HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

selective mutism

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

บทนำ

ไม่พูดในบางสถานการณ์ (Selective Mutism) คือการที่ไม่ยอมพูดในสถานการณ์บางอย่าง ทั้งที่สามารถพูดได้ปกติในสถานการณ์อื่น แต่ถึงแม้ว่าจะไม่พูด ก็มักจะมีการสื่อสารโดยวิธีอื่น เช่น ภาษาท่าทาง วาดรูป พยักหน้า ส่ายหัว

 

ลักษณะอาการ

ลักษณะอาการที่พบส่วนใหญ่คือ ไม่ยอมพูดเลยที่โรงเรียน หรือไม่ยอมพูดเมื่ออยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ คนที่ไม่คุ้นเคย แต่พออยู่ที่บ้านสามารถพูดกับพี่น้อง และพ่อแม่ได้ปกติ พบว่าเด็กมักมีลักษณะขี้อาย กลัวทำเรื่องน่าอายต่อหน้าคนอื่น มีพฤติกรรมเก็บกด (Behavioral Inhibition) อาจมีความบกพร่องในการสื่อสารอื่นๆร่วมด้วย เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด ปัญหาการเข้าใจภาษา

 

ระบาดวิทยา

พบค่อนข้างน้อย (น้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้มารับบริการคลินิกสุขภาพจิต) พบในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย และพบว่าส่วนใหญ่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรือสูงกว่า มักเริ่มมีอาการในช่วงที่เข้าโรงเรียน พบบ่อยช่วงอายุ 3-8 ปี และถ้าอายุ 12 ปีขึ้นไป แล้วยังมีอาการอยู่เหมือนเดิม มักมีการพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีนัก

 

สาเหตุ

มีความเชื่อใน 2 แนวทาง คือ มองว่าเป็นปัญหาความล่าช้าของพัฒนาการ หรือเป็นปัญหาด้านจิตใจ ในเรื่องของความวิตกกังวล ซึ่งมีลักษณะคล้ายอาการกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ในผู้ใหญ่

ปัจจัยทางด้านร่างกาย และระบบประสาท จากผลการศึกษาพบว่า มีปัญหาพัฒนาการร่วมด้วย และตรวจพบมีคลื่นไฟฟ้าสมองแบบที่ยังไม่พัฒนาตามวัย (Electroencephalogram Immaturity)

ส่วนปัจจัยทางด้านจิตสังคม มีความเกี่ยวข้องด้วย เช่น พบว่ามีปัญหาทางจิตเวชในครอบครัวสูงขึ้น, มีพลวัตครอบครัวที่ผิดปกติ, ครอบครัวแตกแยก, ต้องแยกจากครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมเดิม, ถูกทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะการบาดเจ็บบริเวณปาก

 

การดูแลรักษา

ขั้นตอนแรก คือต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กให้ได้ก่อน ให้ความสนิทสนมเพื่อให้เด็กผ่อนคลายความตึงเครียด สร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ไม่บังคับเด็กให้พูด หรือไปเพ่งเล็งกับการพูด จากนั้นก็ใช้วิธีพูดรวมเป็นกลุ่ม เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกเพ่งเล็ง เช่น ให้ตอบพร้อมกัน ให้ร้องเพลงหมู่ ต่อไปเริ่มฝึกการเคลื่อนไหวของปาก เช่น เป่าปาก เคี้ยวขนม และใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการให้แรงเสริมทางบวก (Positive Reinforcement) ทันทีที่เริ่มส่งเสียง เริ่มกระซิบ หรือแม้เพียงแค่เริ่มขยับปากก็พอ

มีรายงานการใช้ยาที่ได้ผล คือ Fluoxetine พบว่า มีการพูดดีขึ้น เมื่อให้ยารักษานาน 12 สัปดาห์ แต่เมื่อหยุดยา เด็กมักกลับมีอาการอีก ดังนั้นควรให้ยาในระยะเวลาที่นานพอ และให้การรักษาอื่นร่วมด้วย

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ไม่พูดในบางสถานการณ์. จาก https://www.happyhomeclinic.com/sp06-mutism.htm

(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2560)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »