาสได้รับปริมาณสารนิโคตินในระดับที่สูงกว่า โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ นำไปสู่ภาวะเสพติดที่รุนแรงกว่า
ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีการควบคุมการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ได้มีการประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ มิให้บริษัทบุหรี่โฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมได้ เพราะขัดกับข้อมูลจากการวิจัยอย่างชัดเจน ในขณะที่สหราชอาณาจักร มีแนวทางแบบยืดหยุ่นกว่า ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมได้
บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่สารประกอบอื่น ๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม ทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้
จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) จากงานวิจัยทั่วโลก ระบุว่าเด็กและเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าคนที่ไม่สูบถึงกว่า 2 เท่า
ในปี พ.ศ. 2557 มีการประเมินว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 95% แต่งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. 2564 พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายถึง 67% ของบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินก่อนหน้านี้มาก
บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่
บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ถือว่ามีความความผิดทั้งผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้ครอบครอง ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ
1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” โดยผู้ผลิต ผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ส่วนผู้ครอบครอง หรือมีไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สนามเด็กเล่น สถานที่ออกกําลังกาย และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ตามมาตรา 67 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย แต่ยังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด
บทสรุป
ข้อมูลจากงานวิจัยและเอกสารทางการแพทย์ชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น การตัดสินใจใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพเป็นสำคัญ
บุหรี่ไฟฟ้ามี “นิโคติน” ซึ่งเป็นสารเคมีหลักที่ทำให้เกิดการเสพติด และยังมีสารประกอบอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน สารปรุงแต่ง สารก่อมะเร็ง สารหนู โลหะหนัก
เอกสารอ้างอิง
คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า”. (18 กุมภาพันธ์ 2558). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 (ตอนที่ 39 ง); หน้า 28-29.
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557. (26 ธันวาคม 2557). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 (ตอนพิเศษ 268 ง); หน้า 1.
พระราชบัญญัติ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560. (5 เมษายน 2560). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 (ตอนที่ 39 ก); หน้า 27-47.
พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562. (27 พฤษภาคม 2562). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 (ตอนที่ 69 ก); หน้า 96-114.
พระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2560. (17 พฤษภาคม 2560). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 (ตอนที่ 53 ก); หน้า 26-79.
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ. (2568). อันตรายจาก POD: เทรนด์วัยรุ่นและผลกระทบด้านสุขภาพ. จาก https://www.trc.or.th/th/ข่าวสาร/podบุหรี่ไฟฟ้า.html
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564). เผยผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564. จาก https://www.thaihealth.or.th/เผยผลสำรวจพฤติกรรมการส/
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). บุหรี่ไฟฟ้า: ตัวเลือกหรือตัวร้ายของสายควัน. จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/content/4615
Hfocus.org. (2566). เพราะอะไร "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ควรถูกกฎหมาย พร้อมข้อมูลผลกระทบสุขภาพวัยรุ่น มีผลต่อพัฒนาการสมอง. จาก https://www.hfocus.org/content/2023/05/27614
American Lung Association. (2025). What's in an E-cigarette? from https://www.lung.org/quit-smoking/e-cigarettes-vaping/whats-in-an-e-cigarette
Gotts, J. E., Jordt, S. E., McConnell, R., & Tarran, R. (2019). What are the respiratory effects of e-cigarettes? BMJ, 366, l5275.
Jankowski, M., Brożek, G., Lawson, J., Skoczyński, S. & Zejda, J. E. (2017). E-smoking: Emerging public health problem? Int J Occup Med Environ Health. 30 (3): 329–344.
Nemours Children's Health. (2025). Vaping: What you need to know. from https://kidshealth.org/en/teens/e-cigarettes.html
Office for Health Improvement & Disparities. (2022). Nicotine vaping in England: 2022 evidence update main findings. from https://www.gov.uk/government/publications/nicotine-vaping-in-england-2022-evidence-update/ nicotine-vaping-in-england-2022-evidence-update-main-findings
U.S. Centers for Disease Control and Prevention. (2024). E-cigarette use among youth. from https://www.cdc.gov/tobacco/e-cigarettes/youth.html
U.S. Fire Administration. (2017). Electronic cigarette fires and explosions in the United States 2009-2016.
from https://www.usfa.fema.gov/downloads/pdf/publications/
electronic_cigarettes.pdf
WHO. (2023). WHO report on the global tobacco epidemic, 2023: protect people from tobacco smoke. from https://www.who.int/publications/i/item/9789240077164
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). บุหรี่ไฟฟ้า ภัยเงียบสารเสพติด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/mh25-e-cigarette.html
(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2568)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)



ชุดความรู้ สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น