HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

cannabis & IQ decline

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

กัญชา (Cannabis) เป็นยาเสพติดให้โทษที่ถูกกฎหมายในบางประเทศ แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ ห้ามใช้ในเด็กและวัยรุ่น สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร เพราะมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ คือ tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์เสพติด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา ส่งผลให้ไอคิว หรือระดับเชาวน์ปัญญาลดลง

จากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่าการใช้กัญชา มีความสัมพันธ์กับการลดลงของเนื้อสมองส่วนสีเทา (grey matter) ในสมองส่วน hippocampus ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความจำและการประมวลผลข้อมูล และสมองส่วน amygdala ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ (Rocchetti et al., 2013)

การศึกษาล่าสุดยังพบว่า ถึงแม้จะมีการใช้กัญชาเพียงเล็กน้อย สมองของวัยรุ่นที่ใช้กัญชาจะมีปริมาตรเปลี่ยนแปลงไปด้วย (Orr et al., 2019) และการใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบว่า มีปริมาตรของสมองส่วน hippocampus ลดลงในช่วงวัยกลางคน และความสามารถในการทำงานของสมอง (cognitive function) ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมด้วย (Meier et al., 2022)

“การใช้กัญชาทำให้ไอคิวลดลง” เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ หรือไม่ หรือมีหลักฐานยืนยันชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชา โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีในเชิงวิชาการ

 

ผลของกัญชาต่อไอคิว

จากการสรุปผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic review) และการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ของ Emmet Power และคณะ (2021) โดยเน้นที่ผลของการใช้กัญชาต่อไอคิว ในกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่น พบว่า “ยิ่งวัยรุ่นเริ่มใช้กัญชาเร็วและใช้ต่อเนื่องนานขึ้น ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ไอคิวลดลง”

โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยในฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 2,875 เรื่อง เมื่อตัดงานวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการวิเคราะห์ข้อมูล จึงเหลืองานวิจัยที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างเป็นเวลาต่อเนื่อง (cohort study) เพียง 7 เรื่อง ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับปานกลางถึงสูง ในชาติตะวันตก 4 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และนิวซีแลนด์ มีกลุ่มตัวอย่าง 6,116 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง (ผู้ใช้กัญชา) 808 คน และกลุ่มควบคุม (ไม่ใช้กัญชา) 5,308 คน มีการติดตามในระยะเวลาเฉลี่ย 18 ปี

ผลการศึกษาพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชาบ่อยและการติดกัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น กับไอคิวที่ลดลง โดยกลุ่มทดลองที่ใช้กัญชา มีค่าไอคิวด้านภาษา (verbal IQ) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในงานวิจัยทั้ง 7 เรื่อง ส่วนค่าไอคิวรวม (Full scale IQ) พบว่าค่าเฉลี่ยไอคิวลดลงประมาณ 2 แต้ม ในงานวิจัยทั้ง 7 เรื่อง โดยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2 เรื่อง

cannabis & IQ decline

แผนภาพแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ในการใช้และการติดกัญชา กับไอคิวที่ลดลง
ที่มา: Power et al., 2021

 

ปี ค.ศ. 2012 Meier และคณะ รายงานผลการวิจัยระยะยาว Dunedin (Dunedin cohort study) ในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามการใช้กัญชาแบบต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 38 ปี จำนวน 1,037 คน พบว่า การใช้กัญชาอย่างสม่ำเสมอ (persistent cannabis use) และการใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น (adolescent-onset cannabis use) มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบจิตประสาทที่แย่ลง (neuropsychological decline) โดยเห็นได้ชัดจากผลไอคิวที่ลดลง

การใช้กัญชาอย่างสม่ำเสมอ (persistent cannabis use) ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภาวะติดกัญชา (cannabis dependence) หรือผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำ (regular cannabis use) มีความสัมพันธ์กับผลไอคิวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งค่าไอคิวรวม (Full scale IQ) และค่าไอคิวด้านภาษา (verbal IQ) ยิ่งใช้กัญชาบ่อย ยิ่งไอคิวลดลงมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ที่ได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะติดกัญชา ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป มีค่าเฉลี่ยไอคิวลดลง ประมาณ 6 แต้ม (จาก 99.68 เป็น 93.93)

cannabis & IQ decline

ตารางแสดง ค่าไอคิวก่อนและหลังใช้กัญชา
ที่มา: Meier et al., 2012

 

กลุ่มที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น (adolescent-onset cannabis use) พบว่ามีค่าไอคิวลดลงมากกว่ากลุ่มที่เริ่มใช้กัญชาในวัยผู้ใหญ่ (adult-onset cannabis users) และพบว่ามีค่าไอคิวลดลงโดยไม่ขึ้นอยู่กับว่ามีการใช้บ่อยหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่กลุ่มที่เริ่มใช้กัญชาในวัยผู้ใหญ่จะมีค่าไอคิวลดลงเมื่อมีการใช้บ่อยเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แม้จะหยุดใช้กัญชาแล้ว สมองก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ดีเหมือนเดิม และถ้ายิ่งใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งมีค่าไอคิวลดลงมากขึ้น

cannabis & IQ decline

แผนภาพแสดง ค่าไอคิวที่เปลี่ยนแปลง ในกลุ่มที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และกลุ่มที่เริ่มใช้กัญชาในวัยผู้ใหญ่
ที่มา: Meier et al., 2012

 

ปี ค.ศ. 2022 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ล่าสุด โดย Meier และคณะ ซึ่งเป็นผลการวิจัยระยะยาว Dunedin (Dunedin cohort study) ในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามการใช้กัญชาแบบต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 45 ปี จำนวน 1,037 คน ซึ่งเป็นชุดเดิมที่เคยรายงานเมื่อ 10 ปีก่อน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1) กลุ่มที่ใช้กัญชาแบบต่อเนื่อง (long-term cannabis users) อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี
2) กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการช่วงวัยกลางคน (midlife recreation cannabis users) ใช้ 6-51 วันต่อปี
3) กลุ่มที่ไม่ใช้กัญชา (cannabis nonusers)
4) กลุ่มที่หยุดใช้กัญชาแล้ว (cannabis quitters)
5) กลุ่มที่ใช้บุหรี่แบบต่อเนื่อง (long-term tobacco users)
6) กลุ่มที่ใช้แอลกอฮอล์แบบต่อเนื่อง (long-term alcohol users)

พบว่า เมื่อเทียบค่าไอคิวที่อายุ 45 ปี กับค่าไอคิวในช่วงวัยเด็ก 7-11 ปี กลุ่มที่ใช้กัญชาแบบต่อเนื่อง มีค่าไอคิวเฉลี่ยลดลง 5.5 คะแนน ผลที่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และส่งผลให้การเรียนรู้ และความเร็วในการประมวลผลของสมองลดลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาในเรื่องความจำและสมาธิอีกด้วย

ยังพบอีกว่ากลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในช่วงวัยกลางคน มีค่าไอคิวเฉลี่ยลดลง 3.5 คะแนน และกลุ่มที่หยุดใช้กัญชาแล้ว มีค่าไอคิวเฉลี่ยลดลง 3.3 คะแนน ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้กัญชา มีค่าไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.70 คะแนน แต่ยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

cannabis & IQ decline

ตารางแสดง ค่าไอคิวที่เปลี่ยนแปลง ในกลุ่มที่ใช้กัญชาแบบต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับอีก 5 กลุ่ม ใน Dunedin cohort study
ที่มา: Meier et al., 2022

cannabis & IQ decline

 

เอกสารอ้างอิง

มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ. (2564). วัยรุ่นระวัง กัญชายิ่งใช้นาน IQ ยิ่งลด. [Online]. Available URL: https://cads.in.th/cads/content?id=297

Meier MH, Caspi A, Ambler A, Harrington H, Houts, R, Keefe RS & et. al. (2012). Persistent cannabis users show neuropsychological decline from childhood to midlife. Proceedings of the National Academy of Sciences, 109(40).

Meier MH, Caspi A, Knodt AR, Hall W, Ambler A, Harrington H, Hogan S, Houts RM, Poulton R. (2022). Long-term cannabis use and cognitive reserves and hippocampal volume in midlife. Am J Psychiatry, 179(5); 362–374.

National Institute on Drug Abuse. (2020). Cannabis (Marijuana) Research Report. [Online]. Available URL: https://nida.nih.gov/publications/research-reports/marijuana

Orr C, Spechler P, Cao Z, Albaugh M, Chaarani B, Mackey S & et. al. (2019). Grey matter volume differences associated with extremely low levels of Cannabis use in adolescence. The Journal of Neuroscience, 39(10); 1817–1827.

Power E, Sabherwal S, Healy C, O' Neill A, Cotter D, Cannon M. (2021). Intelligence quotient decline following frequent or dependent cannabis use in youth: a systematic review and meta-analysis of longitudinal studies. Psychol Med, 51(2); 194-200.

Rocchetti M, Crescini A, Borgwardt S, Caverzasi E, Politi P, Atakan Z, & Fusar-Poli P. (2013). Is cannabis neurotoxic for the healthy brain? A meta-analytical review of structural brain alterations in non-psychotic users. Psychiatry and Clinical Neurosciences, 67(7); 483–492.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). กัญชากับไอคิวที่ลดลง. จาก https://www.happyhomeclinic.com/mh22cannabis-iq.html

(บทความต้นฉบับ: กรกฎาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »