HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

development

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรเริ่มต้นจากเด็ก ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย
ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม และคุณธรรม
เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นอนาคตของชาติต่อไป

 

บทนำ

พัฒนาการเด็ก คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะและพฤติกรรมที่มีทิศทางและรูปแบบที่แน่นอน จากช่วงระยะเวลาหนึ่งไปสู่อีระยะหนึ่ง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ จนสู่วุฒิภาวะ ซึ่งก็คือ การบรรลุถึงขั้นการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของบุคคลในระยะใดระยะหนึ่ง และพร้อมที่จะทำกิจกรรมอย่างนั้น ทำให้เพิ่มความสามารถของบุคคล ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำหน้าที่ที่สลับซับซ้อนยุ่งยากได้ ตลอดจนเพิ่มทักษะใหม่และความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะใหม่ของบุคคลผู้นั้น

 

ลักษณะของพัฒนาการของเด็ก

พัฒนาการของเด็ก แบ่งได้หลายแบบ 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ

 

1. พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical Development)

เป็นความสามารถของร่างกายในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว โดยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Development) เช่น วิ่ง, กระโดด, ปีนป่าย และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มือและตาประสานกันในการทำกิจกรรมต่างๆ (Fine Motor - Adaptive Development) เช่น ระบายสี, ใช้ช้อน, ติดกระดุม

 

2. พัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development)

เป็นความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ กับตนเอง เป็นกระบวนการทางจิตใจ (mental processes) ที่เราใช้คิด เรียนรู้ หาเหตุผล แก้ไขปัญหา และสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย พัฒนาการด้านภาษา (Language Development) และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Development)

 

3. พัฒนาการด้านอารมณ์ (Emotional Development)

เป็นความสามารถในการแสดงความรู้สึก และควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสม ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ยิ้ม, ร้องไห้, หัวเราะ, กลัว, เศร้า, เสียใจ, โกรธ รวมถึงการสร้างความรู้สึกที่ดี การนับถือตนเอง (self esteem)

 

4. พัฒนาการด้านสังคม (Social Development)

เป็นความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น (personal-social) สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน (self help, self care) และรู้จักผิดชอบชั่วดี ประกอบด้วย พัฒนาการด้านสังคม (Social Development) และพัฒนาการด้านคุณธรรม (Moral Development)

 

การประเมินพัฒนาการเด็ก

ในการกำหนดบรรทัดฐานว่า เด็กมีการพัฒนาด้านไหนเป็นอย่างไรในแต่ละช่วงวัยนั้น นำมาจากผลการศึกษาโดยใช้เกณฑ์จากคนหมู่มาก โดยมีแบบวัดที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยมากมาย แต่ที่ได้รับความนิยมมากในระดับนานาชาติ คือ แบบทดสอบเดนเวอร์ (Denver Developmental Screening Test) เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการแปลผลมาก สามารถทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์ และแปลผลพัฒนาการในทุกๆ ด้านได้ครบถ้วน

สำหรับประเทศไทย การประเมินพัฒนาการเด็ก สามารถทำตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual: DSPM) ซึ่งนำมาจากผลการศึกษาพัฒนาการเด็กโดยใช้เกณฑ์เด็กไทย

DSPM

 

ตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย DSPM จะประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี 11 เดือน 29 วัน ใน 5 ด้าน คือ
· Gross motor (GM) หมายถึง พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
· Fine Motor (FM) หมายถึง พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา
· Receptive Language (RL) หมายถึง พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา
· Expressive Language (EL) หมายถึง พัฒนาการด้านการใช้ภาษา
· Personal and Social (PS) หมายถึง พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม

แฮปปีัโฮม คลินิก

 

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ มีความสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะหรือความสามารถในด้านต่างๆ ดีขึ้น เป็นไปตามช่วงวัย มีความพร้อม และมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดี มีโอกาสสำเร็จการศึกษามากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ สามารถปรับตัวและช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเติบโตขึ้น

เด็กปกติทั่วไปจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการใกล้เคียงกัน ถ้าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าเกิน 6 เดือนขึ้นไป ถือว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่ต้องรีบช่วยเหลือ และกระตุ้นพัฒนาการอย่างเร็วที่สุด

 

ระบบการคัดกรองพัฒนาการเด็ก

กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เด็กไทยทุกคนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียม ได้รับการเฝ้าระวัง ติดตาม ส่งเสริม และกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก อาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ และบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ และมีการคัดกรองพัฒนาการเด็ก ตามช่วงอายุ 9, 18, 30, 42 และ 60 เดือน โดยบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่

ระบบการคัดกรองพัฒนาการเด็กในประเทศไทย ดังนี้

1) เฝ้าระวังพัฒนาการทุกครั้งเมื่อเด็กมารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี ที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีการสอบถามและรับฟังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็ก ถึงความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กว่ามีหรือไม่ มีการซักประวัติพัฒนาการและสังเกตพฤติกรรมเด็กระหว่างรับบริการ ประเมินปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยส่งเสริม เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพัฒนาการ

2) คัดกรองพัฒนาการเด็กทุกราย เมื่อเด็กอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน 42 เดือน และ 60 เดือน ถ้าพบความเสี่ยงพัฒนาการล่าช้า จะมีการให้คำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการ และส่งต่อตามระบบสาธารณสุขเมื่อประเมินซ้ำใน 1 เดือน แล้วยังพบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าอยู่

การคัดกรองพัฒนาการในช่วงอายุ 2 ขวบปีแรก คือ ช่วงอายุ 9 เดือน และ 18 เดือน สามารถดำเนินการในคลินิกสุขภาพเด็กดี ที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ส่วนในช่วงอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป คือ ช่วงอายุ 30 เดือน 42 เดือน และ 60 เดือน สามารถดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข. (2560). คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual: DSPM). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2559). หน่วยที่ 3 การคัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ. ใน: เอกสารการสอนชุดวิชา การดูแลเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ 21010 (10203010) สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 1-7. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี; หน้า 3-(1-51).

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การคัดกรองสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

อัมพร เบญจพลพิทักษ์, สมัย ศิริทองถาวร และนพวรรณ ศรีวงค์พานิช. (2558). คู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ (Thai Early Developmental Assessment for Intervention: TEDA4I). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Anderson, L. M., Shinn, C., Fullilove, M. T., Scrimshaw, S. C., Fielding, J. E., Normand, J., Carande-Kulis, V. G., et al. (2003). The effectiveness of early childhood development programs: a systematic review. Am J Prev Med. 24(3S): 32-46.

Peters Z. (2008). Early childhood screening: what's it all about?. from http://www.education.com

World Health Organization. (2012). Early childhood development and disability: a discussion paper. from http://www.who.int

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). พัฒนาการเด็ก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/sp02-development.htm

(บทความต้นฉบับ: เมษายน 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »