HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Separation Anxiety Disorder

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder; SAD) เป็นความวิตกกังวลต่อการแยกจากผู้ปกครอง หรือเมื่อไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เด็กกลัวการถูกทอดทิ้ง เด็กมักมีอาการวิตกกังวลรุนแรงเมื่อแยกจากผู้ปกครอง รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวเมื่อคนที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้ ตื่นตระหนก ร้องไห้งอแง ร้องอาละวาด ไม่ยอมไปโรงเรียน

ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety) ถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติตามพัฒนาการในช่วงวัยทารก และวัยเตาะแตะ เมื่อเด็กต้องออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือแยกจากบุคคลอันเป็นที่รัก ไปพบกับสิ่งแวดล้อมใหม่และบุคคลแปลกหน้า

ช่วงทารกอายุ 6-8 เดือน เด็กสามารถรับรู้ว่าเด็กนั้นแยกออกจากแม่หรือผู้ดูแล สามารถจดจำใบหน้าแม่หรือผู้ดูแลได้ และแยกคนแปลกหน้าได้ จึงเริ่มเกิดความวิตกกังวลต่อการแยกจาก มักจะแสดงปฏิกิริยาในทางไม่ดีเมื่อผู้ดูแลจากไป ถือว่าเป็นปฏิกิริยาด้านบวกที่ช่วยป้องกันอันตรายเด็กจากคนแปลกหน้า

เด็กมักจะคลายความวิตกกังวลลงหลังจากอายุ 3 ปี ตามพัฒนาการด้านความคิดและด้านอารมณ์ของเด็ก หากความวิตกกังวลต่อการแยกจากยังมีอาการรุนแรงหรือยืดเยื้อ จนรบกวนการเรียน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ถือว่าเป็น “โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก”

โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น พบร้อยละ 4 และพบว่าเริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน ในช่วงวัยเด็กมักจะอาการรุนแรง แม้จากกันเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ทำให้มีอาการตื่นตระหนกได้มาก ถ้าพบในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน มักทำให้เกิดปัญหามาก เมื่อต้องออกจากบ้าน ไปเรียน หรือไปทำงาน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

โรควิตกกังวลต่อการแยกจากเป็นเกตเวย์หรือประตูที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพกายต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะพบได้บ่อย แต่ก็ได้รับการวินิจฉัยและรักษาค่อนข้างน้อย ดังนั้น เมื่อสงสัยว่าเป็นโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ช่วยบรรเทาอาการ และป้องกันผลกระทบรุนแรงที่ตามมา

 

ลักษณะอาการ

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคตาม คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุด DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน กำหนดให้ โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก มีอาการกลัวหรือวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับการแยกจากบุคคลอันเป็นที่รัก โดยไม่เหมาะสมตามระดับอายุพัฒนาการ มีอาการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้

1) ทุกข์ใจซ้ำ ๆ คิดวนเวียนว่าตนเองจะต้องแยกจากไปอยู่ที่อื่น หรือแยกจากคนที่รัก
2) กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะสูญเสียคนที่รักไป เช่น เจ็บป่วย บาดเจ็บ ภัยพิบัติ ตาย
3) กังวลอยู่เสมอว่าจะมีสิ่งเลวร้ายกับตนเองทำให้ต้องพลัดพราก เช่น หลงทาง ถูกลักพาตัว อุบัติเหตุ เจ็บป่วย
4) ปฏิเสธที่จะออกจากบ้าน ไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือไปที่อื่น ๆ เพราะกลัวการพลัดพราก
5) ไม่อยากอยู่บ้านคนเดียว หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีคนที่รักอยู่ด้วย
6) ไม่ยอมนอนค้างคืนที่อื่นโดยไม่มีคนที่รักอยู่ใกล้
7) ฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับการพลัดพราก
8) ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่นทางร่างกายบ่อยครั้ง เมื่อคาดว่าจะต้องแยกจากคนที่รัก

การวินิจฉัยในเด็กและวัยรุ่น อาการกลัวหรือวิตกกังวลดังกล่าวจะต้องคงอยู่นานกว่า 4 สัปดาห์ ส่วนในผู้ใหญ่ อาการ จะต้องคงอยู่นานกว่า 6 เดือน โดยทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

และอาการข้างต้นไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ เช่น ไม่ยอมออกจากบ้านจากการยึดติดรูปแบบเดิม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในออทิสติก (autistic spectrum disorder) ความวิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder) การกลัวที่ชุมชน (agoraphobia) หวาดระแวงหรือหลอนจากโรคจิต (psychotic disorder)

ในเด็กเล็ก เด็กอาจบอกว่าเห็นเงาหรือสัตว์ประหลาดเมื่ออยู่คนเดียว ทำให้ไม่กล้าอยู่ตามลำพัง และมักจะตามติดพ่อแม่ไปทุกที่ จะต้องมองเห็นตลอดเวลา

โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก มักสัมพันธ์กับโรคแพนิค (panic disorder) หรืออาการตื่นตระหนก (panic attack) โดยรู้สึกวิตกกังวล และหวาดกลัวอย่างฉับพลัน เกิดขึ้นซ้ำ ๆ

 

สาเหตุ

โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดยตรง แต่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และมักถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องแยกจากบุคคลอันเป็นที่รัก ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่

1) เหตุการณ์ความเครียดที่ทำให้ต้องแยกจาก พลัดพราก สูญเสีย เช่น บุคคลอันเป็นที่รักเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต สูญเสียสัตว์เลี้ยง การหย่าร้างของพ่อแม่ การเข้าโรงเรียนหรือย้ายโรงเรียน การย้ายบ้าน
2) พื้นอารมณ์ (temperament) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลมากกว่าคนอื่น
3) ประวัติครอบครัว ที่มีโรควิตกกังวล โดยเฉพาะโรคแพนิค
4) ความขัดแย้งในผู้ปกครอง
5) ผู้ปกครองที่ดื่มแอลกอฮอล์ แม่ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
6) ครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวบุญธรรม
7) รูปแบบการเลี้ยงดูที่กีดกั้นการพัฒนาความเป็นอิสระ (discourage autonomy)
8) สิ่งแวดล้อม เช่น ประสบภัยพิบัติที่ทำให้พลัดพรากจากกัน

 

การบำบัดรักษา

หลังจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก แนวทางการบำบัดรักษา ประกอบด้วย

1) การให้ความรู้สำหรับผู้ปกครอง (psycho-education) ในการดูแลอย่างเหมาะสม บ่อยครั้งที่พ่อแม่จะไปเสริมความวิตกกังวลของเด็กเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
2) การให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลตนเองให้กับเด็ก เช่น ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย
3) การปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy; CBT)
4) การทำจิตบำบัดรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบำบัดผ่านการเล่นในเด็ก (play therapy) จิตบำบัดแบบสัมพันธภาพ (interpersonal psychotherapy) จิตบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy) จิตบำบัดเชิงลึก (insight-oriented psychotherapy) รวมถึงครอบครัวบำบัด (family therapy)
5) การรักษาด้วยยา (pharmacotherapy) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลดีในการลดความวิตกกังวล

การบำบัดรักษาโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของเด็กแต่ละคน บางคนมีอาการไม่มาก ก็สามารถดีขึ้นได้จากการดูแลที่เหมาะสม แต่บางคนมีอาการมาก จำเป็นต้องปรับความคิดและพฤติกรรม หรือใช้ยารักษา หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

American Psychiatric Association, Anxiety Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 189-233.

Feriante, J. & Bernstein, B. (2022). Separation anxiety. จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560793/

Taylor, J. H., Lebowitz, E. R. & Silverman, W. K. (2018). Anxiety disorders. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer, pp. 1419-1445.

World Health Organization. (1993). The ICD-10 classification of mental and behavioural disorders: diagnostic criteria for research. [Electronic version]. Geneva, WHO.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/sp12-separation-anxiety.html

(บทความต้นฉบับ: ตุลาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »