ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

การพนันออนไลน์ ภัยร้ายเยาวชน
Online Gambling in Youth
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การพนันออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องตระหนัก
เรียนรู้ให้เท่าทัน และป้องกันให้ทันท่วงที
บทนำ
การพนันออนไลน์เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นสำหรับเยาวชนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นยุคที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนได้ง่าย มีการโฆษณาชวนเชื่อ รูปแบบการนำเสนอที่จูงใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงและเล่นการพนันออนไลน์ได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
จากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี พ.ศ. 2566 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีแรกที่คนไทยเล่นการพนันออนไลน์มากกว่าการพนันแบบมีที่ตั้ง ประเภทของการพนันออนไลน์ที่คนไทยเล่นมากที่สุดอันดับแรกคือ สล็อตแมชชีน เกมพนัน ถัดมาคือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง ไฮโล โปปั่น น้าเต้าปูปลา และเกมไพ่อื่นๆ
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-25 ปี จากทั่วประเทศ พบว่าเยาวชนไทยถูกชักชวนผ่านสื่อออนไลน์ให้เล่นพนันออนไลน์เกือบ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ เห็นแล้วอยากลองเข้าไปเล่น ร้อยละ 44 และคลิกเข้าไปดู ร้อยละ 25 ซึ่งนับเป็นเยาวชนที่มีความเสี่ยงกลายเป็นนักพนันหน้าใหม่
เยาวชนส่วนใหญ่เข้าถึงพนันออนไลน์ก่อนอายุ 20 ปี และถูกหลอกใช้ให้โฆษณาเว็บพนันโดยใช้เงินเป็นตัวล่อให้รีวิว โพสต์ แชร์ ชวนเพื่อนเล่นพนัน
จึงมีความจำเป็นในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่เยาวชน เกี่ยวกับผลกระทบของการพนันออนไลน์ รวมทั้งการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือกับเยาวชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพนันออนไลน์
ความหมาย
การพนัน (gambling) ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2543 หมายถึง การเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดโดยอาศัย ความฉลาด ความชำนาญ เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบ และฝีมือ รวมทั้งโชคด้วย
ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ไม่ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “พนัน” ไว้โดยเฉพาะ แต่กำหนดการเล่นที่จัดเป็นการพนันไว้ในบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติ เช่น หวย ก. ข. โปปั่น โปกำ ถั่ว แปดเก้า จับยี่กี ต่อแต้ม น้ำเต้า ไฮโลว์ ปั่นแปะ บาการา เป็นต้น
การพนันยังหมายถึงอะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน ส่วนการพนันที่เล่นเป็นการส่วนตัว มีเงินหมุนเวียนไปมา แต่ไม่มีกำไรเกิดขึ้น และไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหารายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพนัน ขณะที่การเล่นพนันที่จัดขึ้นโดยองค์กรการพนัน เช่น คาสิโน ซึ่งจัดบริการหรือเกมการเล่นในหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาเล่นการพนันถือเป็นการพนัน
องค์ประกอบของการพนันจึงมี 3 ส่วน คือ มีการวางเงินเดิมพัน มีเรื่องของโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีรางวัล ดังนั้น หากมีการวางเดิมพัน การเสี่ยงโชค และรางวัลถือเป็นการพนันทั้งสิ้น
การพนันออนไลน์ (online gambling) หมายถึง การพนันที่ทำผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเกมส์พนันออนไลน์ต่าง ๆ ให้กับผู้เล่นได้เลือกเข้าไปใช้บริการอยู่มากมาย เช่น โป๊กเกอร์ คาสิโน หวย แทงบอล การพนันกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น
ระบาดวิทยา
อาการของโรคติดการพนันเริ่มได้ในทุกช่วงอายุ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเริ่มเล่นการพนันในช่วงอายุน้อยกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงอาจพัฒนาไปสู่ปัญหาการพนันได้เร็วกว่ามาก
อัตราการชุกของโรคติดการพนัน จากการศึกษาระหว่างประเทศ พบประมาณร้อยละ 0.1–0.7 ในสหรัฐอเมริกา พบประมาณร้อยละ 0.2–0.3
จากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี พ.ศ. 2566 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า คนไทยร้อยละ 82.2 มีประสบการณ์เคยเล่นการพนันในชีวิต โดยเริ่มเล่นพนันครั้งแรกที่อายุเฉลี่ย 22 ปี ร้อยละ 63.1 เล่นการพนันในปีที่สำรวจ โดยการพนัน 3 ลำดับแรก คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และไพ่พนัน
คนไทยเกือบทั้งหมดเคยพบเห็นช่องทางการเล่นพนัน แต่เกินครึ่งก็ยังมีทัศนคติว่า ไม่ควรให้มีการเล่นพนันอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพนันทายผลฟุตบอล บ่อนคาสิโน หรือพนันออนไลน์ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้คนเล่นพนันเพิ่มขึ้น
ในประเทศไทย ยังไม่มีผลศึกษาเรื่องโรคติดการพนันโดยตรง จึงยังไม่ทราบถึงขนาดของปัญหา และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าสามารถรักษาได้ จึงยังมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาน้อย การตีตราจากสังคม (stigmatization) และความอับอาย มักทำให้ไม่กล้าแสวงหาความช่วยเหลือด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เยาวชนเล่นพนันออนไลน์ ได้แก่
ปัจจัยส่วนบุคคล
ผู้ที่เล่นพนันออนไลน์มักมีความหุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ อยากรู้ อยากลอง จึงทำให้มีการเล่นการพนันออนไลน์
และมีความรู้สึกสนุกสนาน รู้สึกมีความสุขในขณะที่เล่นพนัน เยาวชนที่มีเวลาว่างมาก ไม่ได้ไปโรงเรียน อาจหันไปเล่นพนันเพื่อฆ่าเวลา ลดความเบื่อหน่าย
ปัจจัยจากครอบครัว
จากผลการวิจัยในกลุ่มเยาวชนของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนที่ติดพนันมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เล่นพนัน
ในขณะที่ครอบครัวที่เปิดใจรับฟัง ร่วมกันแก้ไขปัญหา จะเป็นปัจจัยปกป้องที่สำคัญ
ปัจจัยจากเพื่อน
อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน เพื่อนที่เล่นพนันออนไลน์ เพื่อนชักชวนให้ร่วมเล่นพนัน ทำให้เยาวชนอยากทดลอง และติดพนันในที่สุด
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
เยาวชนต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ไม่มีเงินเพียงพอ จึงหันไปพึ่งพาการพนัน ค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย
อยากได้ของแบรนด์ อยากได้ของสะสมจากศิลปินที่ชื่นชอบ อยากอวดมีในสื่อสังคมออนไลน์ เกินกว่าเงินที่มี เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
ปัจจัยจากการโฆษณา
การโฆษณาพนันออนไลน์ที่ดึงดูดใจ เข้าถึงโดยตรง ทำให้เยาวชนหลงเชื่อและอยากทดลองเล่นพนัน
ถึงแม้ว่าวัยรุ่นจะคิดว่าการโฆษณาไม่มีผลต่อการเล่นพนันออนไลน์ แต่พบว่าผู้ที่เล่นพนันมักจำโฆษณาที่เกี่ยวข้องได้ดี
ผลกระทบ
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก การพนันออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญในเยาวชน โดยสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า และการใช้สารเสพติด
จากข้อมูลผู้รับการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต พบว่า ผู้ที่มีปัญหาจากการพนัน จะมีปัญหาสุขภาพจิตในด้านสมาธิ ปัญหาการนอน รู้สึกเครียด รู้สึกไม่มีความสามารถในการเอาชนะปัญหา รู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความมั่นใจ และไม่มีความสุข
การพนันออนไลน์ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเยาวชนทุกด้าน ดังนี้
ผลกระทบด้านจิตใจ
ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ และการฆ่าตัวตาย
ผลกระทบด้านความคิด
ทำให้ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา การตัดสินใจที่ดี ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ
ผลกระทบด้านความสัมพันธ์
ทำให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรอบข้าง และมักถูกมองในด้านลบ
ผลกระทบด้านการศึกษา
ทำให้ขาดสมาธิในการเรียนรู้ ผลการเรียนตกต่ำ และอาจต้องออกจากระบบการศึกษาในที่สุด
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ทำให้สูญเสียเงินทองที่ควรจะนำไปใช้จ่ายในเรื่องที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่ปัญหาหนี้สิน และปัญหาอาชญากรรมในที่สุด
โรคติดการพนัน (gambling disorder)
เป็นการวินิจฉัยทางจิตเวชในผู้ที่เสพติดการพนัน จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การเรียน
การประกอบอาชีพ หรือสัมพันธภาพทางสังคม
แนวทางการป้องกัน
การแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเยาวชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าหากปล่อยปละละเลยปัญหานี้ต่อไป ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
แนวทางป้องกันการพนันออนไลน์ในเยาวชน มีดังนี้
การสร้างความตระหนักรู้ (awareness)
สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเยาวชนและครอบครัว เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบของการพนันออนไลน์
รู้เท่าทัน หมั่นสังเกต และช่วยกันคิดแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
การสร้างคุณค่าในตนเอง (self-esteem)
เป็นความคิด ความเชื่อ และความรู้สึก เกี่ยวกับตนเองในเชิงบวก เช่น ความรู้ความสามารถ
จุดเด่นจุดด้อย สัมพันธภาพกับผู้อื่น ศักยภาพของตนเอง เป็นต้น จะส่งผลให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
การเสริมทักษะการควบคุมตนเอง (self-control)
ฝึกฝนทักษะการควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม การยับยั้งชั่งใจ
และชื่นชมตัวเองเมื่อสามารถทำได้ โดยฝึกฝนตั้งแต่วัยเด็ก
การบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement)
ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับเทคโนโลยี บังคับใช้อย่างจริงจัง และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะบ่อนพนัน และเว็บไซต์พนันออนไลน์
การจำกัดการเข้าถึง (limitation)
การจำกัดอายุ และใช้เทคโนโลยีช่วยจำกัดการเข้าถึงแหล่งอบายมุข หรือเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
การดูแลช่วยเหลือทางสุขภาพจิต (mental health care)
จัดตั้งคลินิกให้การปรึกษา บำบัดรักษาผู้ติดพนัน สายด่วนเลิกพนัน
เพื่อช่วยเหลือให้เยาวชนที่ติดพนันให้สามารถกลับคืนสู่สังคมและระบบการศึกษาได้
บทสรุป
การพนันออนไลน์ในเยาวชนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไขอย่างรอบด้าน การเข้าใจปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบ จะช่วยให้สามารถพัฒนาแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เยาวชนเล่นพนันออนไลน์ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยจากครอบครัว ปัจจัยจากเพื่อน ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยจากการโฆษณา
การพนันออนไลน์ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเยาวชนทุกด้าน ทั้งด้านจิตใจ ความคิด ความสัมพันธ์ การศึกษา เศรษฐกิจ และเป็นโรคติดการพนันได้
แนวทางป้องกันการพนันออนไลน์ในเยาวชน ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ การสร้างคุณค่าในตนเอง การเสริมทักษะการควบคุมตนเอง การบังคับใช้กฎหมาย การจำกัดการเข้าถึง และการดูแลช่วยเหลือทางสุขภาพจิต
เอกสารอ้างอิง
ธนกฤษ ลิขิตธรากุล, ภาสกร คุ้มศิริ, พัทธ์ธีรา ดิษยวรรณวัฒน์, ชลธิชา แย้มมา และสันติภาพ นันทะสาร. (2563). ปัญหาสุขภาพจิตกับการเล่นการพนันของผู้รับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 65(2): 131-40.
พระราชบัญญัติ การพะนัน พ.ศ. 2478. (1 กุมภาพันธ์ 2478). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 52; หน้า 1978.
วิไลลักษณ์ ลังกา, นริสรา พึ่งโพธิ์สภ และ พัชราภรณ์ ศรีสวัสดิ์. (2563). คู่มือ แนวทางการป้องกันการเล่นพนันออนไลน์ สำหรับครูแนะแนว. กรุงเทพฯ: อมรรัตน์ ก๊อปปี้.
ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. (2566). รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2566. จาก https://www.gamblingstudy-th.org/
Hing, N., Russell, A., & Gainsbury, S. (2016). The impact of online gambling on young people. Journal of Youth Studies. 19(3): 257-273.
Montiel, I., Ortega-Barón, J., Basterra-González, A., González-Cabrera, J. & Machimbarrena, J. M. (2021). Problematic online gambling among adolescents: A systematic review about prevalence and related measurement issues. J Behav Addict. 10(3): 566-586.
Potenza, M. N. et al. (2025). Online gambling in youth. in: Christakis, D. A., Hale, L. (eds). Handbook of children and screens. Springer, Cham.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2568). การพนันออนไลน์ ภัยร้ายเยาวชน. จาก https://www.happyhomeclinic.com/mh28-gambling-online.html
(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2568)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)



ชุดความรู้ สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น